ศูนย์ข่าวภูเก็ต - จังหวัดภูเก็ตจัดเก็บขยะ-ปลาดาวมงกุฎหนาม บริเวณเขตรักษาพืชพันธ์ เกาะเฮ เกาะแอว เกาะไม้ท่อน เปิดรับอาสาสมัครเข้าร่วมดำเนินการ 14 ก.พ.นี้ คาดจัดเก็บปลาดาวมงกุฏหนามได้ไม่น้อยกว่า 400 ตัว
นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 กล่าวถึงการจัดโครงการ “จัดเก็บขยะ-ปลาดาวมงกุฎหนาม บริเวณเขตรักษาพืชพันธุ์ บริเวณเกาะเฮ เกาะแอว เกาะไม้ท่อน อ.เมือง จ.ภูเก็ต” ว่า หลังจากมีการสำรวจพบว่าบริเวณ เกาะเฮ เกาะแอวและเกาะไม้ท่อน อ.เมือง จ.ภูเก็ต มีการระบาดของปลาดาวมงกุฎหนาม รวมทั้งจำนวนขยะใต้ทะเลบริเวณดังกล่าวมีจำนวนมาก ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
โดยศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (จ.ภูเก็ต) สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล แลป่าชายเลน อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรปะการัง ชมรมนักดำน้ำกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองเรือภาคที่ 3 กองกำกับการตำรวจน้ำภูเก็ตและเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต
จึงได้ร่วมกันจัดโครงการจัดเก็บขยะ-ปลาดาวมงกุฎหนาม บริเวณเขตรักษาพืชพันธ์ขึ้น เพื่อรณรงค์รักษาความสะอาดใต้ท้องทะเลและร่วมกันเก็บขยะที่ปกคลุมบนแนวปะการังใต้ทะเล ซึ่งจะทำให้ปะการังมีโอกาสฟื้นตัวและทำให้ทัศนียภาพใต้ทะเล และบริเวณชายหาดมีความสวยงามเป็นที่ประทับใจแก่นักท่องเที่ยว ช่วยสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วม ของประชาชนในพื้นที่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งให้มากขึ้น รวมทั้งลดจำนวนปลาดาวมงกุฎหนามที่กำลังระบาด และขยะบริเวณแนวปะการังให้น้อยลง
สำหรับโครงการดังกล่าวนั้นจะจัดขึ้นในวันที่ 14 ก.พ.2552 ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการรับสมัครอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการโดยรับไม่จำกัดจำนวน และคาดว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะมีอาสาสมัครเข้าร่วมดำน้ำเก็บขยะและปลาดาวมงกุฎหนามไม่น้อยกว่า 100 คน จัดเก็บปลาดาวมงกุฎหนามได้ไม่น้อยกว่า 300-400 ตัว ส่วนจำนวนขยะคาดว่าจะสามารถจัดเก็บได้จำนวนมากเช่นกัน ในพื้นที่ 3 เกาะ คือ เกาะแอว เกาะเฮ และเกาะไม้ท่อน ผู้สนใจจะสมัครเข้าร่วมโครงการติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 หมายเลขโทรศัพท์ 0-7639-3566-7
นายไพทูล กล่าวต่อว่า พื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันมีทรัพยากรแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย วางไข่ และเลี้ยงตัวของสัตว์น้ำวัยอ่อน ของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจ เป็นแหล่งประกอบอาชีพประมง นอกจากนี้แนวปะการังยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้เกิดการสร้างงานและทำรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น และประเทศเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท
แต่สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังอย่างหนึ่งคือ การทิ้งขยะของเสียลงทะเลและบริเวณชายฝั่ง ทั้งจากชุมชน บ้านเรือน จากเรือท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว และจากการทำการประมง ขยะเหล่านี้ได้แก่ เศษพลาสติก เศษแก้ว โฟม เศษวัสดุก่อสร้าง เศษอวน เศษเครื่องมือประมง เชือก เอ็นตกปลา ฯลฯ รวมถึงขยะที่อยู่ตามชายฝั่ง เมื่อถูกลมพัดลงสู่ทะเลจะปกคลุมทับถมบนแนวปะการัง ทำให้ปะการังแตกหัก หรือทำให้ปะการังตายในที่สุด และส่งผลต่อทัศนียภาพใต้ท้องทะเล ขาดความสวยงาม ขยะต่างๆ เหล่านี้นับวันจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ถ้าหากไม่มีการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล และกิจกรรมทางด้านการท่องเที่ยว