xs
xsm
sm
md
lg

บูธแสดง "เครื่องมือวิทย์" เจาะกลุ่มลูกค้าในแล็บ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพิทักษ์ เหลืองเรืองโรจน์ กับเครื่องมือวิทยาศาสตร์ในกลุ่มงานดูด-ปล่อยสาร
ไม่ต้องแปลกใจ หากคุณเดินชมงานแสดงเฟอร์นิเจอร์อยู่เพลินๆ แล้วหลงเข้าไปในบูธแสดงเครื่องมือวิทยาศาสตร์ แต่ไม่รู้เลยว่าอุปกรณ์เหล่านั้นใช้ทำอะไรได้บ้าง และคุณเองคงไม่คิดจะชื้อสินค้าเหล่านี้ไปตั้งโชว์ในบ้านอย่างแน่นอน แต่ก็มีบูธสินค้าเหล่านี้แสดงให้เห็นบ่อยๆ ดังนั้นเข้าไปทำความรู้จักกับเครื่องมือที่เราไม่เคยรู้จักกันดีกว่า

เช่นเดียวกับงานนิทรรศการและการประชุมวิชาการอื่นๆ ภายในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 34 (วทท.34) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ต.ค.-2 พ.ย.51 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีบริษัทเอกชนต่างๆ จัดบูธแสดงเครื่องมือวิทยาศาสตร์ จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จะนำข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือ ที่ไม่ค่อยได้พบในชีวิตประจำวันมาฝาก

นายไพบูลย์ จีรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท แอพพลายด์ ไซแอนทิฟิค อินสตรูเม้นท์ จำกัด กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เข้าร่วมแสดงเครื่องมือวิทยาศาสตร์ในงาน วทท.เป็นครั้งแรก โดยบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มากว่า 10 ปีแล้ว และปัจจุบันก็มีสินค้าที่ผลิตขึ้นเอง เป็นอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิแบบร้อน-เย็น ซึ่งบริษัทมีความเชี่ยวชาญ

ทั้งนี้บริษัทแอพพลายด์ ไซแอนทิฟิค อินสตรูเม้นท์ มีสินค้าเป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเลียม อุตสาหกรรมสีทาบ้าน อุตสาหกรรมกระดาษ อาทิ เครื่องวัดความหนืดของสี อ่างควบคุมอุณหภูมิซึ่งใช้สำหรับสารที่ต้องควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ เครื่องตรวจสอบคุณภาพกระดาษแบบครบวงจร ซึ่งมีทั้งเครื่องมือที่นำเข้าจากการเป็นตัวแทนจำหน่าย และเครื่องมือที่บริษัทผลิตเอง

“ที่ผ่านมาเราเป็นที่รู้จักของลูกค้าเอกชนอยู่แล้ว จึงอยากเปิดตัวให้อาจารย์มหาวิทยาลัย หน่วยงานราชการได้รู้จักด้วย โดยจัดแสดงสินค้าในงานนี้เพราะเห็นว่าเครื่องมือเราพร้อมแล้ว และก็มีเพื่อนๆ ในวงการแนะนำว่ามีงานสัมมนาของอาจารย์ในลักษณะนี้ ซึ่งมีคนเข้าร่วมค่อนข้างเยอะ" นายไพบูลย์กล่าว

อีกบูธที่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เยี่ยมชมคือบูธของบริษัท บูกิ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่ง น.ส.เสาวลักษณ์ บรรจบลาภ วิศวกรฝ่ายขายของบริษัท บอกกับเราว่า บูกิมีบริษัทแม่อยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ โดยสินค้าของปฏิบัติคือเครื่องมือที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีเครื่องกลั่นระเหยแบบหมุนเป็นผลิตภัณฑ์เด่น ทั้งนี้บูกิเป็นบริษัทที่ผลิตเครื่องกลั่นนี้ได้เป็นแห่งแรกในโลก ตั้งแต่ปี 2500 และได้พัฒนาเครื่องกลั่นระเหยเรื่อยมา

“เครื่องกลั่นระเหยสารใช้แยกสารสองชนิดหรือมากกว่าโดยอาศัยจุดเดือดของสาร ซึ่งใช้กลั่นสมุนไพรหรือแยกสารละลาย โดยเครื่องจะแยกสารตัวใดตัวหนึ่งไว้ ซึ่งระยะเวลาในการกลั่นขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของสาร" น.ส.เสาวลักษณ์กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์

เธอบอกด้วยว่า บริษัทร่วมจัดแสดงสินค้าในงาน วทท.เป็นปีที่สองแล้ว ซึ่งทำให้ลูกค้าได้รู้จักบริษัทมากขึ้น โดยลูกค้าของบริษัทมีทั้งภาคเอกชนและราชการ ในส่วนของหน่วยงานราชการก็จะเป็นภาควิชาเคมีของมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน เช่น โรงงานผลิตเครื่องสำอาง หรือโรงงานอาหารทะเลที่ต้องสกัดสารสำหรับเตรียมเครื่องมือพื้นฐาน เป็นต้น

ด้านนายพิทักษ์ เหลืองเรืองโรจน์ เจ้าหน้าที่จาก บริษัท แบงเทรดดิ้ง 1992 จำกัด ซึ่งร่วมเปิดบูธแสดงอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ภายในงาน ววท.34 กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า บริษัทนำเข้าอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เป็นบริษัทแรกๆ ในเมืองไทยมาได้กว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันก็มีบริษัทลักษณะคล้ายๆ กันหลายร้อยบริษัท

สำหรับสินค้าของบริษัทแบงเทรดดิ้งมีหลากหลาย อาทิ วัสดุจำพวกกระดาษหรือวัสดุเมมเบรน ซึ่งมีกระดาษเก็บดีเอ็นเอที่สามารถเก็บดีเอ็นเอได้นาน 16 ปี เป็นสินค้าเด่น อุปกรณ์เครื่องแก้วและพลาสติก ซึ่งใช้ในงานทางด้านเคมีและชีววิทยา เช่น ถังน้ำกลั่น ถังเลี้ยงสาหร่าย ถังหมักจุลินทรีย์ สินค้าในกลุ่มงานดูด-ปล่อยสาร เช่น ไมโครปิเปต (micropipet) ซึ่งใช้ในห้องปฏิบัติการเคมี จุลชีววิทยาและดีเอ็นเอ เป็นต้น

"หากคนที่เดินชมงานเฟอร์นิเจอร์อยู่ หลงเข้ามาในบูธแสดงเครื่องมือวิทยาศาสตร์ คงงงว่าอะไร แต่สำหรับคนในวงการเขารู้กันอยู่แล้ว เห็นก็รู้" นายพิทักษ์กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ และเผยว่าทางบริษัทร่วมเปิดบูธกับงาน ววท.มาหลายปีแล้ว ซึ่งหากเป็นบริษัทที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้วก็จะได้รับเชิญ โดยค่าเช่าบูธประมาณ 4-5 หมื่นบาท และหากจัดงานดีๆ จะได้ลูกค้าเยอะ ซึ่งลูกค้าของบริษัทคือหน่วยงานที่มีงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ อาทิ มหาวิทยาลัย สถาบันวิทยาศาสตร์ และ โรงงานต่างๆ เป็นต้น

สำหรับงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดขึ้นโดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระราบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรัฐทั้งส่วนกลางและภูมิภา 24 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดงานทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โดยปี 2551 นี้ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นเจ้าภาพจัดงาน.
ถังหมักและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ของแบงเทรดดิ้ง
อุปกรณ์วิทยาศาสตร์จำพวกวัสดุกระดาษและเมมเบรนในบูธของแบงเทรดดิ้ง
นายไพบูลย์ จีรัตน์กับอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิของบริษัทแอพพลายด์ ไซแอนทิฟิค อินสตรูเม้นท์ส
น.ส.เสาวลักษณ์ บรรจบลาภ กับเครื่องกลั่นแยกสาร ซึ่งเป็นอุปกรณ์เด่นของบริษัทบูกิ
กำลังโหลดความคิดเห็น