xs
xsm
sm
md
lg

ดับเชื้อไฟวิกฤติรอบใหม่ หยุด...ชำเรารัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ประกาศก้องออกมาแล้วจากผู้จัดการรัฐบาล สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ย้ำหนักแน่น

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะดำเนินการหลัง 5 พฤษภาคม 2552

นั่นย่อมหมายความว่า โอกาสที่รัฐบาลโดยเฉพาะ พรรคประชาธิปัตย์ จะ “กลับหันหลัง”การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในตอนนี้ คงยากเสียแล้ว

แม้จะมีเสียงท้วงติงจากหลายฝ่ายให้นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชะลอการตัดสินใจเรื่องนี้ไปก่อน แล้วเอาเวลาไปมุ่งมั่นแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติให้โงหัว-ฟื้นตัวเสียก่อน แล้วค่อยมาคุยเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองของคนสองขั้ว คือ

“หนุน-ต้าน”

ทว่าแกนนำรัฐบาล โดยเฉพาะ อภิสิทธิ์-สุเทพ อาจคิดแตกต่างแม้ก่อนหน้านี้ก็เคยคิดเช่นนี้ ว่าต้องเอาเรื่องเศรษฐกิจก่อน การเมืองไว้ข้างหลัง เพราะปัจจัยที่จะทำให้รัฐบาลอายุสั้นหรือยาว อยู่ที่ปัญหาเศรษฐกิจ

แต่เมื่ออภิสิทธิ์เห็นแล้วว่าเกือบสี่เดือนที่ผ่านพ้นไป รัฐบาลเทน้ำหนักไปที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการออกมาตรการสารพัด โดยเฉพาะการกู้เงินต่างประเทศนับแสนล้านบาทเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ แต่พอเจอวิกฤตการเมืองช่วงสงกรานต์จากฝีมือแดงเถื่อนออกมาป่วนประเทศแค่ไม่กี่วัน สิ่งที่รัฐบาลทำไว้สี่เดือนก็พังทลายลงในพริบตา

จนทำให้อภิสิทธิ์เกือบทั้งต้องลาออกจากตำแหน่ง รวมถึงเกือบถูก “ทหารชิงตัว”เพื่อทำปฏิวัติเงียบมาแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็น “จุดเปลี่ยนความคิด”ที่ทำสำคัญซึ่งทำให้ อภิสิทธิ์-สุเทพ กำลังเปลี่ยนนโยบายการบริหารประเทศเสียใหม่ ด้วยการ

“เอาการเมืองนำหน้า เศรษฐกิจตามหลัง”

เพราะความเชื่อที่ว่าหากการเมืองนิ่ง สถานการณ์ประเทศเงียบสงบ เมื่อนั้นเศรษฐกิจจะฟื้นกลับคืนมาได้เอง

จึงทำให้ อภิสิทธิ์-สุเทพ ดูจะไม่ไหวเอนต่อเสียงทักท้วงให้พับความคิดเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ-นิรโทษกรรมการเมืองไว้ก่อน

วิธีคิดเช่นนี้อาจถูกก็ได้ หากสิ่งที่อภิสิทธิ์-สุเทพ คิดไว้เป็นจริง เพียงแต่ว่ามองในมุมหนึ่ง มันก็คือการคิดบนพื้นฐาน

“รักษาฐานอำนาจตัวเองไว้ ให้ยาวนานที่สุด”

ด้วยหลักคิดบริหารอำนาจการเมืองเป็นตัวตั้ง และเอาปัญหาเร่งด่วนของชาติคือวิกฤตเศรษฐกิจที่หลายคนก็เห็นว่าสำคัญกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนับร้อยเท่า เป็นตัวรอง

โดยการแบ่งสรรประโยชน์ทางการเมืองให้กับนักการเมืองทุกกลุ่ม และทุกพรรคที่จะได้รับประโยชน์อิ่มเอม แม้แต่ ทักษิณ ชินวัตร หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ-นิรโทษกรรมการเมืองเกิดผลสำเร็จ เพื่อไม่ให้ออกมาสร้างความวุ่นวายทางการเมือง จนทำให้เก้าอี้นายกฯของอภิสิทธิ์ง่อนแง่นเหมือนก่อนหน้านี้

จึงมิแปลกที่เสียงคัดค้านจะดึงอื้ออึง แม้ทั้ง อภิสิทธิ์-สุเทพ รวมถึงคนในประชาธิปัตย์บางคนเช่น ชินวรณ์ บุณญเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล ที่ก็ดูจะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างออกหน้าออกตา

ถามว่าเหตุผล ของเสียงเตือนในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ น่ารับฟังหรือไม่ คำตอบที่ได้คือ มีน้ำหนักและต้องหยุดคิด

ถามต่อไปอีกว่า ถ้าแกนนำรัฐบาล ปิดหูไม่รับฟัง และต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ โดยอาจต้องยอมรับเงื่อนไขบางเรื่องเช่น การนิรโทษกรรมการเมือง เพื่อทำให้ทุกกลุ่มการเมืองพอใจ จะเกิดอะไรขึ้น

คำตอบสังคมจะส่งเสียงดังๆ ก็คือ ทำไปเถอะ ถ้าคิดจะลองดีกับพลังประชาธิปไตยของประชาชน ที่รู้เท่าทันนักการเมืองเจ้าเล่ห์เพทุบาย และจะได้เห็นพลังการต่อสู้ของประชาชนที่พร้อมจะออกมาต่อต้าน และยืนหยัดในเจตนารมณ์ของการต่อสู้เพื่อ

การเมืองใหม่


เมื่อนั้น รัฐบาลอาจคิดว่า รู้แบบนี้ก็สายเสียแล้ว !

ถามว่าเสียงวิเคราะห์ของ”บัญญัติ บรรทัดฐาน”ประธานคณะกรรมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่น่ารับฟังหรืออย่างไร กับคำท้วงติงเรื่องการแก้ไข รธน.-นิรโทษกรรมว่า อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง และแม้จะทำให้ในสภาฯสมานฉันท์ได้ แต่ข้างนอกสภาฯอาจไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้

รวมถึงการพยากรณ์การเมืองหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากอดีตผู้เคยฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งมาแล้วอย่าง พลเอกสนธิ บุญรัตนกลิน อดีตประธาน คมช.-ผบ.ทบ. ที่วิเคราะห์ว่าหากมีการแก้ไข รธน.อาจจะทำให้อายุของรัฐบาลสั้นลง

การคาดการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้น ก็เพราะบัดนี้สังคมแลเห็นแล้วว่า เบื้องลึก-เบื้องหลังที่แต่ละพรรคการเมือง นักการเมืองแต่ละกลุ่ม กระเหี้ยนกระหือรือจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ ถามว่าประชาชนได้ประโยชน์ตรงไหน ส่วนรวมได้อะไร เพราะก็เห็นๆกันอยู่ ว่าทุกพรรคการเมืองรวมถึงแม้แต่ ส.ว.ต่างแก้ผ้าล่อนจ้อนว่าทำทุกอย่าง

“เพื่อตัวกู ของกูทั้งสิ้น”

เช่น การตัดมาตรา 309 ที่เป็นข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย-พรรคประชาราช ที่ก็คือการโละทิ้งบทเฉพาะกาลที่รับรองทุกสิ่งที่เกิดขึ้นหลัง 19 ก.ย.49 อันมีการตีความจากนักกฎหมายหลายสำนักว่าจะทำให้การสอบสวนคดีของคตส.ที่นำไปสู่การเอาผิดทักษิณ ชินวัตรในคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินรัชดาฯที่ศาลฏีกาตัดสินจำคุกสองปีเป็นโมฆะไปด้วย

หรือความพยายามที่จะให้มีการโละทิ้งมาตรา 237 ในเรื่องการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคเป็นเวลา 5 ปี รวมทั้งพ่วงการนิรโทษกรรมการเมืองอดีตกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์การเมืองไปก่อนหน้านี้ทั้งไทยรักไทย-พลังประชาชน-ชาติไทย-มัชฌิมาธิปไตย

ที่แม้ประชาธิปัตย์จะสงวนท่าทีแต่ลึกๆ ก็เชื่อว่าประชาธิปัตย์ก็หนุนเรื่องนี้เต็มที่ ยิ่งตอนนี้ประชาธิปัตย์ต้องเตรียมต่อสู้คดียุบพรรคในเรื่องเงินบริจาคทีพีไอ 258 ล้านบาท ซึ่ง กกต.ตั้งแท่นสอบสวนเอาผิดอยู่ และหลายคนก็เสียวแทนประชาธิปัตย์และอภิสิทธิ์กับสุเทพ ไม่น้อยหากว่าสุดท้ายคดีต้องไปลุ้นกันที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ที่อาจพลิกออกได้ทั้งหัวและก้อย

เหตุเพราะเวลานี้ ต้องยอมรับว่าความจริงว่าแม้สังคมส่วนหนึ่งจะหนุนให้แก้ รธน.เพราะคิดว่านี่เป็นทางออกสุดท้ายของการทำให้ทุกอย่างกลับเป็นปกติ ไม่มีการเมืองแบบแบ่งสีแบ่งค่าย แต่แรงหนุนส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะประชาชนอยู่ในสภาพมองไม่เห็นทางออกและรู้สึกตีบตัน จึงอาจฝากความหวังในเรื่องนี้เอาไว้ค่อนข้างสูง

และผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่หนุนการแก้ไข รธน.ก็เกิดขึ้นโดยที่ยังไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่าง ไม่รู้ว่าจะมีการแก้ไข รธน.มาตราไหน จะมีการนิรโทษกรรมนักการเมืองในลักษณะไหน และตัวกรรมการจะมีความน่าเชื่อถือหรือไม่

ไม่แน่เช่นกัน ที่หากมีการสำรวจความเห็นประชาชนกันอีกรอบ เสียงหนุนอาจลดลงก็ได้ เพราะสังคมเริ่มเห็นความไม่ชอบมาพากล และธาตุแท้ของพวกนักการเมืองที่คิดจะแก้ รธน.กันแล้วว่าสุดท้ายอาจไม่ได้ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่อาจยิ่งทำให้ความขัดแย้งก่อตัวขึ้นมาอีกรอบ

ภายใต้เงื่อนไขใหม่คือ ต่อต้านการแก้ไข รธน.

เอาแค่การตั้งกรรมการก็เห็นแล้วว่าทุกพรรคการเมืองต่างไม่ได้มีความจริงใจกับประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของคนภายนอกในการเข้าร่วมเป็นกรรมการชุดนี้ เห็นได้จากสัดส่วนกรรมการที่แบ่งเป็น 40 คน โดยเป็นนักการเมือง 30 คน และบุคคลภายนอก 10 คน เทียบเป็นสัดส่วน 3 ต่อ 1

ทว่าเมื่อไปดูรายชื่อกรรมการภายนอก ก็จะพบว่าคนที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอชื่อมาก็ล้วนแต่เป็นคนของแต่ละพรรคการเมืองที่ทำงานให้กับพรรค ทั้งแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผยทั้งสิ้น รวมถึงมีความสัมพันธ์อันดีกับแกนนำพรรคที่ส่งรายชื่อมาร่วมเป็นกรรมการ

กรรมการชุดนี้ทั้ง 40 คน จึงเป็นคนของพรรคการเมือง-นักการเมืองทั้งสิ้น มันก็คือการปิดประตู “ชำเรารัฐธรรมนูญ”ของพวกนักเลือกตั้งกันดีๆ นี่เอง

แค่เริ่มต้น ก็เห็นถึงเจตนาอันไม่บริสุทธิ์เสียแล้ว แบบนี้ขืนเดินหน้าต่อไป จะเอากันให้ได้ ก็ระวังให้ดีแล้วกัน

วิกฤติศรัทธาต่อนักการเมืองรอบใหม่ กำลังก่อตัวขึ้นแล้วในแต่ละภาคส่วนของสังคม เหลือเพียงก็แค่จังหวะและเวลาเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น