xs
xsm
sm
md
lg

รพ.มหาราช งัดกลเม็ด “หัวเราะบำบัด” ดูแลสุขภาพจิตผู้ป่วยลดความเครียด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - รพ.มหาราช นครศรีธรรมราช งัดกลเม็ด “หัวเราะบำบัด” ดูแลสุขภาพจิตผู้ป่วยลดความเครียด ดร.วัลลภไอเดียเก๋ชู “สยามหัวเราะ”เล็งจัดวันหัวเราะโลกที่นครศรีธรรมราช เผยสมาชิกหัวเราะโลก 10 ประเทศติดใจ “ไฮไลต์สีผมเบื้องล่าง”


วันนี้ (11 มี.ค.) ที่ รพ.มหาราช อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อ 11 มี.ค.52 นายแพทย์สมชาย นิ้มวัฒนากุล ผอ.โรงพยาบาลมหาราช และกรรมการเครือข่ายการดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช โรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช ได้ร่วมกันจัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช โดยมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับการอบรม และมี ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา วิทยากรจากโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรเป็นวิทยาในการฝึกอบรมและบรรยาย

นางช่อกิ่ง แววศักดิ์ พยาบาลวิชาชีพ กรรมการจัดการอบรม “หัวเราะบำบัด” เปิดเผยว่าเครือข่ายการดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช โรงพยาบาลนครศรีธรรมราช ได้เห็นถึงความสำคัญของการหัวเราะ เนื่องจากปัจจุบันสังคมไทยกำลังประสบปัญหาจากความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆความขัดแย้งต่าง มีผลทำให้การดำเนินชีวิตของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่วนใหญ่มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจ หากบุคคลไม่สามารถปรับตัวและรู้จักจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดโรคภัยและปัญหาตามมาได้ การผ่อนคลายความตึงเครียดด้วยตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ และสามารถพาตัวเองผ่านภาวะวิกฤตต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การหัวเราะบำบัดเป็นการออกกำลังกายภายใน เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง สลัดความคั่งค้างที่ไม่พึงประสงค์ออกจากร่างกายเช่นอารมโกรธ เศร้า ผิดหวัง มีงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าการทำให้ฮอร์โมนความเครียดเช่นคอร์ติซอล อะดรีนาลีนลดลง และช่วยเพิ่มสารเอ็นโดรฟีน ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ทำให้เกิดผลดีต่อร่างกาย กลุ่มงานจิตเวช จึงเห็นควรนำวิธีหัวเราะบำบัด มาใช้ในการดูแลสุขภาพจิตของผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นางช่อกิ่งกล่าว

ขณะที่ นพ.สมชาย นิ้มวัฒนากุล ผอ.รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่าปัญหาในเรื่องของสุขภาพจิตปัจจุบันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของทุกคนมาก และต้องรับภาระต่อหลายปัญหาที่รุมเร้า โดยไม่มีแนวทางในการผ่อนคลายความตึงเครียดด้วยตัวเอง ทำให้เกิดผลกระทบด้านจิตใจและต่อเนื่องไปถึงด้านสังคมตามมา

“สิ่งที่สำคัญคือ ผู้ที่ประกอบวิชาชีพที่ปฏิบัติงานอยู่ท่ามกลางความกดดัน และเคร่งเครียดเช่นวิชาชีพทางการแพทย์ และอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าและมีความเครียดสูง จึงมีความจำเป็นต้องหาวิธีผ่อนคลายให้กับตนเอง และรู้จักการสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้อื่น”

นพ.สมชายกล่าวต่อว่า ที่สำคัญคือบุคลากรทางการแพทย์มีสุขภาพจิตที่ดี สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง และสามารถนำไปบำบัดผู้อื่นได้โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ การหัวเราะบำบัดเป็นเรื่องใหม่ ที่น่าสนใจเพราะสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เห็นผลได้ชัดโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ปัจจุบันได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และ รพ.มหาราช ได้รับเกียรติอย่างยิ่งจากวิทยากรผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับการหัวบำบัดของเมืองไทย

ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม วิทยากร โครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เปิดเผยว่า การหัวเราะของมนุษย์เป็นเรื่องที่ธรรมชาติให้มาอย่างวิเศษที่สุด และสามารถช่วยได้มากในเรื่องของการสร้างความสุข มีสารความสุขหลั่งออกมาจากการหัวเราะ เช่น เอนโดรฟิน มีสารแก้ซึมเศร้า แก้โรคด้านจิตใจ สารทำให้เกิดความสงบ สารรักษามะเร็ง

“การหัวเราะถูกให้ความสำคัญในระดับโลก มีการกำหนดวันหัวเราะโลกในทุกวันอาทิตย์แรกของเดินพฤษภาคมของทุกปี ก่อนหน้านี้ 10 ชาติจากทั่วโลกได้ให้ความสำคัญที่จะเข้ามาร่วมกันจัดกิจกรรมวันหัวเราะโลกที่ประเทศไทย แต่เรามีปัญหาด้านการเมืองทำให้ต้องเลื่อนออกไป ซึ่งในปีนี้การจัดหัวเราะโลกอาจจะมีการจัดที่นครศรีธรรมราช ในนาม “สยามหัวเราะ” ซึ่งผมไปต่างประเทศมีการพุดถึงถึงข้อมูลข่าวสารจากนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่มีข่าวสารข้อมูลไปทั่วโลก ถูกพูดถึงมากโดยเฉพาะพฤติกรรมวัยรุ่นเช่นการทำไฮไลท์ย้อมสีผมเบื้องล่าง”

ดร.วัลลภ กล่าวต่อว่าการหัวเราะมีข้อดีมาก ซึ่งคนไทยนั้นมีเอกลักษณ์อยุ่แล้วในเรื่องของสยามหัวเราะ โดยการหัวเราะนั้นจะเป็นการเคาะโรค เพาะความสุขให้จิตใจ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างกัน และเป็นการเพาะความสุขให้จิตวิญญาณ สยามหัวเราะจะเพาะภูมิคุ้มกัน ที่จะทำให้เรื่องร้ายกลายเป็นดีได้

กำลังโหลดความคิดเห็น