นายกฯ คาดการณ์ส่งร่าง อปท.เข้าสู่สภาฯได้ทันภายในเดือนสิงหาคมนี้ กำชับ 3 กระทรวงสะสางปัญหานมโรงเรียน พร้อมอัดฉีดงบฯให้ท้องถิ่นขานรับระบบแก้ปัญหานมโรงเรียน
วันนี้ (2 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงกรรมการภายหลังการประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณากฎหมายที่จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีอยู่ 4 ฉบับ คือ 1.พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ 2.พ.ร.บ.รายได้การปกครองส่วนท้องถิ่น 3.พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการท้องถิ่น และ 4.ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งทั้ง 4 ฉบับทางอนุกรรมการกำลังยกร่างขึ้นมา ซึ่งรัฐบาลจะให้ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน จากนั้นจะมีการรวบรวมประเด็น และหากมีประเด็นที่จะต้องตัดสินใจ ในเชิงนโยบายก็ให้เสนอต่อที่ประชุมกกถ.ทั้งนี้มีเป้าหมายว่าจะต้องนำเสนอต่อครม.ไม่เกินเดือนพฤษภาคม และเสนอต่อสภาได้ไม่เกินเดือนสิงหาคม
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ความจริงรัฐธรรมนูญกำหนดเวลาไว้ 2 ปี ซึ่งผ่านไปปีหนึ่งแล้วซึ่งเวลาที่เหลืออีก 1 ปีก็จะพยายามดำเนินการให้ทัน มีเพียงระเบียบของข้าราชการท้องถิ่นเท่านั้นซึ่งความจริงแล้วเวลาตามรัฐธรรมนูญหมดไป ตั้งแต่ก่อนรัฐบาลนี้เข้ามาแล้วก็จะมีการแยกประเด็นนี้เพื่อเสนอไปก่อน
นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า เนื่องจากเรื่องของประมวลกฎหมายท้องถิ่น จะพันไปถึงเรื่องของตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในเทศบาล ดังนั้น เรื่องนี้ที่เคยเสนอเข้ามาในที่ประชุม ครม.ก็จะให้รอประมวลกฎหมายท้องถิ่น เพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า วันนี้ยังมีการมาสะสางบางปัญหา เช่น การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่ได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนในการปฏิบัติตามมติ ครม.ในเรื่องของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้ให้มีการรวบรวมตัวเลขและเสนอของบประมาณเข้ามา รวมไปถึงปัญหาที่ค้างมา เรื่องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปให้การสนับสนุนโรงเรียนในเรื่องต่างๆ ซึ่งเคยมีปัญหาในข้อกฎหมาย วันนี้ก็ได้มีการทำความเข้าใจและน่าจะมีความชัดเจนขึ้น และจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถไปให้การสนับสนุนโรงเรียนต่างๆ ได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น
นายกฯ กล่าวต่อว่า ได้สอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับเบี้ยยังชีพ ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขณะนี้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับการขึ้นทะเบียน เมื่อถามถึงปัญหาในเรื่องของนมโรงเรียน นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้จะมี 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่เกี่ยวกับการทุจริต ครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาได้ให้ 3 กระทรวงไปดำเนินการสอบข้อเท็จจริงและสะสางเรื่องนี้แล้ว ส่วนที่มาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติม ก็คือขอให้ส่งตัวแทนเข้ามาเพื่อช่วยเรื่อง การขยายโครงการเพื่อแก้ปัญหาน้ำนมดิบ ซึ่งทางท้องถิ่นก็ขานรับแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำนมดิบอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ความจริงแก้ไปเยอะแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้มีข้อตกลงกันแต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการทำขึ้นในสถานการณ์หลายอย่างที่ไม่ตรงกับปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องราคา ซึ่งในช่วงปีใหม่ก็แก้ปัญหาไปเปาะหนึ่ง แต่ต่อมามีการเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการ โดยเฉพาะการสร้างตลาดให้กับนมส่วนนี้ และอีกส่วนหนึ่งก็คือการขยายนมในโรงเรียน และต้องแก้ปัญหาเกี่ยวกับการน้ำนมผงมาผสม ซึ่งก็ต้องให้ทางท้องถิ่นสนับสนุนด้วย เพราะลำพังกำลังของรัฐบาลเองคงไม่พอในการขยายเพื่อรองรับปริมาณ ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างดี
ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาพที่มีการนำนมดีไปเททิ้ง ขณะที่เด็กกินนมบูดดูแล้วอายไปทั่วโลก นายกฯ กล่าวว่า ความจริงเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมา และรัฐบาลกำลังแก้ไขอยู่ ซึ่งในส่วนของโครงการนมโรงเรียนก็จะต้องมีการปรับปรุง และสิ่งที่เป็นปัญหาในอดีตก็จะต้องมีการดำเนินการแก้ไข ทั้งนี้ในวันพุธนี้จะมีกลุ่มเกษตรกรมาพบตนในเรื่องนี้ อย่างไรก็จะไปดูว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่จะสนับสนุน ส่งเสริมเกี่ยวกับน้ำนม เพราะความจริงความต้องการภายในประเทศน่าจะเพียงพอ แต่ระบบที่ผ่านมาไม่เอื้ออำนวยก็ต้องมาแก้กัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงการกระจายอำนาจคิดว่าจะสามารถกระจายได้ตามที่หวังไว้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกัน และเรื่องเงินอุดหนุนทั่วไปก็ไม่มีปัญหา แต่เงินอุดหนุนที่ค้าง อยู่ในเชิงโครงการของท้องถิ่น ตนได้ขอให้เขาสรุปมาว่า ถ้ามีปัญหาจริงๆ อยากเปลี่ยนโครงการ หรืออยากเสนอโครงการใด ให้รัฐบาลสมทบเงินก็ขอให้เร่งทำมา อย่างไรก็ตาม เงินก็ลงไปเยอะ จริงๆแล้วการใช้จ่ายเงินช่วงมกราคมดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และวันพุธจะติดตามตัวเลขกันอีกครั้ง