xs
xsm
sm
md
lg

นักโลหะวิทยา เสนองานวิจัยหนุนไทยเข้มแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ผศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร
นักโลหะวิทยาเสนองานวิจัย หนุนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรม ชูตัวอย่างปรับปรุงชิ้นส่วนโลหะในโรงปิโตรเคมีชิ้นละ 3.5 ล้านบาทที่ต้องทิ้งทุกปี แต่มีวิธีซ่อมด้วยเงินเพียง 3.5 แสนบาท ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมและมาตรฐานการศึกษาตามโจทย์รัฐบาล

ภายในงานประชุมวิชาการทางโลหะวิทยาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 26 ต.ค.52 ณ โรงแรมเซ็นจูรี ปาร์ค ผศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและเทคโนโลยีการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนักโลหะวิทยารุ่นใหม่ดีเด่น ประจำปี 2551 กล่าวถึงการเสริมนโยบายปฏิบัติการไทยเข้มแข็งด้วยงานวิจัยด้านโลหะวิทยา

ผศ.ดร.สมฤกษ์ได้อธิบายให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ฟังว่า ในเป้าหมายปฏิบัติการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลนั้น ได้กล่าวถึงการเพื่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และการยกระดับคุณภาพการศึกษา จึงเกิดคำถามว่า นักวิจัยด้านโลหะวิทยาจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งมีตัวอย่างงานวิจัยที่เขาได้ลงมือทำและตอบโจทย์ดังกล่าวดังต่อไปนี้

กรณีแรก คือการปรับปรุงชิ้นส่วนโลหะในโรงปิโตรเคมี ซึ่งถูกกัดกร่อนที่อุณหภูมิสูง และบริษัทเจ้าของโรงปิโตรเคมีต้องทิ้งชิ้นส่วนโลหะดังกล่าว ที่มีมูลค่าถึง 3.5 ล้านบาททุกปี เนื่องจากไม่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ จึงเกิดคำถามว่าจะปรับปรุงชิ้นส่วนดังกล่าวได้อย่างไร แล้วได้คำตอบว่าสามารถนำชิ้นส่วนโลหะที่เสียนั้นไป "เชื่อมพอก" ด้วยโลหะแข็งที่มีโครเมียมเป็นวัสดุหลัก ก็สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ด้วยค่าซ่อมเพียง 3.5 แสนบาท

อีกกรณี คือการแก้ปัญหาสนิมที่เกิดจากการ "รีดร้อน" เหล็กด้วยอุณหภูมิสูง ซึ่งทำให้ไม่สามารถ "รีดเย็น" เหล็กที่อุณหภูมิห้องให้บางลงตามที่ต้องการได้ เนื่องจากสนิมจะกดลงเนื้อโลหะ จึงต้องมีกระบวนการ "กัดกรด" เพื่อกำจัดสนิมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการรีดร้อน แต่การกัดกรดนั้น ทำได้ยากหรือง่ายขึ้นอยู่กับชนิดของสนิมที่เกิดขึ้น

ดังนั้นทีมวิจัยของ ผศ.ดร.สมฤกษ์จึงได้ปรับตัวแปรในกระบวนการรีดร้อน เพื่อให้เกิดสนิมที่สามารถกัดกร่อนได้ง่ายขึ้น โดยได้รับความร่วมมือกับ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสทรี จำกัด ให้เข้าไปทำวิจัยในโรงงานได้ ซึ่งเป็นการตอบโจทย์นโยบายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคอุตสาหกรรม และยังเป็นการยกระดับการศึกษา โดยทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งโครงการปริญญาเอกโดยมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศสผลิตนักศึกษาที่ทำวิจัยแก้ปัญหานี้

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาพลังงานทางเลือก โดยพัฒนาชิ้นส่วนโลหะที่ใช้ในเซลล์เชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนด้วยก๊าซชีวภาพ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีการสาธิตในต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ฝรั่งเศส แต่ยังไม่มีการใช้งานจริง ซึ่งเซลล์เชื้อเพลิงชนิดนี้ช่วยตอบปัญหาเรื่องหาสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนไม่ได้ และยังเป็นเชื้อเพลิงที่มีมากในเมืองไทย

สำหรับงานวิจัยทางด้านเซลล์เชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนด้วยก๊าซชีวภาพนี้ ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ส่งนักศึกษาไปทำวิจัยเพื่อพัฒนาชิ้นส่วนโลหะสำหรับใช้กับเซลล์เชื้อเพลิงชนิดนี้ แต่เป้าหมายใหญ่คือการพัฒนาทุกส่วนของเซลล์เชื้อเพลิงชนิดนี้ได้

งานประชุมวิชาการทางโลหะวิทยาแห่งประเทศไทยครั้งนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยมหาวิทยาลัยที่มีงานวิจัยและการเรียนการสอนทางด้านโลหะวิทยาเวียนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งปีนี้ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นเจ้าภาพจัดงานขึ้นระหว่าง 26-27 ต.ค.52 ณ โรงแรมเซ็นจูรี ปาร์ค โดยการสนับสนุนของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยและศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)
ผู้เข้าร่วมประชุมโลหะวิทยา
กำลังโหลดความคิดเห็น