xs
xsm
sm
md
lg

6 ภาคีร่วมเผยแพร่งานวิจัยสู่ท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุราษฎร์ธานี - 6 ภาคีร่วมกันจัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการเรื่อง “การพัฒนาอย่างสมดุลและรอบด้านบนฐานความรู้” เพื่อเปิดเวทีแห่งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทำให้เกิดงานวิจัยที่คมชัดและเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น เผยมีงานวิจัยสู่ชุมชนท้องถิ่นกว่า 100 ชิ้น อันจะนำไปสู่แนวทางในการพัฒนาจังหวัดอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชัฏสุราษฏร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภฏสุราษฏร์ธานี (มรส.) ร่วมกับ จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อบจ.สุราษฎร์ธานี เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี และเทศบาลเมืองท่าข้าม ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการเรื่อง “การพัฒนาอย่างสมดุลและรอบด้านบนฐานความรู้” ในระหว่างวันที่ 12-13 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ ณ อาคารทีปังกรรัศมีโชติ มรส.ทั้งนี้ เพื่อเปิดเวทีแห่งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทำให้เกิดงานวิจัยที่คมชัดและเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น โดยจะให้นักวิจัยท้องถิ่นได้นำเสนอเผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ และประชาสัมพันธ์ฐานความรู้ที่มีคุณค่าภายในตัวจังหวัด

สำหรับกิจกรรมภายในงานจะมีการปาฐกถา การอภิปราย รวมทั้งการเสวนาในประเด็นที่น่าสนใจ เช่น วิสัยทัศน์/ยุทธศาสตร์ของจังหวัด โดย นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผวจ.สุราษฎร์ธานี แนวคิด แนวทางในการใช้ฐานความรู้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างสมดุลและรอบด้าน โดย ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง การพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาจังหวัด โดยผศ.ดร.ณรงค์ พุทธชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เศรษฐกิจจังหวัดบนฐานเศรษฐกิจชุมชน และทุนทางวัฒนธรรม โดย ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รอง ผอ.สกว.ปาล์มน้ำมันกับนโยบายพลังงานทางเลือกของชาติ โดย ดร.พรชัย รุจิประภา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการแสดงผลงานของนักวิจัยในพื้นที่ ผลงานวิจัยของ สกว.และผลงานหรือกิจกรรมของชุมชนในพื้นที่ซึ่งประสบความสำเร็จทางด้านต่างๆ นำมาแสดงอีกมากมาย

ผศ.ดร.ณรงค์ กล่าวอีกว่า มรส.ได้ตั้งโจทย์ไว้ 3 ประการ ในการพัฒนาท้องถิ่น ได้แก่ การผลิตบัณฑิตสู่ท้องถิ่น การบริการวิชาการแก่ท้องถิ่น และการผลิตงานวิจัยเพื่อช่วยเหลือท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาสามารถตอบโจทย์ในการผลิตงานวิจัยได้ในระดับดี เป็นที่น่าพอใจ เพียงแต่ยังขาดประสิทธิภาพในกระบวนการปรับใช้ การที่ สกว.ลงมาตีโจทย์ร่วมกับ มรส.ในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องดียิ่ง เนื่องจาก สก.มีต้นทุนสูงและมีกระบวนการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ

ด้าน ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผอ.สกว.กล่าวว่า การประชุมวิชาการในครั้งนี้จะมีการเผยแพร่งานวิจัยสู่ชุมชนท้องถิ่นกว่า 100 ชิ้น อันจะนำไปสู่แนวทางในการพัฒนาจังหวัดสุราษฏร์ธานีได้อย่างถูกต้องและเป็นระบบ เป็นการเปิดมุมมองร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจในความเชื่อมโยงของจังหวัดกับภาพรวมในระดับมหภาค ทั้งนี้ เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนในการพัฒนาจังหวัด อีกทั้งนำไปสู่การสร้างโจทย์และข้อเสนอการวิจัยใหม่ๆในอนาคตได้

ทั้งนี้ สกว.ต้องการ สนับสนุนการวิจัยของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ ระบบเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสุราษฏร์ธานีเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการพัฒนาสูง มีความพร้อมในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น สถานที่ตั้ง ภูมิประเทศ ทรัพยากร ความเข้มแข็งของภาครัฐและภาคประชาชน รวมถึงเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข เช่น ทรัพยากร และปัจจัยการผลิตด้านการเกษตร การขนส่ง ชุมชน สังคมและการศึกษา ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยฐานความรู้ทางวิชาการ ข้อคิดเห็น และความร่วมมือจากภาคีต่างๆ ภายในจังหวัด
กำลังโหลดความคิดเห็น