พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ “สุขภาวะกับโลกที่เปลี่ยนแปลง” ทรงย้ำประชาคมโลกช่วยกันแก้ไข เผชิญภาวะโลกร้อน ด้านปลัด สธ.เผย ผลการประชุมองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2551 เรียกร้องให้ประเทศกลุ่มสมาชิก จัดทำมาตรการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มมาตรการสาธารณสุขที่เข้มแข็ง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ชี้ไทยพบโรคทางเดินอาหาร โรคนำโดยแมลงเพิ่มขึ้นจากผลกระทบภาวะโลกร้อน
วันนี้ (11 พ.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น.ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง “สุขภาวะกับโลกที่เปลี่ยนแปลง” (Health and the Changing World) เพื่อพัฒนาวิชาการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม การเสนอผลงานวิชาการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้ประกอบวิชาชีพทั้งในและต่างประเทศ ทุกภูมิภาคทั่วโลกกว่า 500 คน
ในการนี้พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ทรงประทานโล่แก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่สนับสนุนการจัดการประชุม 27 คน และประทานพระดำรัสเปิดการประชุม ว่า “การมีสุขภาพหรือสุขภาวะที่ดี เป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตและสังคม จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการเผชิญกับภาวะโลกร้อน ประชาคมโลกต้องร่วมดำเนินการแก้ไข การจัดประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ จึงถือเป็นการพัฒนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ที่จะก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง เอื้อประโยชน์สุขแก่ประชาชน และประเทศชาติต่อไป”
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กราบทูลรายงานว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลก ให้ความสำคัญต่อภาวะโลกร้อนที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง และมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขไม่เข้มแข็ง จะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้มาก ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประเทศอินเดีย ในปีนี้ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชากรของประเทศสมาชิก ซึ่งมี 11 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน เนปาล พม่า อินโดนีเซีย ภูฏาน เกาหลี มัลดีฟส์ และติมอร์-เลสเต และเรียกร้องให้รัฐมนตรีสาธารณสุขของกลุ่มประเทศสมาชิก จัดทำมาตรการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มมาตรการสาธารณสุขที่เข้มแข็ง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในประเทศไทย พบโรคทางเดินอาหารและโรคนำโดยแมลงเพิ่มขึ้น สำนักระบาดวิทยารายงานตั้งแต่มกราคม-ตุลาคม 2551 มีผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารกว่า 1.1 ล้านคน ขณะที่ปี 2550 ทั้งปีพบเพียง 1.3 ล้านคน โรคที่พบมากที่สุดร้อยละ 90 คือ อุจจาระร่วง รองลงมา คือ อาหารเป็นพิษ จะต้องเพิ่มการกวดขันเรื่องความสะอาดยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 68,235 ราย จากปี 2550 พบเพียง 65,581 ราย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรค