อุบลราชธานี- กรมประมงจับมือสถาบันวิจัยอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และนักวิชาการลุ่มน้ำนานาชาติ 16 ประเทศ ร่วมค้นคว้าวิจัยสร้างความยั่งยืนให้สัตว์น้ำที่ลดลง เพราะความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพจากโครงสร้างพัฒนาต่างๆ ตามลุ่มน้ำโขง
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมลายทอง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ดร.วิมล จันทรโรทัย รองอธิบดีกรมประมง กล่าวถึงการสัมมนาวิชาการความหลากหลายของพันธุ์ปลา การประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของหลายประเทศ และหล่อเลี้ยงชีวิตคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 60 ล้านคน เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ปลากว่า 1,200 ชนิด
ทั้งยังมีความหลากหลายทางทางชีวภาพเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากลุ่มแม่น้ำอะเมซอนของทวีปอเมริกากลาง ปัจจุบันคนลุ่มน้ำได้ทำการจับสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคและการค้ากว่าปีละ 2.6 ล้านตันต่อปี
นอกจากนี้ หลายประเทศมีโครงการพัฒนาต่างในลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งตอนบนและตอนล่าง ตั้งแต่มณฑลยูนนาน เรื่อยมาจนถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในประเทศเวียดนาม การสร้างเขื่อน เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือใช้เพื่อการชลประทาน รวมทั้งการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณชายฝั่งแม่น้ำโขง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านอุทกศาสตร์ ทางกายภาพ และเคมีภาพของแม่น้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์น้ำ ทำให้สัตว์น้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มลดลงทุกปี นักวิชาการที่มีความเป็นห่วงต่อสภาพความเป็นไปของแม่น้ำโขง
จึงร่วมกันศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างฉลาดและหยั่งยืน รวมทั้งหาทางเพิ่มปริมาณพันธุ์สัตว์น้ำ ทั้งการเพาะลี้ยงสัตว์น้ำ หรือเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำตามธรรมชาติ
รองอธิบดีกรมประมงกล่าวต่อว่า กรมประมงได้ร่วมกับสถาบันวิจัยอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อสร้างแนวทางความยั่งยืนใช้บริหารพันธุ์สัตว์น้ำ จึงระดมนักวิชาการจากหลายลุ่มน้ำในภูมิภาคอื่น เพื่อหาบทเรียนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีต่อทรัพยากรประมง และวิธีการรูปแบบใหม่ที่จะนำมาใช้จัดการประมงในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้อย่างดี
สำหรับความกังวลเรื่องของสิ่งก่อสร้างเช่นเขื่อนที่ไปขวางลำน้ำจะมีผลต่อทรัพยากรประมงนั้น ได้มีข้อตกลงต้องศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรตามลุ่มน้ำ เบื้องต้นได้รับทราบจากประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงมีปริมาณปลาลดลง
แต่ผลกระทบอย่างจริงจังคงต้องรอผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการประชุมของนักวิชาการจากหลายลุ่มน้ำวันนี้ จะทำให้ทราบบทเรียนแล้วนำมาปรับใช้เกิดประโยชน์กับเรา ทั้งด้านการจัดการและการบริหารทรัพยากรประมงอย่างไรให้ยั่งยืนต่อไป