xs
xsm
sm
md
lg

สกว.แฉครูสอนประวัติศาสตร์ขาดความรู้-คู่มือถูกแค่ 60 เปอร์เซ็นต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - สกว.เผย การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ของไทยในโรงเรียนมีปัญหา เพราะครูขาดความรู้พื้นฐาน ขณะที่ตำราเรียนถูกต้องเพียง ร้อยละ 60 เท่านั้น แนะรัฐบาลทำสารานุกรมบุคคลสำคัญของชาติ เพื่อปลูกฝังให้เด็กเป็นคนดี และรักชาติไทย ขณะที่ สพฐ.เล็งให้โรงเรียนสอนประวัติศาสตร์ 1 คาบ/สัปดาห์ พร้อมหนุนครูได้เรียนรู้จากแหล่งประวัติศาสตร์

จากประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการพัฒนาการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทย ที่โรงแรมไพลิน จ.สุโขทัย โดยมีครูและศึกษานิเทศก์ภาคเหนือเข้าร่วม 208 คน เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร รองประธานกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย และเมธีวิจัยอาวุโสของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวในการสัมมนา ว่า การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทยในระดับโรงเรียนมีปัญหาอยู่ที่ความรู้พื้นฐานของครู อีกทั้งความรู้ในตำราประวัติศาสตร์ไทยมีความถูกต้องเพียงร้อยละ 60 ซึ่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์จะต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของความรู้ ไม่ใช่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเพิ่มพื้นที่ศึกษาประวัติศาสตร์ให้ครอบคลุมความเป็นมาของประเทศไทยทั้งหมด รวมถึงรัฐบาลควรมีนโยบายจัดทำสารานุกรมหรือพจนานุกรมบุคคลสำคัญของประเทศไทยทั้งหมด เพื่อปลูกฝังเด็กให้เป็นคนดีและรักชาติไทย ทั้งนี้ ตนยังได้เสนอขอทุน สกว.ทำวิจัยรวบรวมเอกสารประวัติศาสตร์ไทยที่สำคัญที่สุดอย่างน้อย 100 เรื่อง เช่น ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เอกสารต่างประเทศ เป็นต้น เพื่อมาจัดทำเป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับนักเรียน โดยจะเริ่มในเดือนมกราคม ปีการศึกษา 2552

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังพิจารณาให้โรงเรียนได้สอนวิชาประวัติศาสตร์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 คาบ นอกจากนี้ สพฐ.จะสนับสนุนให้ครูสอนประวัติศาสตร์ได้มีโอกาสมาทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เช่น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อยุธยา พนมรุ้ง และภาคใต้ โดยจะสนับสนุนงบประมาณให้โรงเรียนขนาดใหญ่เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และอาจทำเป็นหอพัก เพื่อให้ครูและนักเรียนที่มาทัศนศึกษาได้พัก รวมถึงจะจัดทำแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์เสมือนจริงบรรจุลงในเว็บไซต์ของ สพฐ.เพื่อให้ครูและนักเรียนที่ไม่มีโอกาสไปทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ และจัดตั้งศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนสังคมศึกษาขึ้นในจังหวัดต่างๆ เพื่อทำหน้าที่พัฒนาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ และสังคมศึกษา อีกทั้ง สพฐ.จะจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และสังคม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาการสอนวิชาสังคมศึกษาโดยรวม ทั้งในเรื่องการพัฒนาหลักสูตร ครู และสื่อการสอน เพื่อของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลต่อไป

นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผอ.สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.กล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ.อบรมครูสอนประวัติศาสตร์และศึกษานิเทศก์ครบทุก 5 ภาคแล้ว หลังจากนี้ จะให้ครูแต่ละคนนำความรู้ไปสังเคราะห์ทำเป็นแผนการเรียนประวัติศาสตร์ของตนเอง และนำมาบรรจุลงเว็บไซต์ของ สพฐ.เพื่อให้โรงเรียนนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับเด็ก โดยมีศึกษานิเทศก์เป็นพี่เลี้ยงดูแลและผู้บริหาร สพท.คอยกำกับการดำเนินงานต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น