xs
xsm
sm
md
lg

“บัญญัติ”ต้านแก้ รธน.เตือนนักการเมืองฟังเสียงคนข้างนอกด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“บัญญัติ”ย้ำจุดยืนส่วนตัว ค้านแก้ไข รธน.50 ระบุไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นต้องรีบแก้ไข ส่วน ม.237,190 ที่กระสันต์จะแก้ ล้วนมีเหตุผลที่มาที่ไป เชื่อหากถามประชาชน ส่วนใหญ่ไม่อยากแก้ตอนนี้ เตือนนักการเมืองอย่าสมานฉันท์เพื่อพวกเดียวกันเอง ต้องฟังเสียงข้างนอกด้วย



รายการ"คนในข่าว" ออกอากาศทางเอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน เวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 30 เม.ย.52 นายเติมศักดิ์ จารุปราน ดำเนินรายการ ได้รับเกียรติจาก นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค ในฐานะสมาชิกสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นต่อการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นมา ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะรับฟังความเห็นจากฝ่ายที่บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้มีปัญหาอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม นายบัญญัติได้แสดงจุดยืนว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ใช้อยู่ปัจจุบันไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เลวร้าย ที่จะต้องเร่งรีบแก้ไข แม้จะมีบางฝ่ายอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร แต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ และคนร่างส่วนใหญ่ก็เป็นนักวิชาการซึ่งถือว่าเป็นคนมีความรู้และไม่มีส่วนได้เสีย และเชื่อว่า หากมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจริงๆ เชื่อว่า ส่วนใหญ่ยังไม่ต้องการให้แก้ไขในขณะนี้

นายบัญญัติ ยังมองว่า รัฐธรรมนูญ 2550 หลายมาตราที่มีการผลักดันให้แก้ไขอยู่ในขณะนี้ ก็ยังไม่จำเป็นต้องแก้ไข เช่น มาตรา 237 ที่มองว่ามีมาตรการที่จัดการกับนักการเมืองที่รุนแรงเกินไป หรือมาตรา 190 ที่กำหนดให้การทำสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดน กฎหมาย หรืองบประมาณ ต้องผ่านความเห็นของสภาก่อนนั้น ล้วนแต่เป็นมาตราที่มาที่ไป ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็เขียนขึ้นมา อย่างมาตรา 237 ก็เขียนขึ้นก็เพื่อจะปรามนักการเมืองไม่ให้ทุจริตการเลือกตั้ง ส่วนมาตรา 190 ก็มีที่มาจากยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ นั่นเอง ที่ไปทำสัญญาเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมและมีการเอประโยชน์ให้กับธุรกิจของตัวเองและพวกพ้อง

นายบัญญัติ ยังได้เตือนไปยังนักการเมืองว่า การสมานฉันท์กันระหว่างนักการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่สมานฉันท์เพื่อนักการเมืองด้วยกันเอง โดยไม่สนใจคนข้างนอก ไม่เช่นนั้นก็จะถูกครหาว่าทำเพื่อนักการเมืองด้วยกันเอง และอย่าลืมว่าความขัดแย้งนั้นไม่ได้มีแต่อยู่ในวงนักการเมือง แต่อยู่ข้างนอกด้วย เพราะฉะนั้นการจะแก้ไขมาตราใด ต้องฟังเสียงคนข้างนอกก่อน ทั้งนี้ ยืนยันว่า สถานการณ์ขณะนี้ แม้ว่าคะแนนนิยมของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะดีขึ้นมาก และพรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบพรรคอื่น แต่จะไม่ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ให้พรรคตัวเองได้ ส.ส.เพิ่มเป็นอันขาด เพราะเท่ากับว่าเห็นแก่พรรคเกินไป จนยอมทิ้งปัญหาประเทศชาติเอาไว้ข้างหลัง หากจะมีการยุบสภาจริงๆ ก็คงใช้เวลาอย่างน้อยปีกว่าๆ หลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น