อุบลราชธานี - กรมวิชาการเกษตรจับมือมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และอีก 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ประชุมวิชาการวางระบบเกษตรแห่งชาติครั้งที่ 5 หัวข้อ “พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ” หลังนักวิชาการเป็นห่วงเกษตรกรมีการปลูกพืชอาหาร แต่ถูกนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทน เกรงเกิดการขาดแคลนอาหารของมนุษย์ในอนาคต
วันนี้ (24 มิ.ย.) นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตรประธานจัดประชุมวิชาการระบบเกษตรแห่งชาติครั้งที่ 5 แถลงข่าวความร่วมมือระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จะเผยแพร่ผลงานวิจัยของนักวิชาการด้านการเกษตร ซึ่งปัจจุบันมีความเป็นห่วงการปลูกพืชใช้เป็นอาหาร
แต่ช่วงหลังมีการส่งเสริมเป็นพืชพลังงานทดแทน อาจทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารของมนุษย์ในอนาคต จึงเริ่มมีการวิจัยและพัฒนาวางระบบการปลูกพืชให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งระบบการทำฟาร์ม ระบบการผลิตแบบครัวเรือน โดยการวิจัยยึดหลักขบวนการตัดสินของเกษตรกร ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเชื่องโยงไปถึงการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ โดยไม่ทำให้เกิดข้อขัดแย้งในชุมชนในการผลิตพืชด้วย
สำหรับการจัดประชุมระหว่างวันที่ 2-4 กรกฎาคมศกนี้ มีนักวิชาการเข้าร่วมเสนอผลงานวิจัยภาคบรรยายจำนวน 43 เรื่อง งานวิจัยภาคโปสเตอร์อีก 7 เรื่อง โดยการนำเสนออยู่ภายใต้หัวข้อวิจัยย่อย 6 ข้อ คือ 1.ปัจจัยของผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านอาหารและพลังงาน 2.ระบบเกษตรและการฟื้นฟูทรัพยากร
3.เกษตรยั่งยืนและการปรับตัวของเกษตรกร 4.เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน 5.เศรษฐกิจกับอาหารและพลังงาน 6.เทคนิคและเครื่องมือทางระบบเกษตร