xs
xsm
sm
md
lg

สภาที่ปรึกษา ศอ.บต.เสนอจัดตั้งศาลอิสลามในจังหวัดชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยะลา - คณะกรรมการที่ปรึกษา ศอ.บต.เร่งรัด ให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง ตรวจสอบจำนวนผู้สูญหายในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยา ในขณะที่ประธานที่ปรึกษา ชี้ ขณะนี้ได้ให้มีการศึกษาจัดตั้งศาลอิสลามเพื่อให้ความเป็นธรรมตามหลักการของศาสนาอิสลาม

วันนี้ (13 ต.ค.) ที่ห้องประชุม ชั้น 3 ศอ.บต. อ.เมืองยะลา นายอาซีส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกสมาชิกสภาที่ปรึกษา เข้าร่วมประชุมประจำเดือน โดยได้เชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้แทน ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ผู้แทน ผอ.ศอ.บต. เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานและรับฟังรายงานสรุปสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่

โดยมี พล.ต.กิตติ อินทสร เสธ. กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าได้สรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงเดือน กรกฏาคม – กันยายน ที่ผ่านมา ว่ามีเหตุการณ์ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 271 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 152 ราย บาดเจ็บ 290 ราย โดยเน้นการลอบวางระเบิด จนท.ทหาร ตำรวจ เป็นหลัก และลอบสังหาร ผู้นำชุมชน สายข่าว ข้าราชการ ส่วนการปฏิบัติของฝ่าย จนท.สามารถเข้าตรวจค้นจับกุมแกนนำได้จำนวนมาก เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมกับฝ่าย จนท.มากขึ้น

นายวิชัย เรืองเริงกุลฤทธิ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สภาที่ปรึกษาได้รับการร้องเรียนว่ามีผู้สูญหายในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้น ทางสภาที่ปรึกษาฯ ได้กำหนดเป็นนโยบายให้กับ ศอ.บต.ในการเข้าไปดูแลเยียวยาให้กับครอบครัวของผู้สูญหาย จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีตัวเลขที่มีการสูญหายว่ามีจริงหรือไม่อย่างไร ตลอดจนให้สรุปว่าถ้าเป็นจริงมีจำนวนเท่าไร เพื่อที่จะได้เข้าไปดูแลและสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า มีการสูญหายไปเพราะอะไร และให้การช่วยเหลือไปแล้วอย่างไรบ้าง

ด้านนายอาซีส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการอำนวยการความยุติธรรม ได้มีการหารือในการจัดตั้งศาลซารีอ๊ะห์ ซึ่งเป็นศาลที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอิสลาม ซึ่งครอบคลุมไปชีวิตความเป็นอยู่และครอบครัวมรดก

โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมามีการอนุญาตให้ใช้กฎหมายอิสลามที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและมรดกมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปีแล้ว ปัจจุบันความก้าวหน้าของโลก ความเจริญทางวิทยาการต่างๆ ทำให้เพียงพอเพียงแค่นี้ จึงได้มีการหารือในระดับสภาที่ปรึกษา ให้มีการศึกษาการดำเนินงานของศาลซารีอ๊ะห์ ขึ้นมาเพิ่มเติมให้เป็นรูปแบบที่สมบูรณ์ เพราะมีตัวอย่างมากมายในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม ที่ได้จัดตั้งศาลซารีอ๊ะห์ขึ้นมา เพื่อพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับมรดก ชีวิตความเป็นอยู่ที่เกี่ยวข้องกับหลักการศาสนาอิสลาม แต่ไม่ถึงกับว่าทัดเทียมกับประเทศที่เป็นมุสลิมโดยตรง ก็ได้มีการศึกษาพอสมควรในระดับนักวิชาการ ระดับกระทรวงยุติธรรม ที่ผ่านมาเดินไปค่อนข้างล่าช้า

คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาฯ ได้มีดำริที่จะเดินทางไปศึกษาการดำเนินการ ในต่างประเทศ ที่มีการจัดตั้งศาลอิสลาม ทั้งในประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม และประเทศที่เป็นประเทศมุสลิม เพื่อเป็นแนวทางในการมาเสนอการจัดตั้งการต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น