ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ประมงพื้นบ้านในพื้นที่ 3 อำเภอของสงขลาออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 เรียกร้องและชี้แจงให้สังคมรับทราบถึงการออกมาเคลื่อนไหวประท้วงปิดปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลา ระบุ ชุมนุมเพื่อเรียกร้องหลักประกันให้อาชีพประมงพื้นบ้านดำรงอยู่ต่อไป และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้พี่น้องประชาชน ขณะที่จังหวัดสงขลาส่งตัวแทนเข้าเจรจา ล่าสุด ยังไม่มีการสลายการชุมนุม
ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ 3 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.ระโนด อ.สทิงพระ และ อ.สิงหนคร ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 เรียกร้อง และชี้แจงให้สังคมรับทราบถึงการออกมาเคลื่อนไหวประท้วงปิดปากน้ำทะเลสาบสงขลา โดยระบุว่า เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องหลักประกันให้อาชีพประมงพื้นบ้านดำรงอยู่ต่อไปและสร้างความมั่นคงทางอาหารให้พี่น้องประชาชนทั่วไป
จากการที่รัฐบาลให้สัมปทานแก่บริษัท นิวคอสตอล ในการขุดเจาะน้ำมันบริเวณชายฝั่งทะเลอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลาเป็นระยะเวลา 16 ปี ในบริเวณที่ห่างจากฝั่งประมาณ 14-30 กิโลเมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออาชีพชาวประมงและแหล่งอาหารอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนตามที่ได้ชี้แจงพี่น้องประชาชนมาในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 และ 2 มาแล้วนั้น
พวกเราประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอ ได้แก่ ระโนด สทิงพระ และ สิงหนคร ขอชี้แจงต่อพี่น้องประชาชน ว่า โครงการขุดเจาะน้ำมันของบริษัทต่างชาตินี้เป็นโครงการที่ไม่โปร่งใส ละเมิดสิทธิชุมชนเห็นได้จากการที่อนุมัติให้ดำเนินโครงการทั้งที่ยังไม่มีการตรวจสอบผลกระทบที่ชัดเจน และจะทำให้อาชีพประมงพื้นบ้านสูญสิ้นไปจากการดำเนินโครงการในพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของชาวประมงพื้นบ้านซึ่งจับสัตว์น้ำในบริเวณนั้นมาเป็นเวลาหลายสิบปี
อันจะมีผลกระทบตั้งแต่การเริ่มขนย้ายอุปกรณ์ก่อสร้างโครงการฯติดตั้งแท่นเจาะ การดำเนินการขุดเจาะน้ำมัน การลำเลียง และกักเก็บน้ำมันซึ่งนอกจากชาวประมงไม่สามารถจับสัตว์น้ำในพื้นที่เดิมดังกล่าวได้แล้วจะส่งผลให้ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ต้องอพยพหนีไปจากแหล่งทำการประมง รวมถึงผลกระทบที่จะตามมาภายหลังการดำเนินโครงการและอาจรุนแรงขึ้นหากมีสารพิษตกค้างอยู่และสะสมในสัตว์น้ำซึ่งจะเป็นอาหารของพี่น้องประชาชนทั่วไปในเวลาต่อมา ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลปล่อยให้โครงการขนาดใหญ่ของทุนต่างชาติเข้ามารุกรานวิถีทำกินของประมงพื้นบ้าน อย่างยากที่ประเทศใดจะทำเช่นนี้นอกจากประเทศที่ไม่ต้องการให้มีชาวประมงพื้นบ้านอีกต่อไปแล้วจะให้ชาวประมงพื้นบ้านเช่นเราทำอย่างไร
เราเห็นว่า หากมีการตรวจสอบโครงการ ให้มีความโปร่งใสตรวจสอบผลกระทบที่ชัดเจน จนกระทั่งพบว่ามีความจำเป็นต้องทำโครงการจริงๆ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะให้หลักประกันด้านสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนทั่วไปและหลักประกันแก่ชาวประมงพื้นบ้านว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายน้อยที่สุดทั้งยังสามารถดำรงวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านอยู่ต่อไปได้
หากทำเช่นนี้ไม่ได้ก็ไม่มีเหตุผลที่จะให้โครงการสัมปทานขุดเจาะน้ำมันนี้ดำเนินโครงการต่อไป แต่หากทำได้หนทางที่จะทำให้วิถีประมงพื้นบ้านดำรงอยู่ต่อไป
รัฐบาลและบริษัทจะต้องสร้างหลักประกันในด้านอาชีพ เช่น พื้นที่ทำการประมง
สิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมไปถึงวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านและสุขภาพที่เกิดจากการได้รับอาหารที่ปลอดภัยอันเป็นการเชื่อมโยงไปถึงความมั่นคงทางอาหารของพี่น้องประชาชนทั่วไปที่มิได้ประกอบอาชีพประมงด้วยเช่นกัน
แต่สิ่งที่เราเรียกร้องดังกล่าวข้างต้นที่ผ่านมา รัฐบาลกลับไม่มีท่าทีรับฟังตรงกันข้ามหน่วยงานรัฐกลับพยายามเจรจาแทนบริษัท ให้พวกเรายอมรับการชดเชยค่าเสียหาย ทั้งๆ ที่ยังปราศจากเงื่อนไขประการใดที่จะควบคุมบริษัทเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
แม้แต่การเปิดเผยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนซึ่งหมายถึงการเปิดเผยการทำงานผลบริษัทว่าจะมีผลกระทบอะไรบ้างก็ไม่จัดทำไม่ให้รายละเอียดใดๆ แก่ประชาชน
ยิ่งไปกว่านั้นอย่าว่าแต่หลักประกันใดๆ ที่กล่าวมาเลยเราเห็นความพยายามปัดความรับผิดชอบของบริษัทได้จากการที่ว่าแม้หน่วยงานราชการจะพยายามเจรจาแทนบริษัทให้จ่ายค่าเสียหายแต่ทางบริษัทกลับบ่ายเบี่ยงมาตลอด
วันนี้มีการลากแท่นเจาะ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมาเพื่อเริ่มดำเนินโครงการทั้งที่บริษัทเคยชี้แจงว่าจะแจ้งล่วงหน้า 15 วัน และรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาสัญญาว่าหากบริษัทดำเนินการโดยที่ไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจนจะให้ลากอุปกรณ์ทั้งหมดกลับไป แต่ทั้งหมดนี้เป็นการโกหกทั้งสิ้นจนเราสุดที่จะทนได้แล้วบริษัทและผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดเป็นฝ่ายบีบบังคับให้เราจำเป็นต้องนำเรือมาชุมนุมทั้งที่ไม่อยากทำ จึงขอยืนยันข้อเรียกร้องต่อบริษัทผู้ดำเนินโครงการและรัฐบาลให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
1.ให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในการอนุมัติสัมปทานและควบคุมกิจการของผู้ขุดเจาะน้ำมันต้องกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการที่จะควบคุมการดำเนินงานของบริษัทตลอดจนถึงหลังการดำเนินโครงการเสร็จสิ้นว่าจะมีวิธีการอย่างไร โดยจะต้องรับฟังความคิดเห็นเปิดเผยข้อมูลทุกด้านต่อประชาชนเพื่อพิจารณาและร่วมตัดสินใจในการกำหนดมาตรการ
2.เมื่อกำหนดเงื่อนไขตามข้อ 1.ได้แล้ว ให้ออกกฎ กติกาที่จะกำหนดให้บริษัทต้องผูกพันที่จะดำเนินการตามเงื่อนไขดังกล่าวโดยต้องไปกำหนดในสัญญาสัมปทานให้หน่วยงานราชการสามารถควบคุมบริษัทตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้
3.เพื่อเป็นหลักประกันว่า การดำเนินการในอนาคตนั้นการทำมาหากินของชาวประมงพื้นบ้านต้องไม่กระทบกระเทือนจนไม่สามารถทำมาหากินได้ต้องให้ประชาชนตรวจสอบควบคุมการทำงานของบริษัทให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้หากบริษัทฝ่าฝืน
ชาวประมงพื้นบ้านมีสิทธิร้องขอให้บริษัทยุติการดำเนินงานได้ทันที
4.ในส่วนของการดำเนินโครงการฯ หากบริษัทประสงค์จะดำเนินโครงการจะต้องทำข้อตกลงเหล่านี้ให้เรียบร้อยโดยเจรจาร่วมกันระหว่างชาวประมงพื้นบ้านบริษัท และตัวแทนภาครัฐวางข้อกำหนดที่จะแก้ไขสัญญาสัมปทานเหล่านี้ให้เรียบร้อยจึงจะดำเนินโครงการต่อไประหว่างการเจรจาจะต้องยุติการทำงานใดๆ ที่จะเป็นการก่อสร้างโครงการในท้องทะเลโดยเด็ดขาด
5.นอกจากนั้น ในส่วนของค่าชดเชย ซึ่งค่าชดเชยเบื้องต้นสำหรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในระยะเริ่มก่อสร้างเท่าที่ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานราชการมาแล้ว
ขอให้บริษัทเร่งดำเนินการดังกล่าว โดยทันที
สุดท้ายนี้ขอเรียกร้องให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านยืนหยัดต่อสู้เพราะเราไม่มีอำนาจ ไม่มีวิถีทางอื่นจึงจำเป็นต้องนำเรือออกมาชุมนุมจนกว่าจะได้รับการยืนยันตามข้อตกลงที่กล่าวมาจึงขอบอกกล่าวต่อเพื่อนมิตรที่ทำการประมงว่าเราไม่มีหนทางอื่นใดที่จะแก้ปัญหาจะสร้างหลักประกันให้พ้นจากอันตราย จากการสูญเสียวิถีทำการประมง
จึงขอเรียกร้องให้ร่วมกันต่อสู้จนกว่าบริษัทและภาครัฐจะสำนึกถึงภาระความรับผิดชอบที่ต้องมีต่อสังคมและขอให้ประชาชนทั่วไปสาขาอาชีพอื่นๆ ได้เข้าใจถึงความจำเป็นในการนำเรือออกมาชุมนุมในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากการประท้วงปิดปากร่องน้ำของชาวประมงพื้นบ้านในครั้งนี้กำลังส่งผลกระทบต่อเรือขนส่งสินค้าและพลังงานในพื้นที่ ซึ่งมีกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่อาจมีการใช้กำลังสลายผู้ชุมนุม
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายได้ส่งตัวแทนและกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อหาข้อสรุป