xs
xsm
sm
md
lg

“ชาวบ้านหัวทาง” สตูลจัดกิจกรรมรักษาผืนป่าชายเลนหลังพบวิกฤตหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีเสวนาให้ความรู้เรื่องผืนป่าชายเลน
สตูล - ชาวชุมชนบ้านหัวทาง อ.เมืองสตูล จัดกิจกรรมตามโครงการวิจัย “ศึกษารูปแบบการจัดการป่าชายเลนของชุมชนบ้านหัวทาง ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล” ศึกษารูปแบบการจัดการป่าชายเลน หลังพบวิกฤตป่าชายเลนลดลงจำนวนมาก

ตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมาวันนี้ (23 ธ.ค.) ชุมชนบ้านหัวทาง ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล ต่างร่วมแรงร่วมใจกัน จัดการแสดงผลิตภัณฑ์เด่นๆ ในพื้นที่ตามซุ้มต่างๆ ภายในงาน โครงการวิจัย “ศึกษารูปแบบการจัดการป่าชายเลนของชุมชนบ้านหัวทาง ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล” โดยการวิจัยครั้งนี้ เกิดจากการเล็งเห็นความเสื่อมโทรมของป่าชายเลน และปริมาณป่า สัตว์น้ำหลากชนิดในพื้นที่ลดน้อยลง ซึ่งถือเป็นผลกระทบต่อปากท้องชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพราะชาวบ้าน 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนหัวทาง ชุมชนโคกพะยอม และชุมชนท่าในเนาว์ กว่า 1,200 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ในการนี้ประชาชนในพื้นที่จับมือกันร่วม วิจัยหาสาเหตุของปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนจากยุทธศาสตร์ อยู่ดี มีสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง เพื่อเรียกความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา และเรียกความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในชุมชนกลับคืนมา

นายสมัคร สะดล หัวหน้าโครงการวิจัย “ศึกษารูปแบบการจัดการป่าชายเลนของชุมชนบ้านหัวทาง ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล” กล่าวว่า จากการทำวิจัยเป็นเวลาร่วม 2 ปี ที่บรรลุวัตถุประสงค์ คือ การมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานของรัฐ กับภาคประชาชน และเรียนรู้การบริหารจัดการป่าที่ถูกต้อง ทั้งนี้หวังว่า อย่างน้อยทำให้คนในชุมชนได้เรียนรู้เรื่องป่า


โดยได้ร่วมกันประสานกับทางโรงเรียนเทศบาล 3 ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล ซึ่งทางโรงเรียนก็เห็นด้วย และทางกลุ่มวิจัยเข้ามาช่วยดูแล และศึกษาให้ความรู้ ละร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างโรงเรียนเทศบาล 3 เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ และระยะเวลาที่ผ่านมา ทางโรงเรียน และชุมชน จัดทำศูนย์เลี้ยงหอยลอกัน และจัดทำแรลรี่หอยลอกัน ซึ่งให้เด็กออกไปหาหอยลอกัน และนำมาเลี้ยงโดยมีทางชุมชน และโรงเรียนร่วมกันทำ เพื่อเป็นการสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง และเกิดการเปลี่ยนแปลง เห็นได้ว่าชุมชนทั้ง 3 นั้น มีความพัฒนาทางด้านธรรมชาติ หมู่บ้านเข้มแข็ง และห่างไกลยาเสพติด พร้อมมีอาชีพเสริมให้กับเด็ก และผู้ใหญ่ที่ว่างงาน ได้มีอาชีพเสริม

ด้านนายนิมิตร สะดน ครูสอนงานอาชีพโรงเรียนเทศบาล 3 ต.พิมาน อ.เมือง กล่าวว่า โรงเรียนเทศบาล 3 มีส่วนร่วมกับชุมชนทั้ง 3 ชุมชน ให้อยู่ด้วยความสงบสุข ร่วมกับสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ เพราะชุมชนบ้านหัวทางนี้ ขณะนี้มีการรณรงค์เรื่องการทำวิจัยป่าชายเลน สิ่งแวดล้อม ทางโรงเรียนก็มีการจัดพัฒนาแหล่งน้ำ มีการร่วมปลูกป่าชุมชนด้วย โดยทางโรงเรียนได้ปฏิบัติกันมา และได้รับความร่วมมือกับชุมชนเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ป่าชายเลนเป็นแหล่งสัตว์น้ำหลาย ๆ ชนิด ซึ่งขณะนี้กำลังจะสูญพันธุ์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งทางโรงเรียนดำเนินการอนุรักษ์หอยลอกัน เป็นหอยของท้องถิ่นที่ใกล้สูญพันธุ์ไปแล้ว ซึ่งได้เน้นเป็นพิเศษ และได้ศึกษาถึงการดำเนินชีวิตของหอยลอกันว่า
เป็นหอยที่มีการขยายพันธ์อย่างไร และคาดว่าในอนาคตหอยลอกันนี้จะเป็นสัตว์เศรษฐกิจให้กับชุมชนบ้านหัวทาง สำหรับหอยลอกันถือเป็นหอยที่หายาก เพราะการเป็นอยู่นั้น จะมีการฝังตัวอยู่ในโคลน วิธีการหาต้องดูในโพรงในป่าโกงกางป่าชายเลน ซึ่งถ้าไม่ช่วยกันอนุรักษ์ป่าชายเลนหอยชนิดนี้ก็จะหมดไป

โดยหอยลอกัน คือ สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น ผัดเผ็ดหอยลอกัน คั้วขมิ้นหอยลอกัน รวมถึงแกงส้มหอยลอกัน และยำประเภทต่าง ๆ ทั้งนี้ทางโรงเรียนมีการเพาะพันธุ์หอยลอกัน และมีการจัดแรลลี่หอยลอกัน รณรงค์ให้นักเรียนหาหอย ร่วมกันอนุรักษ์ และเพาะพันธ์หอยต่อไป

พร้อมกันนี้ นายกรียา จินดา ปราชญ์ชาวบ้านบ้านหัวทาง หนึ่งในกลุ่มชาวบ้านที่จัดซุ้มแสดงเครื่องมือการประมงจากอดีตมาย่อส่วนโชว์ พร้อมจำหน่ายภายในงาน กล่าวด้วยว่า จากเครื่องมือประมงชายฝั่งที่นำมาย่อส่วนเป็นชิ้นเล็กๆ นี้ ต้องการสื่อให้เห็นว่า เป็นเครื่องมือที่ใช้ประกอบอาชีพของชาวบ้านทั้งหมดจากอดีต โดยย่อส่วน เพื่อเป็นของชำร่วย ของที่ระลึก แก่นักท่องเที่ยว สื่อให้รู้ถึงเอกลักษณ์ความเป็นหัวทาง ซึ่งมีทั้งหยอง และไซ ที่ใช้สำหรับหาปลาเลี้ยงชีพ
นิทรรศการให้ความรู้

หนึ่งในอาหารที่ทำจาก หอยลอกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น