xs
xsm
sm
md
lg

“บัญญัติ” ห่วงนิรโทษกรรมเปราะบาง หวั่นถูกวิจารณ์ไม่เคารพกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บัญญัติ บรรทัดฐาน
“บัญญัติ” เผยห่วงกรรมการแก้ปัญหาชาติหนักฝ่ายการเมือง หวั่นครอบงำความเห็นโดยเฉพาะการนิรโทษกรรมชี้เป็นปัญหาเปราะบางอาจถูกวิจารณ์ว่าไม่เคารพกฎหมาย เอื้อนักการเมือง แนะต้องสมานฉันท์คนนอกสภาด้วย ไม่เช่นนั้นยิ่งเพิ่มวิกฤตชาติ ยันพรรคร่วมไม่บีบพรรคแก้ รธน.

วันนี้ (29 เม.ย.) นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ตนได้แสดงความเป็นห่วง ในการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า รู้สึกเป็นห่วงองค์ประกอบของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเกรงว่าจะกลายเป็นฝ่ายการเมืองไปหมด ซึ่งจะไม่ดี เพราะในการพิจารณาเรื่องรัฐธรรมนูญทุกครั้งจะมีการแสดงความเห็นว่านักการเมืองทำเองคงจะไม่เหมาะ และบางครั้งถึงขนาดไม่อยากให้นักการเมืองเกี่ยวข้องด้วยเลย ซึ่งก็ไม่ดี เพราะอย่างน้อย ควรมีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่บ้าง เพื่อสะท้อนปัญหา และแสดงความเห็นในทางปฏิบัติ แต่ก็ไม่ควรมีนักการเมืองเข้าไปมาก จนเข้าไปครอบงำการตัดสินของคณะกรรมการ นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า ตนคงจะเข้าไปเป็นกรรมการไม่ได้ เพราะในสมัยที่รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนก็ออกมาคัดค้าน ดังนั้น การจะให้ตนไปนั่งเป็นกรรมการตั้งป้อมคัดค้านจะทำให้บรรยากาศจะไม่ดี จึงไม่เหมาะที่ตนจะเข้าไป

นายบัญญัติ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้ตั้งข้อสังเกตหลายเรื่อง ที่สำคัญคือ เรื่องนิรโทษกรรม ซึ่งตนเห็นว่าเป็นประเด็นที่เปราะบาง จึงขอฝากกรรมการที่เข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการให้ระมัดระวังด้วย ซึ่งเราไม่ต้องการจะกีดกันใคร เพราะมีคนดีๆ เยอะ แต่ต้องยอมรับความจริงว่าคนข้างนอกเขาวิจารณ์กันมาก ว่าจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นการไม่เคารพกฎหมายหรือไม่ เพราะทุกคนรู้มาก่อนแล้วว่ามีกฎหมายห้ามเอาไว้แต่ก็ไปทำผิด แล้วจะมาแก้กฎหมายก็จะเป็นปัญหาได้ นอกจากนี้ คนอาจมองได้ว่าไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม เพราะศาลรัฐธรรมนูญซึ่งสูงกว่าศาลธรรมดาทั่วไปได้วินิจฉัยแล้ว จึงเกรงว่าจะมีปัญหาได้ และตนไม่ได้เป็นห่วงว่าถ้านิรโทษกรรมแล้วจะมีคนพวกนี้กลับมา พรรคประชาธิปัตย์จะมีปัญหา เราไม่ได้คิดถึงประโยชน์ของพรรค แต่ยอมรับว่า มี ส.ส.บางส่วนที่กังวลในหลายเรื่อง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

“ส่วนที่มีการเป็นห่วงว่าพรรคประชาธิปัตย์ คงเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญน้อยมาตรา ขอยืนยันว่าหลักใหญ่ใจความของเราคือ ถ้ามีการแก้ไข ควรจะเป็นการขอแก้ไขเฉพาะในบทมาตราที่กระทบต่อผลประโยชน์ของชาติ หรือกระทบต่อระบบ ถ้าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวนักการเมืองก็ควรเป็นเรื่องที่กระทบต่อระบบของนักการเมืองโดยรวม ไม่ใช่เป็นนักการเมืองโดยกลุ่ม” นายบัญญัติ กล่าว

นายบัญญัติ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องยุบพรรคการเมือง หากติดตามกันมาตั้งแต่ต้น จะเห็นว่าคณะกรรมการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นห่วงว่าหากแก้ไขเรื่องการซื้อเสียงไม่ได้ ก็จะแก้ปัญหาการทุจริตไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลแก้ปัญหาประชาธิปไตยไม่ได้ จึงคิดว่าถ้าจะแก้ปัญหานี้ได้ พรรคการเมืองต้องมีธรรมาภิบาล ต้องช่วยกันป้องกัน และต้องร่วมกันรับผิดชอบ ทำให้เกิดปัญหาว่ายาที่ออกมาแรงเกินไปหรือไม่ แต่หากเข้าใจสมมติฐานจะทำให้ยาอ่อนลง ก็ต้องช่วยคิดหามาตรการอื่น ที่จะป้องกันการซื้อสิทธิ์ขายเสียงไม่ให้มีการแพร่ขยาย ใช้เงินทองมากขึ้น ซึ่งจะนำสู่วัฐจักรคอร์รัปชั่น และวัฐจักรที่กลุ่มทุนเข้ามาใช้พรรคการเมืองเป็นเครือข่าย

นายบัญญัติ กล่าวอีกว่า แต่เมื่อสังคมแตกแยก มีคนพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีก็ทำถูกแล้วที่ต้องหยิบรัฐธรรมนูญขึ้นมาดูว่าเป็นปัญหาจริงหรือไม่ แต่คณะกรรมการก็ต้องเข้าใจว่าความขัดแย้งของสังคม ที่ต้องการความปรองดองไม่ได้มีอยู่เฉพาะในรัฐสภาเท่านั้น แต่ข้างนอกยิ่งใหญ่กว่า เพราะฉะนั้นการหารือเรื่องความสมานฉันท์เป็นเรื่องดี แต่อย่าให้การสมานฉันท์นี้ไปทำให้ข้างนอกมีความขัดแย้งมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย ดังนั้นจึงต้องไม่ให้คนข้างนอกมองว่าเรามานั่งสมานฉันท์กันเอง โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนข้างนอก หมายความว่า ถ้าในสภาสมานฉันท์กันได้ แต่ข้างนอกยังสมานฉันท์กันไม่ได้ ปัญหาจะไม่ยุติแล้วอาจจะกลายเป็นวิกฤตที่ใหญ่โตขึ้นไปอีก ดังนั้น จึงต้องระวังว่านักการเมืองแก้รัฐธรรมนูญ โดยนักการเมือง เพื่อประโยชน์ของนักการเมือง เป็นอันตรายแน่นอน

นายบัญญัติ กล่าวว่า แม้จะไม่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมเป็นกรรมการ แต่เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา พรรคประชาธิปัตย์ ก็จำเป็นต้องเสนอชื่อเข้าไปร่วมคณะกรรมการ แต่เมื่อทำงานแล้วจะต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา ตนอยากเสนอให้ 1.องค์ประกอบที่จะร่วมเป็นอนุกรรมการควรจะมีคนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมด้วย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของสังคมเข้ามาเป็นอนุกรรมการ ในการสร้างความเข้าใจในค่านิยมที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ช่วงเปลี่ยนผ่านนำสู่ความสงบเรียบร้อยขึ้นถ้าจะมีฝ่ายการเมืองเข้าร่วมด้วยก็ขอให้เป็นเสียงข้างน้อย เพื่อจะไม่ครอบงำทิศทางของอนุกรรมการ 2.เมื่อมีการพิจารณาเรื่องบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ควรจะดูในบทบัญญัติที่กระทบต่อประโยชน์ของชาติ ไม่ใช่เรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์ของนักการเมืองล้วนๆ เพราะจะเป็นอันตราย 3.หากมีการแก้รัฐธรรมนูญจริงๆ ขอให้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนจริงๆ 4.ต้องรับฟังความเห็นของประชาชน ไม่น้อยกว่า ตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีการรับฟังความเห็นอย่างทั่วถึง ถ้าไม่ทำอย่างนี้ แทนที่รัฐธรรมนูญจะสร้างความสมานฉันท์ อาจกลายเป็นสาเหตุของการเกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นผลที่ออกมาจะต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจได้ และเมื่อแก้รัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว โดยที่ทุกภาคส่วนเห็นด้วย หากบรรยากาศทางการเมืองไม่มีอะไรติดขัดก็ควรจะมีการยุบสภาแล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่

เมื่อถามว่ามีข่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ ถูกพรรคร่วมรัฐบาลบีบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ นายบัญญัติ กล่าวว่า คงไม่ แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่แต่ละคนจะมีการเสนอความเห็น ว่าจะแก้มาตราไหนอย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่ากรรมการทั้งหลายจะลงความเห็นคล้อยตามหมด เพราะจะทำให้สังคมข้างนอกคลางแคลงใจได้ ซึ่งการที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการ ไม่ได้หมายความว่าจะไปคล้อยตามเขาทุกเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ไปคัดค้านทุกเรื่อง

ต่อข้อถามว่า พรรคเพื่อไทยประกาศจะไม่ส่งคนเข้าร่วมเป็นกรรมการ นายบัญญัติ กล่าวว่า ตนฟังเสียงดูเห็นว่าเขาอ่อนลงแล้ว และในการประชุมวิป 3 ฝ่าย ฝ่ายค้านก็ส่งคนไปร่วมประชุมด้วย เมื่อถามว่า มีการเป็นห่วงว่ามีการเดินเกมใต้ดินจะทำให้ยิ่งเกิดปัญหา นายบัญญัติ กล่าวว่า ถือเป็นตัวแปรอีกอย่างหนึ่ง จึงอยากให้สังคมจับตามอง ถ้าทุกฝ่ายออกมาวิจารณ์ถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสม จะทำให้นักการเมืองกลัว ทั้งนี้ ยอมรับว่า ขณะนี้ข้าราชการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ดังนั้น รัฐบาลจึงควรรีบเร่งสร้างสมานฉันท์โดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น