xs
xsm
sm
md
lg

ดันทุรังแก้รธน.กลียุคแน่ วัดใจ"บรรหาร"ปลดชนวนวิกฤติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากรัฐบาลยังดึงดันที่จะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญต่อไป จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่จะทำให้เกิดวิกฤตประเทศอย่างรุนแรงที่สุด เพราะขณะนี้แม้จะไม่มีเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เราก็กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจ และปัญหาปากท้องอยู่แล้ว โดยผลสำรวจที่ออกมาว่าไม่พอใจต่อการทำงานของรัฐบาล แม้รัฐบาลจะด่าว่า เป็นโพลเฮงซวย แต่ก็สามารถสะท้อนความคิดของประชาชนได้ ซึ่งรัฐบาลควรทำใจให้ว่าง จะพบว่าเป็นตัวเลขที่น่ากลัวมาก โดยเฉพาะกรณีที่แรงงานขอขึ้นค่าแรง9 บาท ทุกพื้นที่ หากรัฐบาลยินยอมอาจจะมีทางออก แต่กลับให้บางพื้นที่แค่ 2 บาท ขณะที่ขึ้นราคาน้ำตาลทราย 5 บาท ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลถึงทำเรื่องนี้ได้ เพราะจะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ ที่น่าตกใจคือ ผลงานของนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ที่ได้คะแนนน้อยที่สุด และการหยิบเรื่องรัฐธรรมนูญมาแก้ไข ไม่สามารถอธิบายได้ แม้จะเอาร่างของปี 40 มาอ้าง แต่ก็ยังมีการหมกเม็ด สิ่งที่ตัวเองต้องการเอาไว้
"รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้รัฐธรรมนูญเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่จะก่อวิกฤตให้ประเทศ แต่ควรจะใช้โอกาสนี้ เอารัฐธรรมนูญมาเป็นตัวสมานฉันท์ของคนในชาติ คือจัดตั้งองค์กรขึ้นมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยประกอบจากทุกฝ่าย รวมถึงตัวแทนบางส่วนของพรรคการเมือง ที่ไม่ได้มีจำนวนมากพอที่จะมีอิทธิพลต่อเสียงส่วนใหญ่ในองค์กร แต่จะสามารถใช้ประสบการณ์ทางการเมืองช่วยแนะนำในบางประเด็นที่นำไปใช้แล้วอาจจะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้บ้าง" นายบัญญัติ กล่าว
ส่วนที่รัฐบาลอ้างว่า เพราะต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญที่มาอย่างมิชอบนั้น การจะดูรัฐธรรมนูญ ต้องประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ที่มา กระบวนการจัดทำ และเนื้อหาสาระ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ได้เลวร้าย เพียงแต่บางมาตราที่เข้มงวดมาก และกระบวนการจัดทำก็ประกอบด้วยตัวแทนหลายฝ่าย ส่วนเนื้อหาก็ใช้ได้ มีการไปเติมช่องว่างของฉบับปี 40 ที่บางคนสามารถเบี่ยงเบนการใช้อำนาจ รวมถึงกระบวนการตรวจสอบต่างๆ ที่เป็นไปได้ยาก
เมื่อมีการพยามปิดช่องเหล่านี้ จึงทำให้ดูเป็นการเข้มงวดมาเกินไป จึงเป็นหน้าที่ขององค์กรที่จะต้องชี้แจง ไม่ใช่รัฐบาลชุดนี้พูดเอง
"เท่าที่ผมได้พูดคุยกับส.ส.บางส่วนในรัฐบาลเองก็ยอมรับว่า มีความกังวล และไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขที่กำลังทำอยู่ และกังวลว่าประชาชนจะรับไม่ได้ โดยเฉพาะส.ส.ใหม่เขาไม่อยากให้มีการเลือกตั้งใหม่ และในฐานะคนไทย ก็ไม่อยากให้มีความขัดแย้ง เพราะทุกวันนี้เราก็กำลังเจอวิกฤตข้าวยากหมากแพงอยู่แล้ว ทำไมต้องไปซ้ำเติมให้หนักยิ่งขึ้น"

**แฉตั้งกมธ.แค่กลลวง
นายบัญญัติ กล่าวว่า แม้จะมีการตั้งกรรมาธิการ แต่ก็มี 2 จุดที่ต้องจับตามอง คือ แม้จะมีการเอาคนนอกมาเป็นกรรมาธิการด้วย แต่สุดท้ายไม่พ้นพรรคพลังประชาชนที่เป็นรัฐบาล จะเป็นคนเลือกเอง ก็ไม่มีประโยชน์อะไร และแม้จะมีการแปรญัตติ แต่อย่าลืมว่าไม่ว่าจะแปรอย่างไร ก็ต้องอยู่ในกรอบของหลักการ และเหตุผล ไม่สามารถขัดกันได้
ฉะนั้นเจ้าของร่างสามารถที่จะกำหนดหลักการ เหตุผลอย่างไรก็ได้อยู่แล้ว แม้คนทั่วไปไม่รู้ แต่นักการเมืองด้วยกันก็มองออก และรู้เท่าทัน ตนไม่อยากใช้คำว่ารัฐบาลหวังหลอกต้มประชาชน แต่มันก็เป็นเช่นนั้น การบอกจะเอาตามร่างปี 40 แต่ไปตัด มาตรา 237 และ309 อย่างนี้ ไม่หลอกก็เหมือนหลอก
"ที่พลังประชาชนกล้าเดินหน้าต่อ เพราะมั่นใจในเสียงสนับสนุนว่ามีเพียงพอ ผมคิดว่าฝ่ายที่ยังพอถ่วงดุลได้คือ พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 พรรค ที่ควรแสดงความกังวลให้ปรากฎว่า สิ่งที่พลังประชาชนกำลังทำอย่างนี้ ไม่ดี จะเกิดปัญหาแน่นอน แต่ถ้าเราหวังพึ่งพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ ผมเชื่อว่าเกิดวิกฤตครั้งใหญ่อย่างแน่นอน"

**"อภิสิทธิ์"หนุนแนวทางตั้งส.ส.ร.
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนอยากให้การแก้รัฐธรรมนูญ เป็นกระบวนการที่มีส่วนร่วม ซึ่งฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรไปทบทวน เพราะสมัยประชุมใกล้จะหมดแล้ว ควรที่จะเลือกว่าจะตั้งกรรมาธิการศึกษาร่วมกันหรือตกลงในแนวทางที่จะให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ทุกฝ่ายในสังคมมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งถ้าเป็นไปในแนวทางดังกล่าว ฝ่ายค้านก็จะสนับสนุน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นาย ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุให้นำร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาก่อน แล้วค่อยมีการตั้งกรรมาธิการมารับฟังความคิดเห็น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เท่าที่ตนได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาล เหมือนกับว่ารัฐบาลไม่ได้คิดอะไร นอกจากเป้าหมายในเหตุการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากใช้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการตัดแปะ คือ คงบทบัญญัติ หมวด 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ไว้ และต่อท้ายด้วยรัฐธรรมนูญ 2540 ส่วนที่เขียนใหม่ มีเพียงบทเฉพาะกาล ที่มีเป้าหมายเพื่อให้องค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่ง ทำให้เห็นว่าไม่ได้มีความตั้งใจปรับปรุงรัฐธรรมนูญกันจริงๆ ส่วนการแปรญัตติ ปล่อยให้เป็นไปโดยเสรี ไม่มีการพูดคุยในกรอบกันก่อน ตนเกรงว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คือ จะยืดเยื้อมาก
ส่วนที่มีการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 แทนการตั้งกรรมาธิการมาศึกษา นายอภิสิธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นแนวทางที่ดี ซึ่งพรรคจะหารือกันในวันนี้ (6พ.ค.) ว่าจะพิจารณากันในแนวทางนี้หรือไม่ เพราะคิดว่าแนวทางนี้ อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นกระบวนการที่จะเปิดให้การมีส่วนร่วมในวงกว้าง และจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นระบบมากขึ้น
เมื่อถามว่า ข้อเรียกร้องจากหลายฝ่าย ดูเหมือนรัฐบาลไม่ค่อยรับฟัง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องฟังเสียงของสังคม ซึ่งเห็นได้ว่ามีการปรับท่าทีมาตามลำดับ ถ้ารัฐบาลมีความตั้งใจทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น น่าจะฟังเสียงจากสังคม ที่ตอนนี้มีความใกล้เคียงกันมากคือ ใช้วิธีการตั้งองค์กรเพื่อศึกษาก่อน หรือมีกระบวนการในลักษณะของ ส.ส.ร. ส่วนที่จะเร่งรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้เสร็จทันสมัยประชุมนี้ ตนคิดว่าคงไม่ทัน อย่างเก่งก็แค่รับหลักการ ซึ่งไม่ได้เป็นคำตอบว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ นอกจาก บทเฉพาะกาล มันคืออะไร เพราะร่างของรัฐบาลไม่ได้สนใจบทบัญญัติถาวรเท่าไร แต่มีเป้าหมายชัดเจนในเรื่องขององค์กรอิสระ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้ เพราะดูเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเองมากกว่า
"ผมอยากเรียกร้องไปยังพรรคร่วมรัฐบาล ที่ยังไม่มีข้อยุติที่ชัดเจน อยากให้ลองไปพิจารณาเรื่องกรรมาธิการศึกษา หรือการตั้งส.ส.ร.เป็นทางเลือก" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ระบุว่า คนที่ออกมาคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ คือ ต้องการปกป้อง และพยายามเบี่ยงเบนประเด็น ให้ร้ายกับฝ่ายตรงข้าม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีแต่สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญดีขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยกับคนที่เอาประชาธิปไตยมาอ้างเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งนายจาตุรนต์ ก็น่าจะมองออก ลองกลับไปดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข โดยพรรคพลังประชาชนที่เสนอมาครั้งแรก นายจาตุรนต์ ตอบได้หรือไม่ว่า เกี่ยวข้องอะไรกับการปรับปรุงระบบการเมือง นอกจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือมาตรา 237 และ 309
**แนะ"บรรหาร"ปลดชนวนวิกฤติ
นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า การปลดชนวนของวิกฤติรัฐธรรมนูญ ที่กำลังมีแนวโน้มลุกลามเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ในสังคมการเมืองไทย สามารถทำได้โดยอาศัยความกล้าหาญของพรรคร่วมรัฐบาลอีก 5 พรรค ที่เคยวางเงื่อนไข 5 ข้อ ในการเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาล มีสิทธิเสนอให้ยุติประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน แล้วใส่ใจกับการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน หรือถ้าจำเป็นต้องแก้ ก็ขอเสนอให้ลงประชามติสอบถามความเห็นประชาชนว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้หรือไม่ หากประชามติประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไข ก็จัดให้มี ส.ส.ร. 3 และให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไขมากที่สุด
วิกฤติการเมืองครั้งนี้ ไม่น่าเชื่อว่าคนที่มีบทบาทสูงสุดในการปลดล็อกกลายมาเป็น นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ และหัวหน้าพรรคชาติไทย อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถ้านายบรรหาร ตัดสินใจผิดพลาดอาจซ้ำรอยเหตุการณ์ช่วงพฤษภาทมิฬ 35 ที่นายบรรหาร เป็นแกนนำ 5 พรรคในขณะนั้นคือ พรรคชาติไทย สามัคคีธรรม กิจสังคม ประชากรไทย ราษฎร สนับสนุน พล.อสุจินดา คราประยูร ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จนถูกเรียกว่า "พรรคมาร" ในขณะที่อีก 4 พรรคคือ พรรคความหวังใหม่ ประชาธิปัตย์ พลังธรรม เอกภาพ คัดค้านนายกฯ คนนอก จนถูกเรียกว่า"พรรคเทพ" การตัดสินใจผิดพลาดของนายบรรหาร ครั้งนั้น ทำให้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ตามมา
แต่ตอมาในช่วงปี 2535 นายบรรหาร ก็สามารถแก้ตัวจนได้รับการยอมรับ เพราะกล้าทำสัญญาประชาคมว่า ถ้าได้รับเลือกเป็นนายกฯ จะแก้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2538 มาตรา 211 เพื่อจัดตั้ง ส.ส.ร. จนนำมาสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ ได้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 จนเรียกกันว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
การประชุมพรรคร่วม 6 พรรคในวันที่ 7 พ.ค.นี้ เพื่อลงมติต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่นายบรรหาร เป็นผู้มีบทบาทสูงสุดในการกำหนดทิศทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง สังคมก็คงได้แต่หวังว่า นายบรรหาร จะไม่ตัดสินใจพลาดเหมือนเมื่อปี 2535 เพราะพลาดครั้งนี้ อาจไม่มีโอกาสได้แก้ตัว
นายสุริยะใส ยังกล่าวถึงนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย ที่ออกมากล่าวทำนองว่า พันธมิตรฯ อยากให้มีการรัฐประหาร จึงสร้างเงื่อนไขชุมนุมขึ้นมานั้น ถือเป็นการตัดตอน บิดเบือนข้อเท็จจริงทางการเมือง ถ้ารัฐบาลไม่ดันทุรังรื้อรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดตนเอง ถามว่าพันธมิตรฯ จะใช้เงื่อนไขใดในการจัดชุมนุม หรือแม้แต่ในช่วงก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ถ้าระบอบทักษิณไม่ยุบสภาหนีการตรวจสอบ หรือใช้อำนาจมิชอบจะเกิดปรากฎการณ์ สนธิ และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้อย่างไร
ทั้งนี้ หากนายจาตุรนต์ ฟังข้อเสนอแนะของพันธมิตรฯ จะเห็นว่า เราไม่ได้ค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบหัวชนฝา ถ้าแก้เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ และข้อเสนอของพันธมิตรฯ ให้รัฐบาลทำประชามติว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ นั้นเป็นข้อเสนอที่ยุติธรรมที่สุดกับทุกฝ่าย ถ้าประชาชนเห็นด้วย พันธมิตรฯ ก็ไม่มีเหตุต้องชุมนุมเคลื่อนไหว และกระบวนการลงประชามติไม่เป็นรูปแบบประชาธิปไตยตรงไหน เพราะนี่คือพัฒนาการขั้นสูงสุดของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ถ้าอ้างว่ายึดมั่นศรัทธาประชาธิปไตยจริง ทำไมต้องกลัวการลงประชามติ หรือการตัดสินใจโดยตรงของประชาชน
การที่นายจาตุรนต์ และพรรพลังประชาชน กล่าวหาตลอดว่า ประชามติ 14 ล้านกว่าเสียงรับรัฐธรรมนูญ 50 เป็นประชามติที่มัดมือกชกประชาชน แต่ทำไมไม่กล้าลงประชามติถามประชาชนว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่เครือข่ายระบอบทักษิณ กล่าวหาหรือไม่

**"ลูกกรอก"เร่งแก้รธน. ยันไม่มีปฏิวัติ
นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ และรองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่เป็นชนวนเหตุให้เกิดการปฏิวัติ ตามที่กลุ่มพันธมิตรฯ นำมากล่าวอ้าง และยืนยันว่าต่างประเทศ เข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทยเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีในรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาของประชาชน ด้วยการลดการให้สัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง เพื่อลดความแตกแยก
นายนพดล ยังเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชาชนในการเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร แทนนายยงยุทธ ติยะไพรัช ซึ่งคาดว่าในวันนี้ (6พ.ค.) จะได้ข้อยุติเรื่องตัวบุคคล พร้อมยืนยัน การสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีใบสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

**อ้างฝ่ายค้านรับ"ชัย ชิดชอบ"ได้
นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม ในฐานะประธาน ส.ส.ภาคอีสาน พรรคพลังประชาชน กล่าวว่าโดยส่วนตัวเห็นว่า ผู้ที่จะมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกทั้งสภา ไม่เฉพาะผู้ที่อยู่ในฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น โดยเมื่อได้พูดคุยกับสมาชิกพรรคฝ่ายค้านบางคน ก็มีความเห็นว่า นายชัย ชิดชอบ ส.ส.บุรีรัมย์ มีความเหมาะสม อีกทั้งตนยังเห็นว่า นายชัย อยู่ในสภามานานและไม่มีความด่างพร้อยอะไร
นายทรงศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ไปรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับจากอังกฤษ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ได้กล่าวถึงการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่แต่อย่างใด
ขณะที่ ส.ส.กลุ่มภาคเหนือ ได้สนับสนุน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาฯ ขึ้นมาทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานสภาฯ เพราะมีความเหมาะสม และเตรียมเสนอชื่อนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย เป็นรองประธานสภาแทน เนื่องจากเป็นโควต้าของภาคเหนือ
กำลังโหลดความคิดเห็น