xs
xsm
sm
md
lg

ม.อุบลฯ นัดถกนักวิชาการ สวล.เตรียมฟื้นฟูวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำโขง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

  รศ.ดร.วัชรพงษ์ วัฒนกูล คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
อุบลราชธานี - นักวิชาการมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดชุมนุมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหาผลกระทบ พร้อมฟื้นฟูคนลุ่มน้ำโขงให้อยู่กับสายน้ำอย่างมีคุณภาพ หลังกายภาพของแม่น้ำเปลี่ยนแปลงจากโครงการสร้างเขื่อนโดยชาติต่างๆ

รศ.ดร.วัชรพงษ์ วัฒนกูล คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งของโลก ซึ่งหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตประชากรที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำกว่า 60 ล้านคน โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนล่างตั้งแต่มณฑลยูนานประเทศจีนถึงประเทศกัมพูชา แต่สถานการณ์ปัจจุบันมนุษย์มีการใช้ทรัพยากรจากลุ่มน้ำโขงมากขึ้น จึงมีการทำโครงการพัฒนาต่างๆ ทั้งในแม่น้ำโขงตอนบนและแม่น้ำโขงตอนล่าง เช่น การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำใช้ในการชลประทาน รวมทั้งใช้ผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ชุมชนเมือง และการใช้ประโยชน์ตามที่ดินชายฝั่งแม่น้ำ

ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีผลกระทบต่ออุทกศาสตร์ กายภาพ เคมีภาพ มีผลเป็นลูกโซ่ถึงทรัพยากรธรรมชาติทั้งพืชน้ำที่เป็นแหล่งอาหาร รวมทั้งพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความหลากหลายในลุ่มแม่น้ำโขงกว่า 1,200 ชนิด การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของแม่น้ำ ยังส่งผลต่อเนื่องถึงการทำประมงชายฝั่ง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิตของประชาชนในภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังชีพด้วยการอาศัยปลาสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชนและครัวเรือน และอาศัยพืชน้ำต่างๆ เป็นแหล่งอาหาร

คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ กล่าวต่อว่า จากปัญหาดังกล่าวคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้จัดประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง “แนวทางเพื่อความยั่งยืนของความหลากหลายของปลา การประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในลุ่มน้ำโขง หรือ Sustaining Fish Diversity, Fisheries and Aquacultures in the Mekong Basin” ขึ้นในวันที่ 3-5 ก.ย.ศกนี้ที่โรงแรมลายทอง จ.อุบลราชธานี โดยมีนักวิจัยชั้นนำสาขาประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งในและต่างประเทศ

โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมาประชุม เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนผลการศึกษาค้นคว้าวิจัย และร่วมกันวางแนวทางการป้องกันบรรเทาปัญหาที่จะเกิดในมิติด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของทรัพยากรประมงในลุ่มน้ำโขง

สำหรับนักวิชาการที่มาร่วมระดมวางแผนแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย

1.Prof. Scna S. De Silva ผู้เชี่ยวชาญด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และเป็นผู้อำนวยการ Network of Aquacultures Centers in Asia and Pacific (NACA) ซึ่งเป็นที่ยอมรับด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระดับนานาชาติ

2.prof. Yasuhiko Taki ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายของพันธุ์ปลาในลุ่มน้ำโขง และเป็นประธานมูลนิธิทำงานเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สัตว์พื้นเมืองและสิ่งแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่น

3.ศ.อุทัยรัตน์ ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์สัตว์น้ำ เจ้าของผลงานวิจัยด้านพันธุกรรมศาสตร์ปลาพื้นเมืองในลุ่มน้ำโขง จนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

4.ดร.ชยานิศ กฤตสุทธชีวา นักวิจัยอาวุโสองค์กรระหว่างประเทศ Stockholm Environment Institutute ซึ่งเป็นองค์กรทำงานด้านสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ รวมทั้งเป็นผู้มีความรู้ด้านอุทกวิทยาในลุ่มน้ำโขง และยังมีนักวิจัยในสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอีกหลายท่าน

สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) และกรมประมง ส่วนผลการระดมแลกเปลี่ยนความเห็นของนักวิจัย จะส่งให้ฝ่ายบริหารจัดการนำไปใช้วางแผนจัดการทรัพยากรในลุ่มน้ำโขงตอนล่างให้เกิดความยั่งยืนถาวร

สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมสังเกตการณ์สามารถรายละเอียดการประชุมได้ที่เว็บไซต์www.agri.ubu.ac.th/mksymposiom

กำลังโหลดความคิดเห็น