xs
xsm
sm
md
lg

อย.คาดนม ร.ร.โคราชเก็บไม่ดี เสนอ ศธ.ทำคู่มือสังเกตนมบูดแจกทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอขข่าวจากอินเทอร์เน็ต
อย.เผยผลสอบนมโรงเรียนโคราช เบื้องต้นอาจเกิดจากจัดเก็บอุณหภูมิไม่เหมาะสม รอผลตรวจเชื้อแบคทีเรียยืนยันอีกรอบ เสนอ ศธ.จัดทำคู่มือนมโรงเรียนแจก ร.ร.ประถมทั่วประเทศ ป้องกันปัญหานมบูด พร้อมเสนอมาตรการย้อมสีนมผงอาหารสัตว์ กันมั่วนำมาเป็นอาหารคน

วันที่ 4 มีนาคม นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ผลการตรวจวิเคราะห์นมจากโรงงานผลิตนมโรงเรียนทั้ง 68 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะทำการตรวจทั้งคุณภาพเนื้อนมและการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียยังไม่แล้วเสร็จ คาดว่า จะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 7 วัน ส่วนกรณีที่นักเรียนท้องเสียจากการดื่มนมโรงเรียนใน จ.นครราชสีมา สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าไปสอบสวนเบื้องต้น พบว่า ถังน้ำแข็งที่โรงเรียนใช้ในการจัดเก็บนมมีความแตกต่างของอุณหภูมิ โดยส่วนบนของถังน้ำแข็งมีอุณหภูมิประมาณ 18-19 องศาเซลเซียส ส่วนก้นถังมีอุณภูมิ 8 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่จะเป็นปัจจัยทำให้เกิดนมบูดเสีย อย่างไรก็ตาม จะต้องรอผลตรวจวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง ว่า นมที่ผลิตมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ จึงจะสามารถระบุสาเหตุการเน่าบูดได้อย่างชัดเจน เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่ทำให้นมบูดเสียมี 2 ปัจจัยหลัก คือ การปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียและระบบการจัดเก็บรักษา

“การเก็บรักษานมโรงเรียนที่ออกจากโรงงานจนถึงมือเด็กจะต้องดีมีอุณหภูมิ 4-5 องศาเซลเซียส ตลอดเวลา และหลังจากนมออกจากตู้แช่เย็นจะต้องให้เด็กดื่มทันที ไม่ควรให้นำกลับไปดื่มที่บ้าน เพราะเสี่ยงที่นมจะเน่าบูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองไทยเป็นเมืองร้อนมีอุณหภูมิเฉลี่ย 30 องศา เสี่ยงที่นมจะเน่าเสียได้ง่าย ครูจึงต้องเข้าใจนมพาสเจอร์ไรซ์ด้วย”นพ.พิพัฒน์ กล่าว

นพ.พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 5 มี.ค.ซึ่งจะมีการประชุมจัดระบบนมโรงเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย อย.จะเสนอมาตรการการกำกับดูแลและควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของนมโรงเรียน โดยวัตถุดิบที่เป็นนมดิบต้องมีผลการรับรองคุณภาพก่อนเข้าโรงงานแปรรูป ส่วนนมผงชนิดเต็มมันเนยและชนิดพร่องมันเนย หากสำแดงเป็นอาหารสัตว์ควรย้อมสีแดงหรือส้มในขั้นตอนของการยื่นตรวจสอบภาษี เพื่อให้เกิดความแตกต่างและป้องกันการสำแดงเท็จเป็นอาหารสัตว์แต่แท้จริงนำเข้ามาเป็นอาหารคน

นพ.พิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับระบบการขนส่ง โรงงานต้องจัดหาสายส่งที่มีความพร้อม โดยสามารถจัดเตรียมภาชนะบรรจุที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการเก็บรักษาความเย็นได้ตลอดระยะเวลาการขนส่งและมีน้ำแข็งเพียงพอ ขณะเดียวกัน โรงเรียนต้องมีการจัดเตรียมสถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสม และต้องมีผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบคุณภาพนมก่อนการรับผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ต้องมีการตรวจสอบปริมาณการจัดซื้อนมดิบเทียบกับปริมาณการผลิตนมโรงเรียน เพื่อป้องกันการลักลอบใช้นมผง และผู้จัดซื้อหรือผู้ตรวจรับนมควรมีการตั้งงบประมาณสำหรับการตรวจวิเคราะห์อย่างน้อยตัวอย่างละ 3 พันบาท

“นอกจากนี้ อย.จะจัดพิมพ์คู่มือดูแลนมโรงเรียนแจกให้กับโรงเรียนระดับประถมศึกษาทุกแห่ง หรือดาวน์โหลดได้จาก www.fda.moph.go.th./lib เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการเก็บรักษานมจากผู้ผลิตมาถึงเด็กไม่ให้เกิดความเสี่ยงเน่าบูด โดยคู่มือดังกล่าวจะมีข้อมูลที่สามารถเข้าใจได้ง่ายครูสามารถนำไปปฏิบัติได้ เช่น กรรมวิธีการผลิตนมพร้อมดื่ม การเสียของนม สาเหตุ ลักษณะข้อสังเกต การดูแลนมโรงเรียน อาการป่วยเมื่อบริโภคอาหารเป็นพิษ การเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการ และการขนส่ง เป็นต้น” นพ.พิพัฒน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น