xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ป่าต้นน้ำถูกแปรเป็นสวนยาง มหันตภัยสู่ชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - จากป่าต้นน้ำอุดมสมบูรณ์ถูกบุกรุกใน 10 ปีมานี้กลายเป็นสวนยางพารา ก่ออุทกภัยและภัยแล้งสู่ชุมชน 1.6 ล้านคนรายรอบทะเลสาบสงขลา เกิดการเผชิญหน้ารุนแรง ระหว่างนายทุนและชาวบ้านผู้แผ้วถางป่าปลูกยางพารา กับกลุ่มอนุรักษ์ เผยชุมชนคนหาดใหญ่ยังเพิกเฉยต่อปัญหา เร่งแสวหาทางออกที่เกื้อกูลกันได้

คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ เฝ้าติดตามสถานการณ์เพื่อถ่ายทอดความรู้สู่การสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรร่วมกัน โดยจัดการระดมความเห็นเพื่อประสานการทำงานระหว่างผู้เกี่ยวข้องผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.สงขลา

ป่าต้นน้ำ คือหัวใจของทะเลสาบ เป็นแหล่งผลิตน้ำไหลลงสู่ลำคลองนับร้อยสาย ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลสาบ เมื่อป่าต้นน้ำถูกทำลาย เกิดการชะล้างหน้าดินพัดพาตะกอนสู่ลำคลองเกิดการตื้นเขิน ส่งผลต่อประชาชนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามากกว่า 1.6 ล้านคนในจังหวัดพัทลุง สงขลาและนครศรีธรรมราช ที่เพาะปลูก ทำสวนยางพารา เพาะเลี้ยงชายฝั่ง ลุ่มน้ำยังเป็นแหล่งกักเก็บและระบายน้ำ เป็นแหล่งปล่อยน้ำทิ้งของชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยว ความเสื่อมโทรมของลุ่มน้ำทะเลสาบ ส่งผลให้เกิดมลพิษแก่ทรัพยากรประมง คุณภาพของดินต่ำลง แหล่งน้ำขาดแคลน และเกิดอุทกภัยเพราะไม่มีป่าเป็นแหล่งซับน้ำ

โดยเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2550 เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ร่วมกับตำรวจป่าไม้ บุกจับการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำครั้งใหญ่ ในเขตป่าเขาวังพา หมู่ที่ 5 ต.คลองหลา อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ซึ่งเป็นภูเขาสูงและหุบเขา พบไม้พร้อมที่จะแปรรูป จำนวนมาก รวมทั้งต้นยางขนาดใหญ่ถูกโค่นล้มจำนวนมาก

พื้นที่ป่าในเขต อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ประกอบด้วยผืนป่า จำนวน 3 แห่ง คือ 1. ป่าเขาวังชิง 2. เทือกเขาวังพาซึ่งกั้นเขตระหว่างอำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา กับจังหวัดสตูล มีน้ำตกสวยงามชื่อดัง คือ น้ำตกโตนงาช้าง และ 3. ป่าผาดำ ป่าต้นน้ำทั้ง 3 แห่งนี้ได้ปล่อยให้ถูกบุกรุกและทำลายจนโล่งเตียนไม่มีต้นไม้ใหญ่ และสัตว์ป่าหลงเหลืออยู่

เมื่อป่าต้นน้ำเหล่านี้ถูกทำลายไปกว่า50%แล้ว ทำให้อ่างเก็บน้ำคลองหลาและคลองจำไหร อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา แห้งขอด ประชาชนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากระบบชลประทานได้อีกต่อไป เพราะน้ำจะหมดตั้งแต่เมื่อไหลมาถึงสวนยางพาราที่ปลูกแทนป่า

สาเหตุแห่งวิกฤติเนื่องจากป่าผาดำเทือกเขาวังพา ในอดีต คือสมรภูมิรบที่รักษาความเป็นป่าต้นน้ำบริสุทธิ์ จนมาถูกบุกรุกเมื่อ 10 ปีมานี้ โดยเมื่อพ.ศ.2524 กลุ่มสหาย 14 ตุลา ลงจากป่าสู่เมือง รัฐมีแผนการจำกัดพื้นที่เคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ จึงได้ให้สัมปทานป่าแก่นายทุนและอนุญาตให้ตัดไม้ตั้งหมู่บ้านในพื้นที่ บริเวณบ้านบาโรย นายทุนจากนอกพื้นที่จึงเข้ามาตัดไม้เถื่อนในป่า และมีประชาชนบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อทำสวนยางพารา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

กลุ่มสหาย 14 ตุลาซึ่งกลายเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เกรงว่าป่าที่หวงแหนจะถูกทำลาย จึงร่วมกันจัดตั้ง ประชาคมรักษ์ป่าผาดำ เพื่อดูแลรักษาป่า ต่อมาได้พัฒนาเป็น“วิสาหกิจชุมชนบริการท่องเที่ยว เกษตรและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ขณะนี้มีสมาชิกกว่า 300 คน เพื่อทำโครงการ ” ปลูก 1 ล้านต้น คืนสู่ป่าต้นน้ำ” รวมทั้งประสานงานกับประชาชนใน 4 ตำบลในเขตคลองหอยโข่ง มาช่วยกันอนุรักษ์ป่า

หนึ่งในแกนนำรักษ์ป่าผาดำ เปิดเผยว่าปัจจุบันป่าต้นน้ำยังคงถูกบุกรุกทำลายอย่างต่อเนื่อง “จุดที่ถูกบุกรุกทำลาย มี 3 โซน จุดแรกเป็นโซนทับช้าง กลางป่าใหญ่ ที่ปลูกยางพาราจนได้ผลผลิตไปแล้ว พบชาวบ้านอาศัยอยู่ 10 กว่าครอบครัว โซนที่ 2 เป็นโซนที่อยู่หลังอ่างคลองหรา อยู่ใกล้ๆ กับ อบต.คลองหอยโข่ง บุกรุกโดยการขึ้นไปบนยอดเขา ปลูกยางไว้หลายแปลง อายุไล่เลี่ยกัน 3 ปีบ้าง 5 ปี บ้าง และโซนที่ 3 คือ โซนใต้น้ำตกผาดำ”

“เราต้องหาจุดที่ลงตัวให้ได้ หากพื้นที่ตรงไหนที่บุกรุกชัดเจน เกิดความเดือดร้อนมาก ก็ต้องขอร้องว่า พื้นที่ตรงนี้ต้องคืนให้ป่าต้นน้ำ ตรงไหนควรจะรักษาร่วมกัน ถ้าเป็นนายทุนมากเราก็ไล่ออกไปเลย ถ้าเป็นชาวบ้านเดือดร้อนจริงๆ เราก็อะลุ่มอล่วยกันให้อยู่กับป่า แต่ว่าต้องแสดงให้ชัดเจนว่าต้องร่วมอนุรักษ์ด้วยกัน “

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 นายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งถึงกรมป่าไม้ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๖ กรมอุทยานแห่งชาติ นายอำเภอคลองหอยโข่ง นายอำเภอสะเดา ให้มาร่วมประชุม หารือถึงสถานการณ์การบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำในพื้นที่จังหวัดสงขลา ที่นับวันจะรุนแรงขึ้นทุกที
 
โดยเฉพาะป่าต้นน้ำเขาวังพา-ผาดำ อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา โดยที่ประชุมฯ จะนำมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 30 มิถุนายน 2541 มาเป็นกรอบในการดำเนินงานในพื้นที่ กล่าวคือ สำหรับผู้บุกรุกรายเก่าที่เข้ามาอยู่ก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2541 นั้น ให้ชะลอการจับกุมดำเนินคดีไว้ก่อน
 
ส่วนในกรณีของผู้บุกรุกรายใหม่ที่เข้ามาอยู่หลัง วันที่ 30 มิถุนายน 2541 นั้นให้ดำเนินการจับกุมอย่างเด็ดขาด และมีความเห็นร่วมกันว่าควรเริ่มต้นดำเนินการอย่างจริงจังในเขตพื้นที่ล่อแหลม 3 จุด โดยเร่งด่วน ได้แก่ 1. พื้นที่บริเวณบ้านทับช้าง 2. พื้นที่บริเวณหลังอ่างคลองหลา 3. พื้นที่ใต้น้ำตกผาดำ

นายอลงกรณ์ ณ พัทลุง นายอำเภอคลองหอยโข่ง อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ให้ความเห็นว่า สถานการณ์การบุกรุกป่า ดำเนินมาถึงจุดวิกฤตแล้ว ประเด็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงก็คือ การใช้มาตรา 25 เพื่อตรวจยึดและรื้อถอนพืชพันธุ์และสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำพื้นที่ป่าสงวนนั้น มีขั้นตอนในการดำเนินงานยุ่งยากซับซ้อนมาก และต้องใช้เวลาในการดำเนินงานมาก ส่งผลให้การแก้ปัญหาการบุกรุกป่าในพื้นที่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

นายพิทยา รัฐกาญจน์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 18 (สงขลา) ซึ่งมารับตำแหน่งเมื่อมกราคม 2551 เปิดเผยว่า “จะยึดมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 มาใช้เป็นหลัก กล่าวคือ สำหรับผู้บุกรุกรายเก่าที่เข้ามาอยู่ก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2541 นั้น ให้ชะลอการจับกุมดำเนินคดีไว้ก่อน ซึ่งในส่วนนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ขึ้นบัญชีไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนในกรณีของผู้บุกรุกรายใหม่ที่เข้ามาอยู่หลัง วันที่ 30มิถุนายน 2541 ให้ดำเนินการจับกุมอย่างเด็ดขาด เพื่อปกป้องผืนป่าเอาไว้

ในขณะที่กลุ่มรักษ์ป่าผาดำมีจิตสำนึกและทุ่มเทเพื่ออนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เหตุใดคนในเมืองหาดใหญ่กลับไม่รู้อนาทรร้อนใจกับการที่ป่าต้นนํ้าเขาวังพา ซึ่งถือเป็นต้นน้ำของคลองอู่ตะเภา ของอำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา กำลังถูกทำลายลงไป เพราะพวกเขาไม่เข้าใจว่าการสูญเสียป่าต้นน้ำเขาวังพา-ผาดำไปนั้น มันส่งผลต่อวิถีชีวิตเขาเพียงใด ทั้งที่ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่กับชุมชนแห่งนี้มาหลายครั้ง เพราะป่าต้นน้ำคือโจทย์ท้าทายต่อการอยู่รอดร่วมกันของสังคมไทย ในศตวรรษหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น