อาสาสมัครดำน้ำกว่า 100 คน ร่วมมอบความรักในวันวาเลนไทน์สู่ทะเลภูเก็ตดำน้ำเก็บขยะ-ดาวหนามมงกุฎ ตามโครงการ “ชายหาดสะอ้าน บ้านปลาสะอาด” หวัดลดปริมาณขยะ-ดาวหนามมงกุฎสร้างความสวยงามให้แนวปะการัง
วันนี้ ( 14 กุมภาพันธ์ 2552) ที่บริเวณท่าเทียบเรือ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน เป็นประธานเปิดกิจกรรมดำน้ำเก็บดาวหนามมงกุฎ และทำความสะอาดแนวปะการัง บริเวณเกาะเฮ เกาะแอว และเกาะไม้ท่อน ภายใต้โครงการบริหารจัดการขยะในทะเล “ชายหาดสะอ้านบ้านปลาสะอาด” ซึ่งทางสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ร่วมกับศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (จ.ภูเก็ต) จัดขึ้น โดยมีอาสาสมัครจากชมรมดำน้ำกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อาสาสมัครจากชมรมดำน้ำกรีนฟิน สมาคมดำน้ำพระนครเหนือ อาสาสมัครชายเลราไวย์ และอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่ รวมจำนวนประมาณ 100 คน ซึ่งเป็นการมอบความรักเนื่องในวันวาเลนไทน์ให้กับทะเลภูเก็ต สำหรับการจัดเก็บขยะและดาวมงกุฎหนามในครั้งนี้จะดำน้ำ 3 ไดฟ์ด้วยกัน และจะกลับเข้าฝั่งในเวลาประมาณ 17.00 น.
นายไพทูล แพนชัยภูมิ หัวหน้าศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (จ.ภูเก็ต) กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อรณรงค์รักษาความสะอาดใต้ท้องทะเล ลดปริมาณขยะและดาวมงกุฎหนามซึ่งเป็นศัตรูที่สำคัญในการทำลายปะการัง หลังการจัดเก็บจะทำให้ปะการังมีโอกาสฟื้นตัว ทำให้ทัศนียภาพใต้ทะเล บริเวณชายหาดมีความสวยงามเป็นที่ประทับใจแก่นักท่องเที่ยว ป้องกัน และฟื้นฟูแนวปะการังที่ได้รับความเสียหายจากการปกคลุมของขยะ ช่วยสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของประชาชน กลุ่มในพื้นที่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งให้มากขึ้น
ในขณะที่นายวรรณเกียรติ กล่าวว่า เป้าหมายของการจัดกิจกรรมเพื่อกำจัดดาวมงกุฎหนาม ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญที่ทำลายแนวปะการัง ซึ่งขณะนี้กำลังระบาดอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้นหากไม่มีการทำลายก็จะทำให้แนวปะการังในบริเวณดังกล่าวเสื่อมโทรม เพราะดาวมงกุฎหนามจะดูดกินเนื้อเยื่อปะการังที่มีชีวิต ส่งผลให้ปะการังตาย และไม่มีโอกาสฟื้นฟูกลับได้อย่างเดิม วิธีการเดียวที่เป็นวิธีที่ดีและได้ผลมากที่สุดที่สามารถทำลายสัตว์ชนิดนี้ได้ คือ การนำดาวมงกุฎหนามขึ้นจากใต้ทะเล และตากแดดบนฝั่ง ก่อนที่จะนำไปทำลายซากโดยการฝัง เพราะหากไปทำลายในทะเล เท่ากับเป็นการเพิ่มจำนวนของดาวมงกุฎหนาม เนื่องจากสัตว์ชนิดนี้เติบโตด้วยการแบ่งตัวและแตกหน่อ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการการเก็บดาวมงกุฎหนามแล้วประมาณ 300 ตัว