xs
xsm
sm
md
lg

DSI เร่งสำนวนสอบจัดซื้อบีอาร์ทีส่ง ป.ป.ช.ก่อนสิ้นปี

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)
ดีเอสไอเร่งสรุปสำนวนคดีจัดซื้อรถบีอาร์ที มูลค่า 300 ล้าน หากพบเกี่ยวพันเจ้าหน้าที่รัฐจะส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.สิ้นปีนี้ ชี้หาก กทม.ยังเดินหน้าสานต่อโครงการอาจต้องเสียค่าโง่ได้ ขณะที่อดีตปลัด กทม.นำหลักฐานมอบให้ดีเอสไอพิจารณาถึงช่องทางที่ส่อทุจริตโดยการล็อกสเปกสินค้า

วันนี้ (27 ต.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ประเวศ มูลประมุก ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีความไม่โปร่งใสในการประกวดราคาจัดซื้อรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษของกรุงเทพมหานคร (BRT) จำนวน 45 คัน มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท เปิดเผยว่า ดีเอสไอได้ทยอยเรียกข้าราชการกรุงเทพมหานครที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการรถบีอาร์ที ทั้งในส่วนของการกำหนดทีโออาร์เกี่ยวกับสเปคของรถยนต์และการก่อสร้างสถานีโดยสาร การประกวดราคา การจัดซื้อจัดจ้าง เข้าให้ข้อมูลต่อพนักงานสอบสวน โดยที่ผ่านมาได้เรียก ผอ.สำนักขนส่งเข้าให้ข้อมูลแล้ว ขณะนี้พนักงานสอบสวนยังรอเอกสารเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับการประมูลและสัญญาต่างๆ ของโครงการจาก กทม.อีก 1 ชุด โดยภายหลังเสร็จสิ้นการเข้าให้ข้อมูลของข้าราชการประจำ พนักงานสอบสวนจะเชิญนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการ กทม.เข้าให้ข้อมูล

พ.ต.อ.ประเวศ กล่าวอีกว่า ดีเอสไอจะเร่งตรวจสอบข้อมูลในโครงการรถบีอาร์ทีให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นปี 2551 ดังนั้น พนักงานสอบสวนอาจจะตัดพยานปากไม่สำคัญออกไปบ้าง โดยจะเรียกสอบเฉพาะพยานที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนหลักๆ ของโครงการบีอาร์ทีเข้าให้ข้อมูลเท่านั้น หากข้อมูลจากการตรวจสอบพบมูลความผิดโดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ดีเอสไอจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

พ.ต.อ.ประเวศ กล่าวถึงกรณีที่ในระหว่างการสอบสวน กทม.ยังเดินหน้าสานต่อโครงการบีอาร์ที ว่า การชะลอโครงการเป็นดุลพินิจของ กทม.ซึ่งพนักงานสอบสวนไม่อาจเข้าไปสั่งการได้ แต่เห็นว่าในระหว่างนี้ กทม.ควรหยุดโครงการบีอาร์ทีเอาไว้ก่อน เพราะข้อมูลจากการตรวจสอบมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีความไม่ถูกต้องในขั้นตอนการประมูล ดังนั้น หากเดินหน้าโครงการต่อไปโดยไม่รอฟังผลการตรวจสอบ ในอนาคตอาจทำให้ภาครัฐต้องได้รับความเสียหายจากค่าโง่ได้

รายงานข่าวเปิดเผยว่า สำหรับคดีนี้ คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร ได้นำหลักฐานเข้ากล่าวโทษต่อดีเอสไอเพื่อให้จะส่งหนังสือถึงกรุงเทพมหานครให้จัดส่งตรวจสอบความไม่โปร่งใสในโครงการประกวดราคาจัดซื้อรถบีอาร์ที โดยระบุถึงขั้นตอนบางอย่างที่ส่อถึงการจัดซื้อรถยนต์ในราคาคันละ 7 ล้านบาท ซึ่งแพงกว่าราคาในท้องตลาดที่ขายในราคา 4 ล้านบาท อีกทั้งยังมีการกำหนดสเปกที่กำหนดไว้ไม่มีบริษัทรถยนต์ชั้นนำค่ายใดผลิตรถยนต์ตามสเปคดังกล่าว เช่น ทีโออาร์ที่กำหนดเกี่ยวกับระบบเบรก และความสูงของรถยนต์ที่กำหนดให้พอดีกับชานชาลา โดยคุณสมบัติที่กำหนดไว้อาจเป็นการกำหนดคุณลักษณะให้ผิดแผกแตกต่างจากคุณลักษณะทั่วไป ทำให้บริษัททั่วไปไม่สามารถเข้าร่วมประกวดราคาได้ ขั้นตอนการประมูลอาจเป็นการจ้างทำของมากกว่าการจัดซื้อจัดจ้าง

รายงานข่าวเปิดเผยอีกว่า แม้ว่าการจัดซื้อรถบีอาร์ทีล็อตแรกจะเป็นการซื้อจำนวน 45 คัน แต่มีการกำหนดข้อผูกพันให้บริษัทผู้ประกวดราคาเป็นผู้ดูแลรักษาการใช้งานรถบีอาร์ที จึงอาจทำให้บริษัทที่ชนะการประกวดราคาครั้งนี้ได้รับเลือกเป็นคู่สัญญาในโครงการต่อไปได้ นอกจากนี้ การจัดจ้างให้บริษัท กรุงเทพธนาคม ขึ้นเป็นผู้บริหารจัดการโครงการบีอาร์ทีอาจไม่ถูกต้องตามระเบียบ เพราะบริษัท กรุงเทพธนาคม ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องการเดินรถสาธารณะมาก่อน หากบริษัทบริหารงานไม่ดี กทม.จะฟ้องร้องเอาผิดกับใครไม่ได้ เพราะกทม.เป็นผู้ถือหุ้นทั้ง 100% ในบริษัท กรุงเทพธนาคม
กำลังโหลดความคิดเห็น