ป.ป.ท.ชี้มูลทุจริตฮั้วนมโรงเรียน พบมติ ครม.26 พ.ย.45 เป็นต้นเหตุ เตรียมส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.เอาผิดรัฐมนตรีสมัยทักษิณยกแผง พร้อมแฉขั้นตอนการทุจริตหลากหลายขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มการประมูลที่มีคู่แข่งเพียง 1-2 ราย และไม่เคยประมูลต่ำกว่าราคากลาง การผลิตไม่ได้คุณภาพส่งผลให้นมบูดเน่า
วันนี้ (2 มี.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แถลงผลการตรวจสอบกรณีทุจริตโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จากการส่งชุดเฉพาะกิจ ป.ป.ท.สุ่มตรวจข้อเท็จจริงจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 87 แห่ง รวม 16 จังหวัดว่า การตรวจสอบพบประเด็นส่อทุจริตแบ่งเป็น 3 กลุ่ม 14 เรื่อง โดยความผิดแรกเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างของ อปท.มีการกำหนดให้บริษัทที่มีสิทธิเสนอราคาเป็นผู้จัดส่งนมโรงเรียนในเขตพื้นที่รวม 18 ราย แต่มีผู้ประกอบการเสนอราคาเพียง 1-2 ราย และพบว่าผู้เสนอราคาทั้ง 2 ราย ตกลงสมยอมราคากันมาก่อนยื่นซองประมูล บริษัทแรกที่รับสมอ้างเป็นคู่แข่งจะเสนอราคาสูงกว่าราคากลาง ส่วนอีกบริษัทจะเสนอราคาใกล้เคียงหรือพอดีกับราคากลาง โดยไม่มีการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ ประเด็นที่ 2 หากผู้ประกอบการรายใดทำสัญญากับ อปท.ก็จะเป็นคู่สัญญาที่ผูกขาดในเขตพื้นที่นั้นๆ เพียงรายเดียว ประเด็นที่ 3 ในเขตพื้นที่ไม่มีผู้ประกอบการเข้าเสนอราคาแข่งขัน อปท.จำเป็นต้องจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ เพราะไม่สามารถเลือกซื้อจากผู้ประกอบการรายอื่นได้
นายธาริตกล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 4 ผู้ประกอบการที่ยื่นเสนอราคาทั้ง 2 รายไม่ได้ดำเนินการเอง แต่จะมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวกัน (คนเดินนม) มาดำเนินการเสนอราคาแข่งกันเอง ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาค ประเด็นที่ 5 หากคนเดินนมเข้าไปรับดำเนินให้ผู้ประกอบการรายใดก็มักจะเป็นฝ่ายชนะการประมูล ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่เป็นคู่แข่งต้องเลือกใช้บริการกับคนเดินนมจึงจะสามารถชนะการประมูลครั้งต่อไป ประเด็นที่ 6 พบว่า อปท.บางแห่งทำสัญญาจัดซื้อนมจากผู้ประกอบการข้ามเขตพื้นที่ (ข้ามโซน) ประเด็นที่ 7 อปท.จัดซื้อนมจากผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับการรับรองสิทธิให้จำหน่ายนมโรงเรียน
ประเด็นที่ 8 ผู้ชนะการประมูลโอนสิทธิจำหน่ายนมให้ผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งบางแห่งเป็นบริษัทค้าไม้ไม่เคยมีประวัติผลิตหรือค้าขายนม แต่กลับได้สิทธิเป็นผู้จัดส่งนมให้โรงเรียน และประเด็นที่ 9 อปท.ต้องเซ็นสัญญากับนายหน้า ซึ่งเป็นพ่อค้านมรับเป็นนายหน้ารับซื้อนมจากผู้ประกอบการทุกแห่ง เพื่อให้มีปริมาณนมเพียงพอในการจัดส่งให้โรงเรียน โดยตกลงแบ่งพื้นที่ให้ผู้ประกอบการทุกราย แลกกับค่านายหน้าจากผู้ผลิตนมถุงละ 50-60 สตางค์ ทำให้การเสนอราคาไม่เคยได้ราคาที่ต่ำกว่าราคากลางเลย
นายธาริตกล่าวอีกว่า ในส่วนของการตรวจสอบเกี่ยวกับการกำหนดเกณฑ์แบ่งเขตพื้นที่จำหน่ายนมเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการระบบขนส่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดให้บริษัทแต่ละแห่งมีสิทธิจำหน่ายนมรายละ 1 โซน แต่ปรากฏว่ามีบางบริษัทได้รับสิทธิจำหน่ายนมถึง 2 โซน จึงส่อเป็นการจัดสรรสิทธิที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ประกอบการจำหน่ายนมข้ามเขตพื้นที่ และมีผู้จำหน่ายนมพลาสเจอไรซ์ถึง 14 ราย เข้ามาจัดส่งนมโรงเรียนทั้งที่ไม่ได้รับการรับรองสิทธิ อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบของ ป.ป.ท.ยังพบว่าอีกว่า สถานศึกษาที่มีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมให้คนนอกเข้ามาใช้โรงงานผลิตนมจัดส่งให้โรงเรียน และบางรายก็นำนมที่ผลิตจากโรงงานของตนเองมาสวมตราของมหาวิทยาลัย
นายธาริตกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ป.ป.ท.ยังพบว่าการจัดซื้อนมโรงเรียนส่วนใหญ่จะพบปัญหาเกี่ยวกับรสชาติ กลิ่น สี หรือความเข้มข้มของน้ำนม รวมถึงการบูดเน่าของนม จึงเชื่อว่ามีกระบวนการผลิตไม่ได้คุณภาพ มีการนำนมผงผสมน้ำหรือทำให้เจือจางเพื่อลดต้นทุนการผลิต เป็นผลเสียของรัฐและเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินการในระดับนโยบายที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการบริหารจัดการ เช่น กำหนดจำนวนผู้ประกอบการ จัดแบ่งโซนนิ่งจำหน่ายนม ซึ่งเข้าข่ายการกีดกันการจำหน่ายนมอย่างเสรี ไม่ให้มีการแข่งขันทางการค้า เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในการสอบสวนของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
“ต้นเหตุของการกระทำผิดเกิดจากมติ ครม.วันที่ 26 พ.ย.2545 โดยท้องถิ่นระดับปฏิบัติเป็นเพียงปลายเหตุ ทั้งนี้ ปัญหาเกี่ยวกับการจัดซื้อนมโรงเรียนเคยมีการเสนอให้แก้ไขรูปแบบการจัดซื้อในปี 2548 แต่ ครม.ยังคนยืนยันให้ใช้ระเบียบการจัดซื้อแบบเดิม ทั้งที่เป็นระเบียบที่ก่อให้เกิดการผูกขาด ตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจมีข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำในระดับสูงต้องร่วมรับผิดชอบ แต่ผมไม่อยากระบุรายชื่อบุคคล เพราะคดีถือเป็นดุลพินิจของ ป.ป.ช. แต่ถ้าตรวจสอบมติ ครม.ย้อนหลังไปก็จะรู้ว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง หลังจากนี้จะเสนอให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทำหนังสือถึงกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนแก้ไข การดำเนินจัดซื้อนมโรงเรียนให้ถูกต้องต่อไป” นายธาริตกล่าว
สำหรับจังหวัดที่ ป.ป.ท.ลงพื้นที่สุ่มตรวจพบการทุจริตจัดซื้อนมโรงเรียนประกอบด้วย อยุธยา สระบุรี ชลบุรี ขอนแก่น เลย เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พิษณุโลก นครปฐม สมุทรสาคร นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล ชุมพร ทั้งนี้ จ.นครราชสีมา พบปัญหาการทุจริตมากที่สุด นอกจากนี้ ป.ป.ท.ยังตั้งข้อสังเกตว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาผู้ประกอบการไม่ยื่นเสนอราคา โดยอ้างความคุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย ทำให้นักเรียนไม่ได้ดื่มนมตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2/2551