สตูล – ชาวบ้านและอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรประมงชายฝั่ง ต.เกาะสาหร่าย ร่วมกันปล่อยตัวหัวค้อนลงทะเล หลังจากชาวประมงพบติดอวน เมื่อปี 2550 และได้รับบาดเจ็บชาวบ้านจึงช่วยกันรักษาอาการ และพักฟื้น นานร่วม 17 เดือน ก่อนปล่อยลงสู่ทะเลวันนี้
ชาวบ้านและอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรประมงชายฝั่ง ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ช่วยกันนำเต่าหัวฆ้อน ขนาดน้ำหนัก 80 กิโลกรัมจำนวน 1 ตัว ลงเรือมุ่งหน้าไปยังเกาะเกวน้อย หมู่ 6 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล เพื่อทำการปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ
หลังจากก่อนหน้านี้ ในเดือนมีนาคม 2550 ชาวประมงอวนปูลอย พบเต่าติดอวนบริเวณเกาะเกวน้อย หมู่ 6 ต.เกาะสาหร่าย จึงช่วยกันนำขึ้นเรือและนำเต่าที่ได้รับบาดเจ็บส่งบ่ออนุบาลและพักฟื้นเต่าทะเล บ้านเกาะระยะโตใหญ่ สนับสนุนโดยมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อพักฟื้นอาการบาดเจ็บขาหน้าด้านขวาของเต่าหัวฆ้อน และรักษาด้วยวิธีธรรมชาติเพียง 3 เดือน ก่อนส่งต่อให้สถาบันวิจัยพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต ทำการรักษาต่อนานร่วม 17 เดือนจนมีอาการแข็งแรงและปล่อยกลับคืนสู่ทะเล
นายรอเดช สาดล อายุ 32 ปี อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรประมงชายฝั่ง ต.เกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล เล่าว่า ชาวบ้านทุกคนดีใจที่พบเต่าตัวใหญ่ขนาดนี้และทุกคนก็ไม่เคยเห็นเต่าชนิดนี้มาก่อนช่วยกันนำเต่าส่งบ่ออนุบาลเพื่อพักฟื้นและช่วยกันหาวิธีทางธรรมชาติมาช่วยกันรักษาเต่า ก่อนส่งตัวไปรักษาต่อยังสถาบันวิจัยพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต และมาร่วมกันปล่อยในครั้งนี้
ชาวบ้านทุกคนบนเกาะสาหร่าย บอกว่า หลังมีมาตรการประกาศห้ามทำประมงอวนลาก อวนรุนในเขตห่างจากชายฝั่ง 3,000 เมตร ประกอบกับคนในชุมชนรู้รักษ์และหวงแหนทรัพยากรชายฝั่ง พร้อมฟื้นฟูอนุบาลสัตว์น้ำเพาะเลี้ยงปูด้วยวิธีธรรมชาติอย่างธนาคารปู จนเกิดทรัพยากรสัตว์น้ำเยอะแยะมากมายทำให้ชาวบ้านไม่ต้องออกเรือไปหากินไกลฝั่ง อีกทั้งยังมีสัตว์น้ำขนาดใหญ่อย่างปลาโลมา พะยูน และเต่าทะเลอย่างเต่าตนุ และเต่าหัวฆ้อนที่พบล่าสุดเข้ามาหากินใกล้บริเวณเกาะบ่อยครั้ง
นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ นักวิชาการประมง 7 ว สังกัดสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กล่าวว่า เต่าหัวฆ้อน เป็นหนึ่งใน 5 ชนิดของเต่าทะเลที่พบในประเทศไทย และเป็นเต่าชนิดเดียวที่ไม่พบวางไข่ในประเทศไทย เต่าหัวฆ้อนมีในประเทศไทยจำนวนน้อยมาก มักจะอาศัยอยู่ในเขตอบอุ่น เขตร้อนอย่างทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศอินโดนิเซีย สำหรับประเทศไทยเป็นแค่เพียงทางผ่าน แหล่งหากินเท่านั้น เต่าหัวฆ้อนมีลักษณะพิเศษอยู่ที่ศีรษะ เพราะมีขนาดใหญ่กว่าเต่าชนิดอื่นเกือบ 2 เท่า อาศัยแถวทะเลลึก จะพบได้ในกรณีขึ้นฝั่งเพื่อมาวางไข่ หรือไม่ก็ติดอวน ติดเครื่องมือประมง
ประเทศไทยมีสถิติการขึ้นพบของเต่าหัวฆ้อนไม่ถึง 10 ครั้ง ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา นับเป็นเต่าที่หาดูยากมากในประเทศไทย โอกาสที่จะได้เต่าที่ติดเครื่องมือประมงและรอดชีวิตมาค่อนข้างน้อย เต่าหัวฆ้อนตัวนี้ มีความพิเศษกว่าเต่าหลายๆ ตัวสังเกตที่ลักษณะของฟันแล้วค่อนข้างกร่อน มีลักษณะสมบูรณ์เพศแล้ว มีอายุ น่าจะไม่ต่ำกว่า 30 ปี เป็นเพศเมีย
ทั้งนี้ นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ กล่าวอีกว่า เต่าทะเลในประเทศไทย มีจำนวนลดน้อยลงค่อนข้างมาก อย่างในอดีตเคยมีเต่า กว่า 2 พันรังต่อปี แต่ในปัจจุบันมีเต่าขึ้นมาวางไข่ 400 ถึง 500 รังต่อปีเท่านั้น สังเกตเห็นว่าเต่าลดลงมาก และหากไม่มีการช่วยเหลืออนุรักษ์เต่าไว้ โอกาสที่เต่าจะสูญพันธ์ไปจากประเทศไทยค่อนข้างจะมีมาก โดยวิธีที่จะช่วยอนุรักษ์ได้นี้ คือ ตัวอย่างของชาวบ้านในหมู่บ้านเกาะสาหร่ายแห่งนี้ที่มีชุมชนช่วยกันก่อตั้งและเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือชีวิตเต่าจากเครื่องมือประมง และการที่เห็นเต่าขึ้นมาวางไข่แล้วไม่ไปรบกวนแหล่งวางไข่ก็เป็นการช่วยเหลือเต่าให้มีอนาคตต่อไป