xs
xsm
sm
md
lg

รมช.พาณิชย์ลงใต้ถกปัญหาฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงพื้นที่จังหวัดยะลาเรียกพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชุมมอบนโยบายแก้ไขปัญหาฟื้นฟูเศรษฐกิจ

วันนี้ (6 ก.พ.) ที่บริเวณมูลนิธิแม่กอเหนี่ยวยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อเป็นประธานในการเปิดงานแห่พระลุยไฟ ประจำปี 2552 ของมูลนิธิก่อเหนี่ยวยะลา โดยมีนายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายกฤษฏา บุญราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา (ฝ่ายความมั่นคง) นายเดชรัฐ สิมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา นายนิอันนุวา สุไลมาน พาณิชย์จังหวัดยะลา และ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่จังหวัดยะลา ร่วมให้การต้อนรับ

สำหรับงานสมโภชแห่พระของมูลนิธิแม่กอเหนี่ยวจังหวัดยะลา มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 -10 ก.พ.52 การจัดงานในครั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งมูลนิธิแม่กอเหนี่ยว และเพื่อให้ประชาชนชาวยะลา และจังหวัดใกล้เคียง ได้มีโอกาสมาร่วมกันทำบุญทำกุศล เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เสริมสร้างสุขภาพจิตให้ผ่องใส มีขวัญกำลังใจในการต่อสู้กับสภาวะที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา

หลังจากเปิดงานแล้วนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เรียกนายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา พาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือเพื่อมอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ ที่ประสบปัญหาอย่างหนัก เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กินดีอยู่ดี เมื่อเศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้นจะส่งผลทำให้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเดินทางลงมาในพื้นที่ จ.ยะลา ในครั้งนี้ได้เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อที่จะกำหนดแนวทางยุทธ์ศาสตร์ในบทบาทของกระทรวงพาณิชย์ ต่อการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และการพัฒนา พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายมุ่งที่จะใช้ การค้านำการเมือง เมื่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้นแล้ว สถานการณ์ที่เป็นความขัดแย้งหรือความไม่สงบก็น่าที่คลี่คลายลงไปได้

พร้อมทั้งใช้ศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัด ในการพัฒนาขยายการค้าและเศรษฐกิจ ร่วมกับทางโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเกราะการร่วมมือทางเศรษฐกิจ ตลอดแนวชายแดนของทั้ง 2 ประเทศ และ มีการเชื่อมโยงกับ ประเทศอินโดนีเซียอีกทางหนึ่งด้วย เพราะฉะนั้น การเพิ่มความสะดวกในด้านการค้านั้น เช่นการพัฒนาด่านชายแดน และ เปิดให้มากที่สุด เพื่อ ให้เป็นเสมือนประตู ของการค้าและการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่นักธุรกิจแปรรูปไม้ยางพาราในพื้นที่ จ.ยะลา ได้เสนอให้ช่วยหาตลาดรองรับผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผลิต ทางกระทรวงพาณิชย์จะนำเรื่องที่ได้รับทั้งหมด ไปหารือกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในด้านของชุดโต๊ะเก้าอี้ สำหรับทำการเรียนการสอน ส่วนเรื่องของอุตสาหกรรมไม้ยางพารานั้น ก็จะใช้หลักโดยให้โรงเรียน สั่งชุดโต๊ะเก้าอี้ จากในพื้นที่เป็นหลัก รวมทั้งการนำสินค้าเกี่ยวกับไม้ยางพารา ให้เกิดการซื้อขายภายในประเทศให้มากยิ่งขึ้นและเชื่อว่าสามารถดำเนินการได้ รวมทั้งการประสานงานนำสินค้าจากอุตสาหกรรมยางพารา ส่งออกไปยังต่างประเทศ ในกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ

ส่วนด้านอาหารนั้น สินค้าฮาลาล เป็น CENTER โดย จ.ปัตานี จะเป็นศูนย์กลางของ สินค้าฮาลาล โดยมี จ.ยะลา เป็นแหล่งผลิต วัตถุดิบ ที่มีความสำคัญ ในการที่จะเชื่อมโยง ระหว่างกัน มีการพัฒนาเฟรนชายต่างๆ ให้มีการพัฒนารูปแบบมากขึ้น มีความน่าสดใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งตนเองคาดว่าปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะดีขึ้นในอีกระดับหนึ่ง และทางกระทรวงพาณิชย์ยังได้มีแนวนโยบาย โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ดำเนินการเชิงรุก เพื่อสร้างประสิทธิภาพของสินค้า หรือผลผลิตทางการเกษตร ที่มีลักษณะเด่น สามารถขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือที่เรียกว่า จีไอ ที่จะทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งสำหรับ จ.ยะลาก็จะมีกล้วยหินบันนังสตา ส้มโชกุนยะลาและไก่เบตง ที่จะมีการสร้างแบรนด์สาธารณะ แนวทางนี้ก็จะเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้า

โดย จ.ยะลา ก็จะนำร่องสินค้า 3 ชนิดนี้ ส่วน จ.ปัตตานีก็จะมีข้าวเล็บนกและบูดูสายบุรี จ.นราธิวาส ก็จะเป็นลองกองตันหยงมัส ที่จะเข้ามาอยู่ในการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า ตนเชื่อว่าทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็จะช่วยเปิดช่องทางด่วนพิเศษให้กับทาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการขึ้นทะเบียน เพื่อจะได้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับท้องถิ่น





กำลังโหลดความคิดเห็น