xs
xsm
sm
md
lg

"ประเวศ"จี้"สมชาย"ลาออก สป.เสนอ7ข้อแก้วิกฤติชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 8 ต.ค.) นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า การสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนเป็นเหตุทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตว่า ตนรู้สึกเห็นใจทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรฯ นปก. ตำรวจ หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรี คือนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งน่าเห็นใจมากที่สุด เพราะไม่รู้ว่าจริงๆแล้ว นายสมชาย เองอยากเป็นนายกฯหรือเปล่า แต่บังเอิญเป็นสามีของเจ๊แดง เป็นน้องเขยของคุณทักษิณ แล้วก็มีคนมาบอกว่า ไม่ให้นายกฯ เชื่อเจ๊แดง ไม่ให้คุณทักษิณ มีอำนาจสั่งการ ซึ่งตนคิดว่าคงเป็นไปไม่ได้ ที่นายสมชายจะทำเช่นนั้น
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ น่าจะเป็นโอกาสดีที่นายกรัฐมนตรี จะแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก และขอโทษประชาชน รวมทั้งแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องและดูแลความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน แต่เมื่อมีคนตายเกิดขึ้นไม่สำคัญว่าจะเป็นฝ่ายไหน นายกรัฐมนตรีก็ควรจะรับผิดชอบ โดยไม่ต้องไปค้นหาว่าใครผิดใครถูกอีกต่อไป การลาออกของนายกรัฐมนตรี จะช่วยลดความตึงเครียดได้

**นักการเมืองไม่ปรับตัวมีสิทธิเจอคุก
นพ.ประเวศ ยังได้เสนอทางออกด้วยว่า สิ่งแรกที่ควรจะทำคือ 1. ยุติความรุนแรงทุกอย่าง และป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงเฉพาะหน้าจากทั้ง 2 ฝ่าย กองทัพควรจะเข้ามาอยู่ตรงกลาง แต่ไม่มีอาวุธ เพื่อไม่ให้เกิดการปะทะ และไม่ใช่การทำรัฐประหาร ตนมองว่าจริงๆ แล้วทหารควรจะเข้ามาเร็วกว่านี้ แต่ทหารก็คงกลัวว่า ถ้าเข้ามาเร็วคนอาจจะมองว่าเกิดรัฐประหารขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ แต่ทหารคือ ส่วนที่จะมากั้นกลางระหว่าง 2 ฝ่าย ที่กำลังเกิดปะทะอย่างรุนแรง คือ ตำรวจและประชาชน ทั้งเมื่อมีคนตาย ทุกฝ่ายควรรู้สึกเสียใจ ไม่ต้องไปคิดว่าเป็นฝ่ายไหน ตำรวจเองก็คงจะเสียใจเพราะไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ความเสียใจจะทำให้หัวใจของคนทั้งหมดเปิดกว้างเพื่อที่จะหันมาแก้ไขปัญหา เยียวยาสิ่งที่เกิดขึ้น เวลาที่วิกฤตสุดๆ ต้องจำไว้เสมอว่า หน้าต่างแห่งโอกาสจะเปิด ขณะนี้ถือว่าวิกฤต จึงเป็นโอกาสของการแก้ไขปัญหาที่ในเวลาปกติแก้ไม่ได้ เราพยายามแก้ปัญหามาทุกวิธีแล้วแต่มันไม่ดีขึ้น ครั้งนี้น่าจะเป็นช่วงจังหวะที่จะแก้ปัญหาให้ได้ ที่ผ่านมาประชาชนถูกกีดกั้นจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง มีความพยายามทำให้การเมืองเป็นเรื่องของคนบางชนชั้นเท่านั้น ทั้งๆ ที่มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง แต่ถูกกีดกัน ขณะนี้จึงเป็นเวลาที่การเมืองภาคประชาชนจะได้มีโอกาสเข็มแข็ง ส่วนคนที่คิดเอาเปรียบใช้อำนาจ บางกลุ่มที่อยู่อย่างสบายมาโดยตลอด เช่นนักการเมือง ก็คงต้องปรับตัว เพราะถ้าไม่ปรับตัวในอนาคตก็จะอยู่ไม่ได้ อาจถูกกฎหมายเล่นงาน และติดคุกได้ง่ายขึ้น

**ใช้สภาชุดเดิมแต่สลายขั้ว-คอก
2. ต้องหาความจริงและใช้กฎหมาย ขณะนี้ประชาชนไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น และเกิดได้อย่างไร ก่อนหน้านี้ควรจะมีการกำหนดกรอบ กติกากันก่อน แต่ตอนนี้เลยเวลามาแล้ว เหมือนรอให้เรือล่มแล้วค่อยหัดว่ายน้ำ มันไม่ทันแล้ว ตอนคุณทักษิณเป็นนายกฯ ตนเคยเสนอให้มีการตั้งสภายุทธศาสตร์สันติวิธี แต่ไม่มีใครสนใจ วันนี้ก็ยังอยู่อย่างนั้น ซึ่งถ้าถามตนขณะนี้บ้านเมืองวิกฤตเรื่องสันติวิธี อาจจะเป็นเรื่องจำเป็น ส่วนกระบวนการทางกฎหมายที่ว่าก็ต้องไปดูว่าตำรวจทำร้ายประชาชนรุนแรงหรือเปล่า หรือถ้าแก๊สน้ำตา ทำไมจึงมีคนขาขาด รัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่กับความรุนแรงที่เกิดขึ้น อันนี้ก็ต้องไปว่ากัน
3. แก้ไขด้วยกระบวนการทางการเมือง ซึ่งตนมองว่าต้องใช้ระบบรัฐสภา และควรจะเป็นสภาชุดนี้ไม่ต้องไปเลือกตั้งใหม่ เพียงแต่ทำให้เกิดเอกภาพ สลายฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล แต่ให้เกิดภาพของการทำงานร่วมกันในระบบรัฐสภา ที่ผ่านมาระบบการเมืองเป็นระบบที่พิกลพิการ จะตั้งรัฐมนตรีก็ต้องคำนึงถึงกลุ่ม พวก มีคอก มีมุ้ง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว เป็นสิทธิของประชาชนต่างหากที่จะต้องได้คนดีมาเป็นรัฐมนตรี
" คุณสมชายเองอาจไม่มีสิทธิกำหนดอะไรเลย สมัครก็ไม่มีสิทธิมีคนอื่นมาคอยกำหนด ทั้งกลุ่มการเมือง ทั้งนายทุน หรือว่าคนที่อยู่นอกประเทศก็เป็นคนกำหนดมาอีก เพราะฉะนั้นจึงขาดความเป็นเอกภาพ ต้องเลิกกลุ่มก้อนการเมืองตรงนี้เสีย" นพ.ประเวศ กล่าว และว่า ระบบสภาจากนี้ต่อไป อาจต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการแก้ไขปฏิรูป โดยขอให้ ส.ส. และ ส.ว. แต่ละคนใช้มโนสำนึก ใช้วิจารณญาณ ในการทำงานร่วมกัน หารือกัน คิดว่าใครเหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือถ้าวิกฤตที่สุดแล้วหาทางออกไม่ได้ อาจต้องมีการเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ก็เป็นเรื่องที่สภาต้องไปช่วยกันคิด แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องยุบสภาตอนนี้ เพราะยุบไปแล้ว เลือกตั้งเข้ามาใหม่ก็เหมือนเดิมอีก แก้ไขอะไรไม่ได้ นายกฯ ต้องมีสิทธิเลือกรัฐมนตรีเอง" นพ.ประเวศ กล่าว
4. ต้องเร่งปฏิรูปการเมืองโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดการเมืองใหม่ หรือนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ต้องมีสิทธิที่จะเลือกรัฐมนตรีมาทำหน้าที่ไม่ต้องให้ใครมากำหนดกฎเกณฑ์ และ 5.ควรมีการเจรจาโดยดึงบุคคลที่มีความสามารถในแง่การเจรจาเพื่อสันติวิธีมาช่วย ถ้าประธานวุฒิไม่ยอมรับหรือไม่สามารถทำได้ ก็หาคนอื่นมาช่วย สภาเองมีสถาบันพระปกเกล้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยอยู่แล้ว อาจไปขอให้ นพ.วสันชัย วัฒนศัพท์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี ในสถาบันพระปกเกล้าอยู่แล้วมาช่วยก็ได้

**ไม่รับตำแหน่งใดๆทั้งสิ้น
นพ.ประเวศ ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับที่มีคนเสนอให้ตนไปดำรงตำแหน่งนั้น ตำแหน่งนี้ กรรมการชุดนั้นชุดนี้ ต้องขอบอกเลยว่า ตนไม่อยากรับตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น เพราะต้องการความเป็นอิสระ ที่จะมองภาพรวมและให้ข้อคิดเห็นได้อย่างอิสระจริงๆ บอกไว้ก่อนเลยจะได้ไม่เสียใจที่จะต้องฟังคำปฏิเสธ อีกอย่างตนแก่แล้ว ปีนี้อายุ 77 และเป็น เอ็นจีไอ คือเป็นองค์กรที่เป็นส่วนตัว ไม่สังกัดฝ่ายไหนทั้งสิ้น แต่ที่สำคัญที่อยากฝากขณะนี้คือ ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำอะไรสักอย่างตามแนวทางที่ตนเสนอ แต่ต้องทำทั้งระบบ อย่าแยกส่วน การคิดแยกส่วนทำให้เกิดความขัดแย้ง เพราะบ้านเมืองขณะนี้วิกฤตสุดๆ แล้ว

**สป.เสนอ7 ข้อ แก้วิกฤติของชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ออกข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาวิกฤติของชาติ (ฉบับที่ 3) ระบุว่า ตามที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรง
สภาที่ปรึกษาฯ ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต และต่อผู้บาดเจ็บทุกคน และมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ 7 ข้อดังนี้
1. เยียวยา และชดเชยต่อผู้เสียหายโดยเร่งด่วน
2. แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระ มีหน้าที่สืบสวน สอบสวน ทำความจริงให้ประจักษ์รวมทั้งหาผู้รับผิดชอบ โดยรัฐบาลให้คำมั่นว่า จะนำผลแห่งการสอบสวนนั้นไปพิจารณาอย่างตรงไปตรงมา
3. ปฏิบัติตามมติครม.เมื่อวันที่ 30 ก.ค.45 เรื่องการใช้หลักกฎหมาย กรณีผู้ชุมนุมละเมิดสิทธิของผู้อื่น โดยให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบใช้วิธีการเจรจาก่อน โดยเสนอแนะให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติตามก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยให้ดำเนินการในระดับถ้อยทีถ้อยอาศัย และต้องมองว่า ทุกคนเป็นผู้ร่วมชาติ
4. รัฐบาลและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามที่ถือปฏิบัติในนานาอารยประเทศ และหลีกเลี่ยงการดำเนินการ ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง
5. ลดเงื่อนไขความขัดแย้ง และสร้างบรรยากาศความไว้วางใจ
6. กวดขันมิให้มีการใช้สื่อปลุกเร้าความโกรธ และความเกลียดชัง
7.สนับสนุนการสร้างความสมานฉันท์ และการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งกว้างขวางกว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพียงเท่านั้น
ทั้งนี้ สภาที่ปรึกษาฯ ยินดีจะเข้าร่วมในกระบวนการที่ทุกฝ่ายจะได้ร่วมกันกำหนดกรอบและวิสัยทัศน์ของการปฏิรูปดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น