ศูนย์ข่าวภูเก็ต - หลายหน่วยงานในภูเก็ตร่วมจัดเสวนา เรื่อง “เราจะอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมอ่าวฉลองกันได้อย่างไร” ผู้ว่าฯ แนะภูเก็ตควรหยุดโตและอยู่กับธรรมชาติให้ได้ หันมาขายสินค้าคุณภาพเลิกเน้นปริมาณ
วันนี้ (18 ก.พ.) ที่บริเวณชายทะเลบ้านป่าหลาย หมู่ที่ 2 ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน นายสุธา ประทีป ณ ถลาง ตัวแทนเครือข่ายชุมชนชายฝั่งอ่าวฉลอง นายณัฐพงศ์ วิมลพันธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต ร่วมเสวนา เรื่อง “เราจะอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมอ่าวฉลองกันได้อย่างไร” ซึ่งสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต สำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต หน่วยงานในพื้นที่สังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เครื่อข่ายชุมชนชายฝั่งอ่าวฉลอง ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังเสื่อมโทรมเนื่องจากปัจจัยหลายๆด้าน โดยมีชาวบ้านในพื้นที่ นักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมจำนวนมาก
สำหรับการเสวนาในครั้งนี้ นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กล่าวว่า เดิมนั้นทรัพยากรธรรมชาติบริเวณอ่าวฉลองมีความเสื่อมโทรมมานานแล้ว และการคุกคามทรัยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ เรื่องของการพัฒนาและเรื่องของการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีบ้างพื้นที่ที่เกาะแอว ที่ไม่ถูกคุกคามด้วยกิจกรรมทางด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีการท่องเที่ยวเข้าไป
ขณะที่ นายสุธา ประทีป ณ ถลาง ตัวแทนเครือข่ายชุมชนอ่าวฉลอง กล่าวว่า เมื่อก่อนทรัพยากรธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นหญ้าทะเล ปะการังในพื้นที่อ่าวฉลองมีความสมบูรณ์มาก แต่เมื่อมีการพัฒนาที่เกิดขึ้นทำให้ทรัพยากรทางทะเลได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำเหมืองแร่ในทะเล การเพาะเลี้ยงลูกกุ้ง ซึ่งในช่วงที่มีการเลี้ยงกุ้งจำนวนมากทำให้ปะการังตายเกือบทั้งหมด หลังจากที่มีการเลิกเลี้ยงกุ้งทรัพยากรธรรมชาติก็เริ่มที่จะฟื้นตัวกลับมา
เช่น ที่เกาะโหลน เกาะทะนาน ปะการังฟื้นตัวกลับมาแล้วเกือบทั้งหมด เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาชาวบ้านจึงรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นเครือข่าย ในการเฝ้าดูแลทรัพยากรธรรมชาติเพื่อไม่เกิดความเสียหายมากกว่านี้ และที่ผ่านมาได้มีการต่อต้านเรื่องของการสร้างท่าเรือเรือสำราญ เพื่อกีฬาที่จะสร้างในพื้นที่อ่าวฉลองโดยจะจอดเรือได้ประมาณ 120 ลำ และมีเขื่อนกันคลื่น มองว่าการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ ทำให้น้ำเปลี่ยนทิศทางและซันเอาทรายเข้าไปในป่าชายเลน ซึ่งจะทำให้ป่าชายเลนตายในที่สุด
นายสุธา กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จังหวัดภูเก็ตควรจะหยุดการพัฒนาแบบไร้ทิศทาง การสร้างโรงแรมขนาดใหญ่บนเกาะ การทำลายปะการัง และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติส่วนใหญ่ก็เกิดมาจากการพัฒนาที่ไร้ทิศทาง
ขณะที่ นายณัฐพงศ์ วิมลพันธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะเน้นเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและดูแลทรัพยากรของอ่าวฉลอง คือ เรื่องของจิตสำนึกหากทุกคนมีจิตสำนึกก็สามารถที่จะรักษาไว้ได้ แต่ตอนนี้มีคนบางกลุ่มที่ยังไม่มีจิตสำนึกถือเอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก เรื่องของการเลี้ยงกุ้งนั้นเป็นตัวทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
แต่ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนจากการเลี้ยงกุ้งมาทำเป็นร้านอาหาร ถือว่าเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสทรัพยากรธรรมชาติก็ฟื้นคืนกลับมาในส่วนของชาวบ้านก็ได้จับสัตว์น้ำมาจำหน่ายให้กับร้านอาหารเพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยวต่อไป ซึ่งในส่วนของหน่วยงานภาคท้องถิ่นก็พร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับการอนุรักษ์ในจุดนี้
ด้าน นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอ่าวฉลองให้ได้ก็ต้องขึ้นอยู่กับคนในพื้นที่ คนในจังหวัดภูเก็ตเองที่จะต้องตอบให้ได้ว่าคนในพื้นที่ต้องการอะไร ภูเก็ตอย่างไรก็ต้องมีการพัฒนาแต่จะพัฒนาอย่างไร ตนมองว่าต่อไปนี้ภูเก็ตจะต้องขายคุณภาพไม่ใช่ขายปริมาณ ภูเก็ตน่าจะหยุดโตได้แล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องบ้านจัดสรร หรือเรื่องของการก่อสร้างอย่างอื่น ซึ่งใจจริงตนไม่อยากให้มีโครงการบ้านจัดสรรเกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะคิดว่าเท่าที่มีอยู่ก็น่าจะเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการเสวนาเสร็จ นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ร่วมกันปลูกป่าชายเลน และปล่อยพันธ์สัตว์น้ำลงสู่ทะเลอ่าวฉลอง โดยมีการปลูกป่าจำนวน 50 ไร่ เช่น ต้นไม้ชายหาด จำนวน 100 ต้ น ได้แก่ จิกทะเล รักทะเล สารภีทะเล และปลูกไม้ป่าชายเลนจำนวน 10,000 ต้น ได้แก่ต้นโกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ถั่วจำนวน 5,000 ต้น และปลูกโดยใช้ฝักโกงกางจำนวน 5,000ฝัก นอกจากนั้น ยังมีการปล่อยพันธ์กุ้งทะเลจำนวน 1,000,000 ตัวด้วย