สุดสัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 15 ที่ชะอำและหัวหิน โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้งไทย และผู้นำของอีก 6 ชาตินอกอาเซียนคือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ เข้าร่วมประชุมด้วย
เป็นการประชุมที่เลื่อนมาจาก เดือนเมษายนที่พัทยา ที่ถูกกลุ่มเสื้อแดง ใช้ความรุนแรง บุกเข้าไปขัดขวาง จนการประชุมล่ม ต้องอพยพผู้นำชาติต่างๆ ออกจากโรงแรมรอยัล คลีฟ บีช สถานที่ประชุมกันอย่างฉุกละหุก ท่ามกลางความสะใจของพวกเสื้อแดง ที่ได้ทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทยอย่างยับเยิน
การประชุมครั้งนี้ ไม่มีข่าวว่า พวกเสื้อแดงจะบุกไปชุมนุมขัดขวาง เหมือนครั้งก่อน เพราะว่า นับจากก่อเหตุที่พัทยา และเผาเมืองที่กรุงเทพ เมื่อช่วงสงกรานต์แล้ว กลุ่มเสื้อแดง ก็พาตัวเองเดินเข้าสู่จุดอับ ตกต่ำลงเรื่อยๆ จึงไม่มีขีดความสามารถพอที่จะไปชุมนุมต่อต้านที่หัวหินได้
นอกจากนั้น เพชรบุรี –หัวหิน ยังเป็นถิ่นที่กลุ่มเสื้อแดงไม่กล้าไปเหยียบ
แต่รัฐบาลก็ไม่ประมาท ประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคง ที่ชะอำ และหัวหิน เพื่อรักษาความสงบในระหว่างการประชุม
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีผู้นำชาติใด ยกเลิกการเดินทางมาร่วมประชุมด้วยตนเอง รวมทั้งนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีเขมร ที่มีข่าวปล่อยออกมาเป็นระยะๆว่า อาจจะไม่มา เพราะไม่พอใจไทย กรณีความขัดแย้งเขาพระวิหาร เผลอๆ อาจจะมาถึงเป็นคนแรก เหมือนครั้งที่แล้วก็ได้
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 15 จึงน่าจะดำเนินไปด้วยความราบรื่น วาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือ การประกาศตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียน ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่จะมีผู้แทนจาก 10 ประเทศ มีวาระ 3 ปี การหารือความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตการณ์ทางการเงิน และการส่งเสริมด้านการศึกษาในภูมิภาค
การประชุมครั้งนี้ จะมีการลงนามในเอกสารประมาณ 20 ฉบับ ที่สำคัญคือ บันทึกความเข้าใจการจัดตั้งศูนย์อาซียน – จีน และข้อตกลงเอกสิทธิ์และคุ้มกันทางการทูต ซึ่งไทยจะต้องนำเข้ารัฐสภา ให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญด้วย
หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น คือ ความเคลื่อนไหว ของภาคประชาชน ที่คัดค้านการเปิดเสรีการลงทุน ใน 3 สาขาคือ การเพาะ และขยายพันธุ์พืช การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการทำป่าไม้จากป่าปลูก โดยนักลงทุนในอาเซียน และนักลงทุนต่างชาติที่มีกิจการอยู่ในอาเซียนและต้องการขยายการลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน สามารถเข้ามาลงทุนและถือหุ้นใหญ่ในกิจการทั้ง 3 ประเภทได้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป
กลุ่มเอ็นจีโอด้านเกษตร และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ วอชท์ ได้ยื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนการเปิดเสรีใน 3 สาขาดังกล่าว
โดยทั่วไป ข้อตกลงการเปิดเสรีการค้า และการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงระดับไหน จะมีข้อยกเว้น ไม่จำเป็นต้องเปิดเสรีหมด หากเห็นว่า อุตสาหกรรมใดยังไม่พร้อม หรือเห็นว่า ถ้าเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ จะมีผลกระทบต่อประเทศอย่างรุนแรง ก็สามารถที่จะ ขอยกเว้นได้ โดยจัดให้เป็นอุตสาหกรรมหรือกิจการในสาขาที่ได้สงวนเอาไว้(Temporary Exclusion List-TEL) และสาขาที่อ่อนไหว (Sensitive List-SL) หรือข้อยกเว้นทั่วไป (General Exeption-GE)
แต่ประเทศไทยกลับไปถอน กิจการการเกษตรและการประมง ออกจากการเป็นกิจการที่อยู่ในข้อยกเว้นเสียเอง โดย คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ซึ่ งมีการประชุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 โดยมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นประธาน ให้ยกเลิกข้อสงวนของประเทศไทย 3 รายการคือ 1) การทำประมง เฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2) การทำป่าไม้จากป่าปลูก และ 3) การทำกิจการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช โดยให้ถอนข้อสงวนดังกล่าวออกจากรายการเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนได้ภายในปี พ.ศ. 2553 ตามข้อเสนอของบีโอไอ
บีโอไอ แจ้งต่อที่ประชุมกนศ.ว่าข้อเสนอให้มีการยกเลิกข้อสงวนดังกล่าว ได้จากข้อสรุปจากการจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สัมมนาให้ความรู้ รวมถึงจัดทำประชาพิจารณ์ แล้ว โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน แต่ว่า การจัดประชุมสัมมนาซึ่งใช้ชื่อว่า “การเปิดเสรีการลงทุนของอาเซียนภายใต้ความตกลง ACIA” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ 12 มิถุนายน 2552 นั้น เป็นเพียงการจัดประชุม และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการรายใหญ่ 5 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ไปลงทุนในต่างประเทศ คือ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เปเปอร์ จำกัด (มหาชน), กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยฮั้ว ยางพารา จำกัด, ผู้อำนวยการฝ่ายโอเวอร์ซี ออเปอร์เรชั่น บริษัท ไทยซัมมิท ออโตพาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด และ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย
ส่วนตัวแทนของเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมิได้รับเชิญให้ไปแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด นอกเหนือจากมิได้ฟังความคิดเห็นจากเกษตรกร และสาขาอาชีพที่จะได้รับผลกระทบแล้ว ยังไม่รับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานราชการที่มีความเห็นคัดค้าน เช่น กรณีกรมประมง ซึ่งมีความเห็นว่า การเปิด เสรีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยไม่มีการจำกัดสาขาอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และอาชีพของเกษตรกรรายย่อย และควรจะมีการศึกษาเพื่อทราบถึงผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ก่อน
กลุ่มเอฟทีเอ วอชท์ ระบุถึง ผลกระทบของการเปิดเสรีการลงทุน ใน 3สาขานี้ว่า สร้างความเสียหายยิ่งกว่าการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีที่รัฐบาลไทยในอดีตได้ลงนามกับต่างประเทศ เนื่องจากความตกลงส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีสินค้าเป็นส่วนใหญ่ มีบางส่วนเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ
1. เร่งให้เกิดกระบวนการกว้านซื้อที่ดินและเช่าพื้นที่ทำการเกษตรโดยกลุ่มทุนจากต่างชาติ เช่น การเข้ามาสัมปทานปลูกป่าในพื้นเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม พื้นที่ป่าชายเลน รวมถึงพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ เป็นการขยายความขัดแย้งปัญหาที่ดินและปัญหาการแย่งชิงน้ำในฤดูแล้งระหว่างกลุ่มทุนกับชาวบ้านจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
2. กลุ่มทุนต่างชาติจะเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรม เช่น พันธุ์ข้าวพันธุ์ไม้ผลเมืองร้อน พืชสมุนไพร ฯลฯ รวมถึงการจดทรัพย์สินทางปัญญาจากสายพันธุ์พืช ต่างชาติจะเข้ามาผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์พืช เช่น ข้าว ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรรายย่อยหลายล้านครอบครัว และต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศในระยะยาว
3. การเปิดเสรีการเพาะและขยายพันธุ์พืช ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทุนขนาดใหญ่ข้ามชาติเข้ามายึดครองอาชีพและกิจการที่คนไทยได้พัฒนามาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ จนกลายเป็นอาชีพของคนไทยเป็นจำนวนมาก เช่น ธุรกิจกล้วยไม้ของไทย ทั้งนี้โดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่จะเข้ามาใช้ประโยชน์จากฐานพันธุกรรม ภาพลักษณ์ และฐานการตลาด เบียดขับผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้พัฒนามาเป็นลำดับให้สูญหายไปเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับร้านค้าปลีกรายย่อย
4. นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน ของประเทศ เช่น ชลประทาน การพัฒนาที่ดิน การส่งเสริมการเกษตร การอุดหนุนผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการวิจัยในสาขาต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากภาษีอากรของประชาชน
ถ้าผลกระทบที่เกิดขึ้น เป็นไปตามที่ กลุ่มเอฟทีเอ วอชท์ ว่าเอาไว้ การเปิดเสรีการลงทุนครั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขการทำให้อาเซียนเป็นเขตเสรีการค้าและการลงทุน ก็เป็นเรื่องน่ากลัวกว่า กลุ่มเสื้อแดงหลายร้อยเท่า
เรื่องแบบนี้ ไม่ค่อยจะได้รับความสนใจจากคนทั่วไปเท่าไรนัก หนึ่งเพราะเป็นเรื่องที่ยากต่อการทำความเข้าใจ และไมใช่เรื่องที่เห็นผลทันที สองเป็นเรื่องที่ยังมีความเห็นต่าง จากส่วนอื่นๆของสังคม โดยเฉพาะจากกลุ่มที่มีจุดยืนเห็นด้วยกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี
ข้อคัดค้านการเปิดเสรีการลงทุนด้านเกษตรและประมง ในกลุ่มอาเซียนนี้ ทำให้มองเห็นมิติที่เขตการค้าเสรีอาเซียน ถูกใช้เป็นกลไกหนึ่งของทุนนิยมโลก