xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเจ้าภาพประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการอนุรักษ์และวิจัยช้าง 2008

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย ร่วมกับ IEF (INTERNATIONAL ELEPHANT FOUNDATION) คณะสัตวแพทยศาสตร์ และมูลนิธิ เพื่อการศึกษาหลังปริญญาสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประชุมวิชาการ นานาชาติว่าด้วยการอนุรักษ์และวิจัยช้าง 2008 เพื่อให้เกิดความสมดุล ช้าง มนุษย์ ธรรมชาติ อยู่ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เลือกแคมป์ช้างสวนนงนุช พัทยา มีความพร้อมและศักยภาพ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ช้างเอเชีย แอฟริกา

วันนี้ (24 พ.ย.) ดร.สุวิทย์ ยอดมณี ประธานมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย ได้เดินทางมาเป็นประธานในการเปิดประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการอนุรักษ์และวิจัยช้าง 2008 ร่วมกับ Mr.CHARLIE GRAY (มิสเตอร์ ชาลี เกรย์) PRESIDENT ITERNATIONAL FOUNDATION ประธานฝ่ายชาวต่างชาติ จำนวน 18 ประเทศที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ ณ ห้องประชุมริมสระ สวนนงนุชพัทยา ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ด้านสวนนงนุช พัทยา ได้จัดให้มีลูกช้าง มามอบพวงมาลัยให้กับ ด๊อกเตอร์ สุวิทย์ ยอดมณี และมีขบวนนางรำกองยาวมาให้การต้อนรับ

รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ปานเทพ รัตนากร (DR.PARNTEP RATANAKORN) เลขาธิการมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันสภาพช้างเอเชีย และช้างแอฟริกันในธรรมชาติถูกคุกคามจนตกอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ ขณะเดียวกันช้างที่ถูกเลี้ยงก็อยู่ในสภาวะขาดสวัสดิภาพที่ดีในบางแห่ง บางพื้นที่ จึงเป็นเหตุให้ต้องมีความร่วมมือ ร่วมใจกันในการจัดกิจกรรมโครงการอนุรักษ์ช้าง ทั้งในและนอกถิ่นกำเนิดทั้งเอเชีย และแอฟริกัน ควบคู่กับการศึกษาวิจัยเพื่อสนองการอนุรักษ์ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก

ทั้งนี้จะมีการนำเสนอผลงานและพิจารณาหารือเรื่องการอนุรักษ์และวิจัยเพื่ออนุรักษ์ช้างทั่วโลกเป็นประจำทุกๆปี ซึ่งในปีพุทธศักราช 2551 นี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้เชี่ยว ชาญเรื่องช้างจากทั่วโลก

ดร.สุวิทย์ ยอดมณี ประธานมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ได้เลือกสวนนงนุช พัทยา อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นสถานที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญเรื่องชาติจากทั่วโลก เพราะ ปางช้าง หรือแคมป์ช้างสวนนงนุช มีความพร้อมอย่างมาก เหมาะแก่การเชิดหน้าชูตาประเทศไทยในการเลี้ยง การอนุรักษ์ช้างไทยให้มีความสมบูรณ์ มีปัจจัยเพียบพร้อม ก่อให้เกิดความสมดุลระหว่าง ช้าง ธรรมชาติ และมนุษย์ อยู่ร่วมกันได้อย่างชนิดที่ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เป็นหัวใจสำคัญ เป็นปัจจัยสำคัญในการประชุมเพื่อให้เกิดความสมดุลสูงสุด

อีกทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านการอนุรักษ์ และงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับช้างเอเชียและช้างแอฟริกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักวิจัยและนักอนุรักษ์ช้างจากทั่วโลก เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและอนุรักษ์ช้างของประเทศไทยแก่ชาวโลก ตลอดจนแสดงผลงานต้นแบบการแก้ไขปัญหาช้างอย่างยั่งยืนให้เป็นตัวอย่างสืบไป เพื่อเผยแพร่กิจกรรม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยการใช้ช้างของประเทศไทย และการมีส่วนร่วมของชุมชน

ทั้งนี้ เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณผลงานของนักวิจัย และนักอนุรักษ์ช้างของประเทศไทยให้ประจักษ์แก่ชาวโลกเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความร่วมมือในการอนุรักษ์และศึกษาวิจัยขึ้นระหว่างนักอนุรักษ์ นักวิจัย และผู้เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง เป็นการถ่ายทอดวิทยาการความรู้ใหม่ๆจากงานวิจัยลงสู่การปฏิบัติในภาคสนาม ยังประโยชน์แก่การอนุรักษ์ช้างในธรรมชาติ

การประชุมเพื่อให้เกิดเครือข่ายนักอนุรักษ์และนักวิจัยช้างในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่มั่นคงแข็งแรงมีความสามัคคี สามารถให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้อย่างทันท่วงทีที่เกิดปัญหาช้างขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติถึงศักยภาพ ความตั้งใจอนุรักษ์ช้างตลอดจนความสามารถในการวิจัยและประยุกต์ใช้ เพื่ออนุรักษ์ช้าง โดยมีตัวอย่างต้นแบบให้นานาประเทศสามารถนำไปศึกษาและดำเนินการในระดับสากล



กำลังโหลดความคิดเห็น