xs
xsm
sm
md
lg

เสวนารั้ว มอ.ชี้เกมแก้ รธน.ทางลัด “แม้ว” ทวงคืนเงิน-อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – มอ.เปิดรั้วรับเสวนาฝ่าวิกฤตรัฐธรรมนูญ ชำแหละรัฐบาลนอมินีหน้ามืดลืมประเทศชาติดิ้นแก้-ล้มรัฐธรรมนูญปี 50 อ้างเกิดขึ้นภายใต้อำนาจปฏิวัติ พรางประเด็นผุด 111 ศพฟื้น-หนียุบพรรค นักวิชาการอิสระซัดวิกฤตปัญหาการเมืองไทยมาจากคนชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ทำทุกอย่างเพื่อหลุดคดีและได้เงินคืน ยกเว้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ด้าน “พิภพ ธงไชย” แกนนำพันธมิตรฯ เผยรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังสร้างพรรคการเมืองให้มีส่วนรับชอบต่อการทุจริต ทำให้พรรคที่รู้เห็นเป็นใจต่อการซื้อเสียงโดดลงหนุนยกเลิกมาตรา 237 ด้วย ชี้ประชาชนไม่เอาปฎิวัติรัฐประหารอีกครั้งแน่ เผยสถานการณ์ปัจจุบันคล้ายยุค 2475 ซึ่งจะผลักดันไปสู่การอภิวัติเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมครั้งใหญ่ แต่หากไม่แก้ไขโครงสร้างการเมือง-สังคมก็ต้องจมอยู่ในวังวนเดิม

วันนี้ (12 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ร่วมกับเครือข่ายรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ ,สวลส.ภาคใต้ มอ.หาดใหญ่ และมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน ร่วมจัดเวทีเสวนาเรื่องฝ่าวิกฤตรัฐธรรมนูญ ณ ห้องประชุมใหญ่ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ท่ามกลางวิกฤตหลายด้านที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในห้วงเวลาที่ผ่านมาโดยมี อ.อารีลักษณ์ พูลทรัพย์ คณะรัฐศาสตร์ และ ผศ.บุญเรือง มานะสุการ คณะวิทยาศาสตร์ มอ. เป็นผู้ดำเนินรายการ

รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา จ.สงขลา กล่าวว่า ดังที่ปรากฎชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลมีความพยายามสูงที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ฉบับปัจจุบัน โดยยกเพียง 2 มาตราที่ส่งผลกระทบต่อนักการเมืองชุดก่อนที่บริหารเท่านั้น ได้แก่ มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคโยงกับมาตรา 309 เพื่อปลดพันธนาการให้กับ 111 ศพให้หลุดพ้นภายใต้รัฐธรรมนูญที่เพิ่งใช้เพียงไม่กี่เดือน ที่สำคัญคืออ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการรัฐประหารจึงต้องรื้อใหม่ทั้งฉบับเพื่อให้ประชาชนเห็นด้วย อีกทั้งมีการเปรยว่าจะมีการตั้ง ส.ส.ร.3 เพื่อเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกทางหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงกลุ่มอื่นๆ ที่ยังเป็นเสียงเงียบไม่ประกาศตัวชัดเจน ด้วยไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพิ่งใช้ได้ไม่นาน

โดยส่วนตัวคิดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่งจะใช้เพียงไม่กี่วัน มีการเลือกตั้ง ส.ส. และส.ว.ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของระบอบประชาธิปไตย และมีเรื่องใหญ่อีกหลายเรื่องที่ยังไม่ดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญ ทั้งการถอดถอนและการสะสางกรณีทุจริตต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การที่ต้องมีวิกฤตไม่ใช่เรื่องผิดปกติหากดูตามประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีวิกฤตทางการเมืองเป็นระยะๆ ต้องเผชิญหน้าของ 2 ฝ่าย ถ้าผ่านวิฤตรัฐธรรมนูญก็ยังมีวิฤตเศรษฐกิจอีกด้วย โดยเฉพาะวิกฤตข้าวที่จะปรากฎในอีก 1-2 ปีข้างหน้า วันนี้ข้าวถูกปั่นราคาให้แพงขึ้นแพง รัฐบาลพยายามทุ่มให้ชาวนาเพิ่มผลผลิตข้าวในภาวะที่ราคาแพง ราคาปุ๋ยแพงขึ้นแป็นเท่าตัวทั้งที่นักวิชาการคัดค้าน

ด้าน นายพิภพ ธงไชย แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ถ้าทางรัฐธรรมนูญต้องการแก้ไขโดยตรรกะ มีการโจมตีตนและนายสุริยะใส กตะศิลา ที่เคยกล่าวว่าให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วค่อยแก้ไขทีหลัง แล้วเหตุใดจึงคัดค้านไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ เหตุที่คัดค้านเพราะเป็นการแก้ไขเพื่อนักการเมืองบางกลุ่มที่เคยกระทำผิดแล้วต้องการหนีความผิดนั่นเอง ไม่ใช่แก้ไขเพื่อประชาชนและประเทศชาติ

โดยมาตรา 237 ที่ชี้ว่าถ้า ส.ส.โกงการเลือกตั้งโดยที่หัวหน้าพรรครู้เห็นด้วยก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบร่วมกันโดยการยุบพรรค เพื่อเป็นกรอบให้ผู้บริหารพรรคการเมืองร่วมสอดส่องดูแลให้โปร่งใส ซึ่งลำพัง กกต.คอยจับทุจริตนั้นเป็นไปไม่ได้ทั้งหมดแน่นอน อันจะเปลี่ยนโครงสร้างพรรคการเมืองใหม่ให้ดูแล ส.ส.ตัวเองมากขึ้น แต่นักการเมืองในปัจจุบันไม่ได้สนใจในมาตรานี้ จึงต้องการแก้ไขเพื่อหนีความผิดในการถูกยุบพรรค โดยพรรคที่มีปัญหาในมาตรานี้คือพรรคชาติไทย ทำให้นายบรรหาร ศิลปอาชา กระโดดร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับมาตรา 309 ด้วย

นายพิภพ กล่าวต่อว่า เหตุที่เราต้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในข้อดังกล่าว เพราะเป็นมาตราที่ป้องกันการทุจริต สกัดการซื้อสิทธิขายเสียง ซึ่งการเร่งการแก้ไขมาตรา 237 จะปลดการยุบพรรคของตัวเองได้ ส่วนมาตรา 309 นั้น จะเป็นการทำลายอำนาจตุลาการโดยสิ้นเชิง ซึ่งในกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้นน่าสงสาร เพราะเวลาทำผิดนั้นก็คิดว่าตัวเองไม่ผิด และต้องการแก้ไขมาตรา 309 ทำไมไม่เข้าสู้กันในกระบวนศาลยุติธรรม

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลไม่ได้ช่วยให้ประชาชนกินดีอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจภาวะข้าวยากหมากแพง สังคมในตอนนี้ต่างไม่เห็นด้วยและคัดค้านทำให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งหมออาวุโส และประชาชน และลึกๆ แล้วเชื่อว่าหากมีการลงประชามติว่าจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน” นายพิภพ กล่าวต่อและว่า

รัฐธรรมนูญนี้ผ่านการลงประชามติ 14 ล้านเสียง การจะแก้ไขหรือไม่ก็ต้องถามประชาชนด้วยการลงประชามติตรามาตรา 165 ก่อน หากประชาชนเห็นด้วยก็พิจารณาเป็นข้อๆ ว่าจะแก้จุดไหน แต่หากยังดื้อรั้นแก้ไขหรือฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยไม่ฟังเสียงประชาชนก็จะยิ่งสร้างความแตกแยกขึ้นในสังคม เพราะแก้แล้วมีผลประโยชน์ต่อคนเพียงกลุ่มเดียว แต่ประเทศชาติจะเสียหายอย่างใหญ่หลวง

“วิกฤตรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นมาจากคนเพียงคนเดียวที่พยายามสู้เพื่อไม่ให้ติดคุกโดยไม่ใช้กระบวนการยุติธรรม และจะกลับมาสร้างอำนาจให้ตัวเองต่อไป ภายใต้ระบบการเลือกตั้งแบบเดิมที่มีการทุจริตซื้อเสียง การเมืองไทยก็จะวิกฤตต่อไป ปัญหาอยู่ข้างหน้าแต่ก้าวผ่านไม่ได้ เพราะเราเห็นอยู่ว่าการเลือกตั้งมีการซื้อสิทธิขายเสียงแต่แก้ไม่ได้ ต้องป้องกันให้ตรงจุดไม่ให้เกิดการเลือกตั้งที่ทุจริต ป้องกันระบบตุลาการให้ถูกแทรกแซงน้อยที่สุด” นายพิภพกล่าวต่อและว่า

สังคมไทยในตอนนี้ คล้ายในยุค 2475 ที่รอการอภิวัติซึ่งต้องแก้โครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมฝังรากลึก เช่นปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทางทางกฎหมาย เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นและระบบอุปถัมป์ แต่สังคมไทยในตอนนี้ถึงจุดที่ไม่เอาปฏิวัติรัฐประหารแบบเก่า และไม่เอาปฏิวัติรัฐสภาอีกด้วย ต้องมีการออกแบบสังคมใหม่ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะมีผู้ออกแบบและนำพาสังคมไปหรือไม่ มิฉะนั้นก็จะวนเวียนอยู่เช่นนี้

“การอภิวัติหมายถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมใหม่ แต่ไม่ใช่สถาบันทางพระมหากษัตริย์ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตอื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน เช่น ปัญหาที่ดิน เป็นต้น เคยเกิดขึ้นในสมัยของ อ.ปรีดีย์ พนมยงค์ ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยนักวิชาการและผู้นำเข้ามาคิดเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เสียเลือดเสียเนื้อ และไม่มีการปฎิวัติรัฐประหาร” นายพิภพกล่าว

ศ.ดร.ภูวดล ทรงประเสริฐ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า หากมองย้อนราว 2 ปีให้หลังเห็นชัดว่าการเมืองไทยก้าวสู่ยุคอึมครึม ทุจริตทุกรูปแบบโดยอาศัยความอ่อนแอของสังคม การเมืองไทยหลัง 19 กันยายนได้ คมช.แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้เลย จนได้ รัฐธรรมนูญปี 2550 แต่โครงสร้างอำนาจทางการเมืองไทยไม่สมดุล อำนาจกระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นนำ ทำให้เกิดความไม่สมดุลและสร้างปัญหาที่ยังหาทางออกไม่ได้ จึงนำไปสู่ทางตัน

“นอกจากนี้ ยังมีการตั้งโจทย์ผิดๆ ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอยู่ที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ต้องมาเถียงกับมาตราในรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหามาจากคนหน้าเหลี่ยมที่ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คนทั่วประเทศรู้นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ ให้กับใคร รับจ้างเพื่อช่วยเหลือให้หลุดคดี และต้องการเงิน 73,000 ล้านคืน จ้างคนโน้นคนนี้เพื่อช่วยเหลือรับใช้ ใครที่รับจ้างก็รวยขึ้นทันตาเห็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงเต็มไปด้วยปัญหา เราในฐานะประชาชนที่มีพลังประชาธิปไตยกำลังดูอยู่ เชื่อได้เลยว่ากองทัพไทยไม่เอาทักษิณ ชินวัตร และเชื่อว่าประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่เพราะทักษิณและพลพรรค” ศ.ดร.ภูวดลกล่าว

ด้าน นายอุทิศ ชูช่วย นายกเทศมนตรีนครสงขลา และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า วิกฤตที่เกิดก่อนมีรัฐธรรมนูญ ได้แก่ เกิดความแตกแยกในสังคม การทุจริตเอื้อผลประโยชน์ต่อพวกพ้องของรัฐบาล การแทรกแซงองค์กรอิสระจนกระทั่งฝ่ายรัฐบาลในสมัยนั้นทำอะไรผิดก็จะตัดสินในลักษณะทุจริตโดยไม่เจตนา เช่นกรณีคดีซุกหุ้น และวิกฤตการหมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 และนำไปสู่การยึดอำนาจจากฝ่ายทหาร ซึ่งไม่มีใครหาทางออกได้ด้วยมีการประจันหน้าของประชาชนและรัฐ

อย่างไรก็ตาม การร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 แม้เกิดขึ้นภายใต้อำนาจปฎิวัติ แต่การสรรหานั้นมีตัวแทนครอบคลุมในทุกกลุ่มของสังคมไทย และใช้หลักเกณฑ์รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นตัวตั้ง เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตทั้ง 4 ด้านที่เคยเกิดขึ้น กล่าวคือ ป้องการการทุจริตซื้อเสียง ให้พรรคการเมืองมีส่วนรับผิดชอบร่วมกันในการกระทำผิดในพรรค ซึ่งการดิ้นรนแก้ไขมาตรา 237 นั้นจินตนาการได้ว่าเหมือนผีถูกน้ำมนต์ เป็นเหตุการณ์ที่พรรคการเมืองต้องการหลุดจากมาตรานี้ ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้ในปัจจุบันนั้น ได้เปิดช่องแล้วว่าสามารถแก้ไขได้ แต่ต้องมุ่งที่ผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ไม่ใช้มุ่งเพื่อพวกพ้องตนเองเป็นหลัก






กำลังโหลดความคิดเห็น