รองอธิบดีกรมประมงเผย ภาวะน้ำมันแพงทำชาวประมงรายย่อยเดือดร้อน ต้นทุนเพิ่ม ผลผลิตลด คุณภาพชีวิตแย่ลง ส่วนทั่วโลกเจอปัญหาภาวะโลกร้อน เรือประมงมากเกิน วิธีทำประมงผิดกฏหมาย แหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์น้ำเสื่อมโทรม แจงประเด็นน่าทำวิจัย พร้อมแนะให้ผลงานมีความเชื่อมโยงในระบบ และดึงชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการประชุมระดมความคิดเพื่อกำหนดกรอบการวิจัย เรื่อง "การวิจัยและพัฒนาด้านทรัพยากรประมง" เมื่อวันที่ 14 ส.ค.51 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ ซึ่งมีสื่อมวลชนจากหลายแห่งไปร่วมงานรวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วย เพื่อติดตามแนวทางและความก้าวหน้าด้านการวิจัยทางด้านการประมงของไทย
ในการประชุมครั้งนี้ ดร.วิมล จันทรโรทัย รองอธิบดีกรมประมง ได้บรรยายพิเศษเรื่อง "สถานการณ์ทรัพยากรประมงของไทย และประเด็นที่ควรได้รับการศึกษาวิจัย" ซึ่ง ดร.วิมล เปิดเผยว่า จากสถิติตั้งแต่ปี 2540-2548 ผลผลิตรวมทางด้านประมงของไทยเพิ่มขึ้นในอัตราคงที่ คิดเป็น 24% แต่เมื่อพิจารณาแยกประเภทแล้วพบว่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง ซึ่งเฉพาะผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงนั้นเพิ่มขึ้นมากถึง 160%
ขณะนี้ยังพบว่า มีเรือประมงมากเกินไป และแม้ว่าผลผลิตภาพรวมจะมิได้ลดลง แต่เรือประมงแต่ละลำต้องลงทุนลงแรงมากขึ้น และจับสัตว์น้ำได้น้อยลง ปริมาณการจับต่อชั่วโมงลดลงประมาณ 6 เท่าตัว
"สะท้อนให้เห็นว่า ปริมาณและคุณภาพของทรัพยากรในแหล่งน้ำไม่เหมือนในอดีตแล้ว ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ปลาบางชนิดสูญหายไป แม้ว่าในแต่ละปีกรมประมงจะมีการปล่อยปลาลงในแหล่งน้ำจำนวนมาก ทว่าก็มีอัตราการรอดต่ำ" ดร.วิมล ชี้ให้เห็นปัญหา ซึ่งไม่ใช่ปัญหาเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับโลก
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำประมงเกินศักยภาพ มีเรือประมงมากเกินควร และการทำประมงแบบผิดกฎหมาย เช่น การใช้อวนลาก ซึ่งมีมากกว่า 80% ทั่วโลก ซึ่งอวนลากนี้จะทำให้สัตว์น้ำขนาดเล็ก ที่ไม่ใช่เป้าหมายติดไปด้วย และยังทำลายพื้นผิวและสัตว์หน้าดินใต้ทะเลด้วย เป็นเหตุให้ปลาลดจำนวนลง ทั้งยังส่งผลให้ที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเสื่อมโทรม และผลที่ตามมาคือผลผลิตประมงของโลกลดลง
ปัญหาเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปิดเขตการค้าเสรีที่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยมองข้ามผลที่จะเกิดกับทรัพยากรในธรรมชาติ
นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว รองอธิบดีกรมประมงยังบอกว่าประเทศไทยยังมีปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ได้แก่ ปัญหาน้ำมันแพง ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่จับปลาได้น้อยลง ขณะที่ราคาผลผลิตไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร จึงส่งผลต่อความเป็นอยู่ของชาวประมงรายย่อยอย่างมาก
ทั้งนี้ ดร.วิมล กล่าวว่า เป็นความท้าทายของนักวิจัยว่า จะทำอย่างไรให้ทรัพยากรประมงมีความยั่งยืน เกิดความมั่นคงด้านอาหาร เกิดความสมดุลในธรรมชาติ เศรษฐกิจ และสังคม และเกิดธรรมาภิบาลในการทำประมง ซึ่งปัญหาด้านการประมงมีความซับซ้อนมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงควรศึกษาวิจัย โดยให้สามารถนำไปต่อยอดหรือมีความเชื่อมโยงในระบบ เพื่อให้แก้ปัญหาได้ทั้งระบบ พร้อมทั้งเสนอแนวทางการวิจัยด้านการประมงโดยแบ่งได้เป็น 3 หัวข้อใหญ่ ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม, ความมั่นคงทางอาหาร และด้านเศรษฐกิจและสังคม
ตัวอย่างประเด็นที่น่าสนใจศึกษาวิจัย อาทิ เทคโนโลยีเรือประมง เครื่องมือและวิธีการทำประมงเพื่อลดต้นทุน, การใช้สัตว์น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด, กฎระเบียบหรือมาตรการควบคุมการทำประมงให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต, ระบบนิเวศในแหล่งน้ำและการเปลี่ยนแปลง, ความหลากหลายของสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลง, ความสัมพันธุ์ของสัตว์น้ำในท้องถิ่นและจากต่างถิ่น, คุณค่าทางสิ่งแวดล้อมของทรัพยากรประมงและชายฝั่ง ความคุ้มค่าที่ได้มากับที่เสียไป,
ผลของภาวะโลกร้อนต่อระบบนิเวศ ทรัพยากรประมง และห่วงโซ่อาหาร, ปะการังเทียม, การทำปศุสัตว์ในทะเล, การตรวจสอบย้อนกลับ, การกำหนดเขตสำหรับประมงขนาดเล็ก, การเพาะเลี้ยงตัวอ่อนแล้วปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ, การเก็บรักษาหรือเพิ่มคุณค่าผลผลิต, คุณภาพชีวิตของชุมชนชาวประมง, การมีส่วนร่วมในการดูแลและจัดการทรัพยากรประมงของชุมชน และวิธีการหรือแรงจูงใจที่ทำให้ชาวประมงออกจากระบบการทำประมงผิดกฏหมาย เป็นต้น
อย่างไรก็ดี รองอธิบดีกรมประมงแนะนำอีกว่าการทำงานวิจัยด้านประมงให้ได้ผล ควรพิจารณาสิ่งเหล่านี้ประกอบด้วย คือ วัตถุประสงค์ของหน่วยงาน เพื่อให้ได้งานวิจัยที่สอดคล้องกัน, ภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานวิจัยได้, การมีส่วนร่วมของชาวบ้านในชุมชน เพื่อให้งานวิจัยใกล้เคียงกับความจริง, การทดลองในสถานการณ์จริง เพื่อพิสูจน์ว่าสามารถนำงานวิจัยไปใช้ได้จริง และสุดท้าย บทบาทของเอ็นจีโอ (NGOs) ทางด้านสิ่งแวดล้อม นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับงานวิจัยได้.