xs
xsm
sm
md
lg

ชุมชน “บางลาภูเก็ต”จัด “สานใยรัก คนรักษ์ป่า” วันวาเลนไทน์บ้านบางลาป่าเลนสมบูรณ์พบ “นากทะเล” หายไป 20 ปีเริ่มกลับมา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ชุมชนบ้านบางลา ภูเก็ตจัดโครงการ “สานใยรัก คนรักษ์ป่า” เนื่องในวันวาเลนไทน์ หวังเพิ่มความสมบูรณ์ให้ป่าชายเลน คุยพบสัตว์ที่เคยสูญหายไปกว่า 20 ปีกลับมาให้เห็นอีกครั้งทั้งนากทะเล-นกนานาชนิด


นายพิเชษฐ์ ปานดำ ผู้ประสานงานโครงการความมั่นคงทางด้านอาหารชุมชนชายฝั่งอ่าวพังงา และนายชอบ การะนาม ผู้ใหญ่บ้านบางลา หมู่ที่ 8 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ร่วมกันเปิดเผยถึงการจัดโครงการ “สานใยรัก คนรักษ์ป่า” เนื่องในวันแห่งความรักหรือวันวาเลนไทน์ ว่า ชุมชนบ้านบางลา หมู่ที่ 8 ร่วมกับศูนย์ประสานงานความมั่นคงทางด้านอาหารชุมชนชายฝั่งอ่าวพังงา จัดโครงการ “สานใยรักษ์ คนรักษ์ป่า” ร่วมกันปลูกป่า เนื่องในวันแห่งความรักหรือวันวาเลนไทน์ โดยจะจัดขึ้นในที่ 14 ก.พ 52 การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนในพื้นที่ ให้มีความสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ป่าชายเลนบ้านบางลานั้นตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนคลองท่าเรือ ตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ป่าสงวนแห่งชาติผืนนี้มีเนื้อที่ทั้งหมด 3,181ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านผักฉีด บ้านยามู บ้านบางลา ต.ป่าคลอก อ.ถลาง ชุมชนบ้านท่าเรือ ต.ศรีสุนทร และชุมชนบ้านเกาะแก้ว ต.เกาะแก้ว อ.เมือง จ.ภูเก็ต และตั้งแต่รัฐมีนโยบายส่งเสริมการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ป่าชายเลนผืนนี้ได้ถูกบุกรุกทำลายลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันเหลือพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 1,200 ไร่ และครอบคลุมเพียง 3 ชุมชน (บางลา ผักฉีด ยามู) เท่านั้น

ทั้งนี้ การคงเหลืออยู่ของป่าชายเลนผืนนี้ เกิดขึ้นจากการลุกขึ้นมาปกป้องของชุมชนบ้านบางลาตั้งแต่ พ.ศ.2537 จนถึงปัจจุบัน ทั้งการเฝ้าระวัง ตรวจตรา การฟื้นฟู และการจัดการป่าชายเลนในรูปแบบป่าชุมชน ในพื้นที่กว่า 800 ไร่ ซึ่งจากกระบวนการต่อสู้ดังกล่าวชุมชนบ้านบางลาได้รับพระราชทานธงราษฎรอาสาพิทักษ์ป่าชายเลน จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในปี 2543 ยังผลให้ป่าชายเลนและฐานทรัพยากรชายฝั่งในอ่าวทะเลหน้าบ้านมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น สัตว์หายากที่เคยสูญหายไปจากชุมชนกว่า 20 ปีได้กลับเข้ามาพึ่งพิงและอาศัยร่มเงาของป่าชายเลนผืนนี้อีกครั้งหนึ่ง ดังเช่น ฝูงนากทะเลกว่า 10 ตัว รวมถึงนกชนิดพันธุ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาอาศัยในป่าชายเลน นอกจากนี้ป่าชายเลนผืนนี้ยังเป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชน หมู่บ้านข้างเคียง และแรงงานรับจ้างทั้งชาวไทย และชาวพม่า ทั้งการเก็บหอย หาปลา หากุ้ง ตกปูดำ หรือการหาสมุนไพรของหมอยาประจำหมู่บ้าน เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปัญหาการบุกรุกทำลายป่าชายเลนมิได้จบสิ้นลงแต่อย่างใด ทั้งนี้สืบเนื่องจากการพัฒนาสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง การเกิดขึ้นของหมู่บ้านจัดสรร ตลอดจนการขยายตัวของการท่องเที่ยว เช่น การสร้างท่าเทียบเรือยอช์ท รวมถึงการบุกรุกพื้นที่ของคนในชุมชนเองเพื่ออ้างสิทธิการครอบครองและขายต่อให้กับกลุ่มนายทุนที่เข้ามากว้านซื้อที่ดิน ฯลฯ

ส่งผลพื้นที่ป่าชายเลนผืนนี้ถูกคุกคามอยู่ตลอดเวลา และถึงแม้ว่าชุมชนจะมีความเข้มแข็ง และเอาจริงเอาจังในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชายเลนและทรัพยากรชายฝั่ง แต่ชุมชนมีข้อสรุปร่วมกันว่า ในการรักษาป่าชายเลนและทรัพยากรชายฝั่งที่ยั่งยืนนั้น จำเป็นจะต้องมีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปลูกป่าเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ที่เสื่อมโทรม และเพิ่มความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพให้กับป่าชายเลน การเฝ้าระวังการบุกรุก ฯลฯ และจำเป็นจะต้องขยายความคิด การสร้างพื้นที่ ช่องทางให้คนจากภาคส่วนต่างๆเข้ามาร่วมเรียนรู้และร่วมรังสรรค์กิจกรรมดังกล่าวให้มากขึ้น เพื่อสร้างความสัมพันธ์และเครือข่ายทางสังคมขึ้น

“สมาชิก ชมรม หรือเครือข่ายคนรักษ์ป่าชายเลน” พร้อมกันนี้ชุมชนบ้านบางลา ได้จัดเปิดอาคารศูนย์การเรียนรู้ชุมชนขึ้นโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการ SMLของจังหวัดภูเก็ต เป็นจำนวนเงิน 350,000 บาท เพื่อเป็นสถานที่ในการแลกเปลี่ยน เผยแพร่ ศึกษาความสำคัญและกระบวนการปกป้องรักษาป่าชายเลนของชุมชนบ้านบางลา ทั้งนี้เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ “ชุมชนคนรักษ์ป่าชายเลน” ให้ยั่งยืนสืบไปในอนาคต”
กำลังโหลดความคิดเห็น