xs
xsm
sm
md
lg

ดับเชื้อไฟวิกฤติรอบใหม่ หยุด...ชำเรารัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประกาศก้องออกมาแล้วจาก ผู้จัดการรัฐบาล สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ย้ำหนักแน่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะดำเนินการหลัง 5 พฤษภาคม 2552 นั่นย่อมหมายความว่า โอกาสที่รัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ จะ “กลับหลังหัน” การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในตอนนี้ คงยากเสียแล้ว
แม้จะมีเสียงท้วงติงจากหลายฝ่ายให้นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชะลอการตัดสินใจเรื่องนี้ไปก่อน แล้วเอาเวลาไปมุ่งมั่นแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติให้โงหัว- ฟื้นตัวเสียก่อน แล้วค่อยมาคุยเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองของคนสองขั้ว คือ
“หนุน-ต้าน”
ทว่าแกนนำรัฐบาล โดยเฉพาะ อภิสิทธิ์-สุเทพ อาจคิดแตกต่าง แม้ก่อนหน้านี้ก็เคยคิดเช่นนี้ ว่าต้องเอาเรื่องเศรษฐกิจก่อน การเมืองไว้ข้างหลัง เพราะปัจจัยที่จะทำให้รัฐบาลอายุสั้น หรือยาว อยู่ที่ปัญหาเศรษฐกิจ
แต่เมื่ออภิสิทธิ์ เห็นแล้วว่าเกือบ 4 เดือนที่ผ่านพ้นไป รัฐบาลเทน้ำหนักไปที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการออกมาตรการสารพัด โดยเฉพาะการกู้เงินต่างประเทศนับแสนล้านบาท เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ แต่พอเจอวิกฤตการเมืองช่วงสงกรานต์ จากฝีมือแดงเถื่อน ออกมาป่วนประเทศแค่ไม่กี่วัน สิ่งที่รัฐบาลทำไว้ 4 เดือนก็พังทลายลงในพริบตา
จนทำให้อภิสิทธิ์เกือบทั้งต้องลาออกจากตำแหน่ง รวมถึงเกือบถูก “ทหารชิงตัว” เพื่อทำปฏิวัติเงียบมาแล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็น “จุดเปลี่ยนความคิด” ที่สำคัญซึ่งทำให้ อภิสิทธิ์-สุเทพ กำลังเปลี่ยนนโยบายการบริหารประเทศเสียใหม่ ด้วยการ
“เอาการเมืองนำหน้า เศรษฐกิจตามหลัง”
เพราะความเชื่อที่ว่า หากการเมืองนิ่ง สถานการณ์ประเทศเงียบสงบ เมื่อนั้นเศรษฐกิจจะฟื้นกลับคืนมาได้เอง
จึงทำให้ อภิสิทธิ์-สุเทพ ดูจะไม่ไหวเอนต่อเสียงทักท้วงให้พับความคิดเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ-นิรโทษกรรมการเมืองไว้ก่อน
วิธีคิดเช่นนี้อาจถูกก็ได้ หากสิ่งที่ อภิสิทธิ์-สุเทพ คิดไว้เป็นจริง เพียงแต่ว่า มองในมุมหนึ่ง มันก็คือการคิดบนพื้นฐาน
“รักษาฐานอำนาจตัวเองไว้ ให้ยาวนานที่สุด”
ด้วยหลักคิดบริหารอำนาจการเมืองเป็นตัวตั้ง และเอาปัญหาเร่งด่วนของชาติ คือวิกฤตเศรษฐกิจที่หลายคนก็เห็นว่าสำคัญกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนับร้อยเท่า เป็นตัวรอง
โดยการแบ่งสรรประโยชน์ทางการเมืองให้กับนักการเมืองทุกกลุ่ม และทุกพรรคที่จะได้รับประโยชน์อิ่มเอม แม้แต่ทักษิณ ชินวัตร หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ-นิรโทษกรรมการเมืองเกิดผลสำเร็จ เพื่อไม่ให้ออกมาสร้างความวุ่นวายทางการเมือง จนทำให้เก้าอี้นายกฯ ของอภิสิทธิ์ ง่อนแง่น เหมือนก่อนหน้านี้
จึงมิแปลกที่เสียงคัดค้านจะดึงอื้ออึง แม้ทั้ง อภิสิทธิ์-สุเทพ รวมถึงคนในประชาธิปัตย์บางคน เช่นชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล ก็ดูจะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างออกหน้าออกตา
ถามว่าเหตุผล ของเสียงเตือนในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ น่ารับฟังหรือไม่ คำตอบที่ได้คือ มีน้ำหนัก และต้องหยุดคิด
ถามต่อไปอีกว่า ถ้าแกนนำรัฐบาล ปิดหูไม่รับฟัง และต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ โดยอาจต้องยอมรับเงื่อนไขบางเรื่อง เช่น การนิรโทษกรรมการเมือง เพื่อทำให้ทุกกลุ่มการเมืองพอใจ จะเกิดอะไรขึ้น
คำตอบสังคมจะส่งเสียงดังๆก็คือ ทำไปเถอะ ถ้าคิดจะลองดีกับพลังประชาธิปไตยของประชาชน ที่รู้เท่าทันนักการเมืองเจ้าเล่ห์เพทุบาย และจะได้เห็นพลังการต่อสู้ของประชาชน ที่พร้อมจะออกมาต่อต้าน และ ยืนหยัดในเจตนารมณ์ของการต่อสู้เพื่อ
การเมืองใหม่
เมื่อนั้น รัฐบาลอาจคิดว่า รู้แบบนี้ก็สายเสียแล้ว !
ถามว่า เสียงวิเคราะห์ของ”บัญญัติ บรรทัดฐาน” ประธานคณะกรรมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่น่ารับฟังหรืออย่างไร กับคำท้วงติง เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ-นิรโทษกรรม ว่า อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง และแม้จะทำให้ในสภาฯสมานฉันท์ได้ แต่ข้างนอกสภาฯ อาจไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้
รวมถึงการพยากรณ์การเมือง หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากอดีตผู้เคยฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งมาแล้วอย่าง พลเอกสนธิ บุญรัตนกลิน อดีตประธานคมช. และอดีตผบ.ทบ. ที่วิเคราะห์ว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจจะทำให้อายุของรัฐบาลสั้นลง
การคาดการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้น ก็เพราะบัดนี้ สังคมแลเห็นแล้วว่า เบื้องลึก-เบื้องหลัง ที่แต่ละพรรคการเมือง นักการเมือง แต่ละกลุ่ม กระเหี้ยนกระหือรือจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ ถามว่าประชาชนได้ประโยชน์ตรงไหน ส่วนรวมได้อะไร เพราะก็เห็นๆ กันอยู่ ว่าทุกพรรคการเมืองรวมถึงแม้แต่ ส.ว. ต่างแก้ผ้าล่อนจ้อนว่าทำทุกอย่าง
“เพื่อตัวกู ของกูทั้งสิ้น”
เช่น การตัดมาตรา 309 ที่เป็นข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย-พรรคประชาราช ก็คือการโละทิ้งบทเฉพาะกาล ที่รับรองทุกสิ่งที่เกิดขึ้นหลัง 19 ก.ย.49 อันมีการตีความจากนักกฎหมายหลายสำนักว่า จะทำให้การสอบสวนคดีของ คตส. ที่นำไปสู่การเอาผิด ทักษิณ ชินวัตร ในคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ ที่ศาลฏีกาตัดสินจำคุก 2 ปี เป็นโมฆะไปด้วย
หรือความพยายามที่จะให้มีการโละทิ้ง มาตรา 237 ในเรื่องการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค เป็นเวลา 5 ปี รวมทั้งพ่วงการนิรโทษกรรมการเมืองอดีตกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์การเมืองไปก่อนหน้านี้ ทั้งไทยรักไทย-พลังประชาชน-ชาติไทย-มัชฌิมาธิปไตย
ที่แม้ประชาธิปัตย์จะสงวนท่าทีแต่ลึกๆ ก็เชื่อว่าประชาธิปัตย์ ก็หนุนเรื่องนี้เต็มที่ ยิ่งตอนนี้ประชาธิปัตย์ต้องเตรียมต่อสู้คดียุบพรรค ในเรื่องเงินบริจาค ทีพีไอ 258 ล้านบาท ซึ่ง กกต.ตั้งแท่นสอบสวนเอาผิดอยู่ และหลายคนก็เสียวแทนประชาธิปัตย์ และอภิสิทธิ์ กับสุเทพ ไม่น้อย หากว่าสุดท้ายคดีต้องไปลุ้นกันที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ที่อาจพลิกออกได้ทั้งหัว และก้อย
เหตุเพราะเวลานี้ ต้องยอมรับว่าความจริงว่า แม้สังคมส่วนหนึ่งจะหนุนให้แก้รัฐธรรมนูญ เพราะคิดว่านี่เป็นทางออกสุดท้าย ของการทำให้ทุกอย่างกลับเป็นปกติ ไม่มีการเมืองแบบแบ่งสี แบ่งค่าย แต่แรงหนุนส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะประชาชนอยู่ในสภาพมองไม่เห็นทางออก และรู้สึกตีบตัน จึงอาจฝากความหวังในเรื่องนี้เอาไว้ค่อนข้างสูง
และผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่หนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เกิดขึ้นโดยที่ยังไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่าง ไม่รู้ว่าจะมีการแก้มาตราไหน จะมีการนิรโทษกรรมนักการเมืองในลักษณะไหน และตัวกรรมการ จะมีความน่าเชื่อถือหรือไม่
ไม่แน่เช่นกัน ที่หากมีการสำรวจความเห็นประชาชนกันอีกรอบ เสียงหนุนอาจลดลงก็ได้ เพราะสังคมเริ่มเห็นความไม่ชอบมาพากล และธาตุแท้ของพวกนักการเมืองที่คิดจะแก้รัฐธรรมนูญกันแล้วว่า สุดท้ายอาจไม่ได้ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่อาจยิ่งทำให้ความขัดแย้ง ก่อตัวขึ้นมาอีกรอบ
ภายใต้เงื่อนไขใหม่ คือ ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เอาแค่การตั้งกรรมการก็เห็นแล้วว่า ทุกพรรคการเมืองต่างไม่ได้มีความจริงใจกับประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของคนภายนอกในการเข้าร่วมเป็นกรรมการชุดนี้ เห็นได้จากสัดส่วนกรรมการที่แบ่งเป็น 40 คน โดยเป็นนักการเมือง 30 คน และบุคคลภายนอก 10 คน เทียบเป็นสัดส่วน 3 ต่อ 1
ทว่าเมื่อไปดูรายชื่อกรรมการภายนอก ก็จะพบว่า คนที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอชื่อมาก็ล้วนแต่เป็นคนของแต่ละพรรคการเมืองที่ทำงานให้กับพรรค ทั้งแบบเปิดเผย และไม่เปิดเผยทั้งสิ้น รวมถึงมีความสัมพันธ์อันดีกับแกนนำพรรค ที่ส่งรายชื่อมาร่วมเป็นกรรมการ
กรรมการชุดนี้ทั้ง 40 คน จึงเป็นคนของพรรคการเมือง-นักการเมืองทั้งสิ้น มันก็คือการปิดประตู “ชำเรารัฐธรรมนูญ” ของพวกนักเลือกตั้งกันดีๆ นี่เอง
แค่เริ่มต้น ก็เห็นถึงเจตนาอันไม่บริสุทธิ์เสียแล้ว แบบนี้ขืนเดินหน้าต่อไป จะเอากันให้ได้ ก็ระวังให้ดีแล้วกัน
วิกฤติศรัทธาต่อนักการเมืองรอบใหม่ กำลังก่อตัวขึ้นแล้วในแต่ละภาคส่วนของสังคม เหลือเพียงก็แค่จังหวะและเวลาเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น