xs
xsm
sm
md
lg

อดีตนักวิชาการ FAO แนะไทย วางแผนปลูกพืชพลังงานและพืชอาหารให้ชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.ดร.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์
นักวิชาการด้านอาหารชี้ แม้น้ำมันลดราคา แต่วิกฤติอาหารและพลังงานยังไม่จบง่ายๆ แนวโน้มความต้องการใช้พลังงานยังมีสูง พืชพลังงานก็ยังเป็นที่ต้องการมากขึ้น แต่ต้องไม่ให้กระทบพืชอาหาร และต้องรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารควบคู่พลังงาน แนะให้ศึกษาทั้งระบบ วางแผนให้ชัดเจนว่าจะปลูกพืชอะไร บนพื้นที่เท่าไร พร้อมทั้งใช้งานวิจัยเข้าช่วยเพิ่มผลผลิต

เมื่อวันที่ 16 ต.ค.51 ที่ผ่านมา ศ.นพ.ดร.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ และอดีตผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและโภชนาการ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ (FAO) ได้บรรยายพิเศษเรื่อง "วิกฤติอาหารและพลังงาน: โจทย์ที่ท้าทายนักวิจัย?" ในระหว่างการประชุมสัมมนา "นักวิจัยรุ่นใหม่...พบ...เมธีวิจัยอาวุโส" ที่จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ รีสอร์ท รีเจนท์ บีช ชะอำ จ.เพชรบุรี

ศ.นพ.ดร.ไกรสิทธิ์ เผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ความมั่นคงทางอาหารเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องทำให้ประชากรเข้าถึงได้ มีเพียงพอต่อความต้องการ และต้องเป็นอาหารที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย แต่เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

"ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นมาตั้งแต่เมื่อหลาย 10 ปีก่อนแล้ว เพียงแต่เมื่อเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่งผลกระทบต่อหลายๆ ด้าน และเกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น ค่าขนส่ง และปุ๋ยมีราคาแพงขึ้นจากเดิมหลายเท่า จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเกษตรกรรมและอาหาร ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ก็ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารราคาสูงยิ่งขึ้นไปอีก" อดีต ผอ.ฝ่ายอาหารและโภชนาการ เอฟเอโอ แจงและต่อว่า

ขณะเดียวกัน เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการมองหาพลังงานทดแทนอื่นๆ ซึ่งพืชพลังงานก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในขณะนี้ ซึ่งพืชพลังงานที่ว่านี้ก็เป็นพืชที่ใช้เป็นทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์อยู่แล้ว เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง

เมื่อมีการนำพืชเหล่านี้ไปผลิตแอลกอฮอล์ ผลผลิตด้านอาหารก็ลดลง และเมื่อมีไม่เพียงพอจนเกิดวิกฤติด้านอาหาร จะมีผลต่อกลุ่มประเทศยากจนก่อนเป็นอันดับแรก แต่ยังไม่กระทบกับไทยมากนัก

"ประเทศไทยนับว่าโชคดีมาก ที่เราผลิตอาหารได้มากพอกับความต้องการภายในประเทศ และยังมีสำหรับส่งออกไปต่างประเทศ และแม้ว่าช่วงนี้ราคาน้ำมันและอาหารจะเริ่มลดลงบ้างแล้ว แต่เป็นเพียงแค่ผลในระยะสั้น เราจึงยังประมาทไม่ได้"

"ในระยะยาวยังมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอีก
แนวโน้มการเพาะปลูกพืชพลังงานก็เพิ่มสูงขึ้น หากไม่มีการวางแผนและการจัดการที่ดี แล้วหันไปปลูกพืชพลังงานตามความนิยม ปัญหารูปแบบเดิมก็จะวนเวียนกลับมาอีก" ศ.นพ.ดร.ไกรสิทธิ์ กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้ ศ.นพ.ดร.ไกรสิทธิ์ แนะว่า ควรจะต้องมีการศึกษาในเชิงลึก เพื่อคาดการณ์ปริมาณผลผลิต ต้องมีการวางแผนให้ชัดเจน กำหนดขอบเขตพื้นที่การเพาะปลูกให้แน่ชัดว่าจะปลูกพืชใด เพื่อนำไปใช้ในด้านไหน ปริมาณเท่าไร และก็ต้องศึกษาประสิทธิภาพของพืชที่จะปลูก คัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม ศึกษาวิธีการดูแลและเพิ่มผลผลิตให้ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการศึกษาวิจัยในหลายๆ ด้านประกอบกัน

สำหรับพืชอาหารก็ต้องเน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ เพราะความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพนั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน

"หน่วยงานหรือองค์กรด้านการวิจัยและพัฒนาต้องมองภาพรวมของทั้งระบบ และกำหนดทิศทาง วางแผนการวิจัย วิเคราะห์ปัญหาและวิธีแก้ไข ตั้งแต่ระดับชุมชนจนไปถึงระดับชาติ โดยไม่จำเป็นต้องรอนโยบายระดับชาติ แต่หากเราเริ่มดำเนินการศึกษาวิจัยไปก่อนแล้ว และมีแนวโน้มไปได้ด้วยดี ก็อาจพัฒนาไปจนกลายเป็นนโบายระดับชาติก็ได้ และอยากกระตุ้นให้นักวิจัยรุ่นใหม่หันมาสนใจศึกษาในเรื่องวิกฤติอาหารและพลังงานโดยมองภาพรวมทั้งระบบ" ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น