xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.เร่งดันหลักสูตรประวัติศาสตร์ เล็งตั้งแหล่งทัศนศึกษา 4 แห่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สพฐ.ร่างแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ เร่งตั้งแหล่งรวบรวบข้อมูลและทัศนศึกษาทางประวัติศาสตร์ 4 แห่ง

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากการหารือกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่องการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการเรียนการสอนสังคมศึกษา เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และสังคมศึกษา เบื้องต้นเกี่ยวกับจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ มุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตร ครูและสื่อการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่ง สพฐ.กำลังพิจารณาให้โรงเรียนสอนวิชาประวัติศาสตร์สัปดาห์ละ 1 คาบ และจัดตั้งศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนสังคมศึกษาเพื่อทำหน้าที่พัฒนาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และสังคมศึกษา ทั้งนี้จะมอบให้โรงเรียนขนาดใหญ่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ เบื้องต้นจะจัดตั้งจังหวัดละ 1 ศูนย์ ในอนาคตจะจัดตั้งให้ได้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ละ 1 ศูนย์

ทั้งนี้ ยังได้มีหารือกันถึงการจัดตั้งแหล่งรวบรวมข้อมูลและทัศนศึกษาทางประวัติศาสตร์ เบื้องต้นพิจารณาไว้ 4 จุด ได้แก่ 1.อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จ.สุโขทัย 2.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 3.อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ และ 4.ภาคใต้ อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเลือกสถานที่แห่งไหน

“สพฐ.จะจัดงบสนับสนุนให้แก่โรงเรียนขนาดใหญ่ทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและทัศนศึกษาทางประวัติศาสตร์ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เมื่อครูและนักเรียนมาทัศนศึกษา จะได้เข้าอบรมความรู้และได้รับข้อมูลแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในพื้นที่ อย่างไรก็ดี ถ้าหากมีพื้นที่อาจจะทำเป็นหอพักเพื่อให้ครูและนักเรียนได้เข้าพักระหว่างทัศนศึกษาด้วย ซึ่งคาดว่าปีนี้จะดำเนินการได้ใน 2 จุด”

คุณหญิงกษมา กล่าวต่อว่า จะจัดทำแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์เสมือนจริงบรรจุลงในเว็บไซต์ของ สพฐ.เพื่อให้ครูและนักเรียนที่ไม่มีโอกาสไปทัศนศึกษาเข้าไปชมและหาความรู้ และให้แต่ละ สพท.จัดทำคู่มือเรียนรู้ประวัติศาสตร์ระดับท้องถิ่นและระดับชาติที่มีอยู่ในจังหวัด ซึ่งไม่ใช่มีเนื้อหาแค่แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ แต่ต้องให้ความรู้ทางวิชาการด้วยเพื่อให้ครูและนักเรียนจากจังหวัดอื่นๆ ที่มาทัศนศึกษาได้นำคู่มือนี้กลับไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนได้ด้วย

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ทาง สพฐ.ได้ทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการเรียนการสอนสังคมศึกษา ถ้ามีแผนยุทธศาสตร์รองรับ จะทำให้ สพฐ.ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเพราะการอบรมพัฒนาครู เช่น การให้ครูสอนวิชาประวัติศาสตร์มีโอกาสมาทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และพัฒนาสื่อการสอน จะต้องใช้งบจำนวนมาก ที่สำคัญ ต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ถ้าทำจัดแผนยุทธศาสตร์นี้เสร็จเรียบร้อยแล้วจะเสนอของบประมาณจากรัฐบาลต่อไป” คุณหญิงกษมา กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น