“สุริยะใส” โต้ “จาตุรนต์” บิดเบือนข้อเท็จจริง โยนพันธมิตรฯสร้างเงื่อนไขให้เกิดปฎิวัติ ทั้งที่แก้ไข รธน.เพื่อฟอกผิดแม้ว ถามกลับยึดมั่น ปชต.แต่ทำไมกลัวประชามติประชาชน แนะ “เติ้ง” พร้อมพรรคร่วม ปลดล็อกวิกฤต รธน.หวั่นซ้ำรอย “พฤษภาทมิฬ” เตือนพลาดครั้งนี้อาจไม่มีโอกาสแก้ตัว
วันนี้ (5 พ.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แถลงกรณีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลลูกกรอก ว่า การปลดชนวนของวิกฤตรัฐธรรมนูญที่กำลังมีแนวโน้มลุกลามเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ในสังคมการเมืองไทย สามารถทำได้โดยอาศัยความกล้าหาญของพรรคร่วมรัฐบาลอีก 5 พรรค ที่เคยวางเงื่อนไข 5 ข้อในการเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคร่วมมีสิทธิ์เสนอให้ยุติประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนแล้วใส่ใจกับการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน หรือถ้าจำเป็นต้องแก้เสนอให้ลงประชามติสอบถามความเห็นประชาชน ว่า ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้หรือไม่ หากประชามติประชาชนส่วนใหญ่ เห็นว่า จำเป็นต้องแก้ไข ก็จัดให้มี ส.ส.ร.3 และให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไขมากที่สุด
นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า วิกฤตการเมืองครั้งนี้ ไม่น่าเชื่อว่าคนที่มีบทบาทสูงสุดในการปลดล็อกกลายมาเป็น นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ และหัวหน้าพรรคชาติไทย อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถ้า นายบรรหาร ตัดสินใจผิดพลาดอาจซ้ำรอยเพตุการณ์ช่วงพฤษภาทมิฬ 35 ที่นายบรรหาร เป็นแกนนำ 5 พรรคในขณะนั้น คือ พรรคชาติไทย สามัคคีธรรม กิจสังคม ประชากรไทย ราษฎร สนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจนถูกเรียกว่า พรรคมาร ในขณะที่อีก 4 พรรค คือ พรรคความหวังใหม่ ประชาธิปัตย์ พลังธรรม เอกภาพ คัดค้านนายกฯ คนนอก จนถูกเรียกว่า พรรคเทพ การตัดสินใจผิดพลาดของ นายบรรหาร ครั้งนั้น ทำให้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬตามมา
แต่ตอมาในช่วงปี 2535 นายบรรหาร ก็สามารถแก้ตัวจนได้รับการยอมรับ เพราะกล้าทำสัญญาประชาคมว่าถ้าได้รับเลือกเป็นนายกฯ จะแก้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2538 มาตรา 211 เพื่อจัดตั้ง ส.ส.ร.จนนำมาสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ได้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 จนเรียกกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
“การประชุมพรรคร่วม 6 พรรค ในวันที่ 7 พ.ค.นี้ เพื่อลงมติต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่นายบรรหารเป็นผู้มีบทบาทสูงดสุดในการกำหนดทิศทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง สังคมก็คงได้แต่หวังว่านายบรรหารจะไม่ตัดสินใจพลาดเหมือนเมื่อปี 2535 เพราะพลาดครั้งนี้อาจไม่มีโอกาสได้แก้ตัว”
ส่วนกรณี นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย ออกมากล่าวทำนองว่าพันธมิตรฯ อยากให้มีการรัฐประหารจึงสร้างเงื่อนไขชุมนุมขึ้นมานั้น ถือเป็นการตัดตอนบิดเบือนข้อเท็จจริงทางการเมือง ถ้ารัฐบาลไม่ดันทุรังรื้อรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดตนเอง ถามว่าพันธมิตรฯ จะใช้เงื่อนไขใดในการจัดชุมนุม หรือแม้แต่ในช่วงก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 49 ถ้าระบอบทักษิณไม่ยุบสภาหนีการตรวจสอบ หรือใช้อำนาจมิชอบจะเกิดปรากฏการณ์สนธิ และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้อย่างไร
ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ กล่าวต่อว่า และหาก นายจาตุรนต์ ฟังข้อเสนอแนะของพันธมิตรฯ จะเห็นว่าเราไม่ได้ค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบหัวชนฝา ถ้าแก้เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ และข้อเสนอของพันธมิตรฯ ให้รัฐบาลทำประชามติว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ นั้นเป็นข้อเสนอที่ยุติธรรมที่สุดกับทุกฝ่ายถ้าประชาชนเห็นด้วยพันธมิตรฯ ก็ไม่มีเหตุต้องชุมนุมเคลื่อนไหว และกระบวนการลงประชามติไม่เป็นรูปแบบประชาธิปไตยตรงไหน เพราะนี่คือพัฒนาการขั้นสูงสุดของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ถ้าอ้างว่ายึดมั่นศรัทธาประชาธิปไตยจริงทำไมต้องกลัวการลงประชามติหรือการตัดสินใจโดยตรงของประชาชน
นายจาตุรนต์ และพรรคพลังประชาชน ก็กล่าวหาตลอดว่า ประชามติ 14 ล้านกว่าเสียงรับรัฐธรรมนูญ 50 เป็นประชามติที่มัดมือกชกประชาชน แต่ทำไมไม่กล้าลงประชามติถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่เครือข่ายระบอบทักษิณกล่าวหาหรือไม่