“บัญญัติ” ฟันธง ไทยวิกฤตแน่ หาก พปช.ดันทุรังเดินหน้าแก้ รธน.ฉบับ ‘ของกู’ ชี้ฟางเส้นสุดท้าย จุดชนวนให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ เตือนอย่าคิดแหกตาอ้างเปิดให้แปรญัตติเพราะหมดสิทธิ์แก้ไขขัดกับหลักการเหตุผล แนะให้ใช้การแก้ รธน.เป็นเครื่องมือสร้างสมานฉันท์คนในชาติ เปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ด้าน “อภิสิทธิ์” หนุนตั้ง สสร.เต็มที่
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.ระบบสัดส่วนกลุ่ม 8 และรองประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากรัฐบาลยังดึงดันที่จะเดินหน้าแก้รัฐะรรมนูญต่อไป จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่จะทำให้เกิดวิกฤตประเทศอย่างรุนแรงที่สุด เพราะขณะนี้แม้จะไม่มีเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เราก็กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจ และปัญหาปากท้องอยู่แล้ว โดยผลสำรวจที่ออกมาว่าไม่พอใจต่อการทำงานของรัฐบาล แม้รัฐบาลจะด่าว่าเป็นโพลเฮงซวยแต่ก็สามารถสะท้อนความคิดของประชาชนได้ ซึ่งรัฐบาลควรทำใจให้ว่างจะพบว่าเป็นตัวเลขที่น่ากลัวมาก
โดยเฉพาะกรณีที่แรงงานขอขึ้นค่าแรง 9 บาททุกเพื้นที่ หากรัฐบาลยินยอมอาจจะมีทางออก แต่กลับให้บางพื้นที่แค่ 2 บาท ขณะที่ขึ้นราคาน้ำตาลทราย 5 บาท ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลถึงทำเรื่องนี้ได้ เพราะจะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง นอกจากนี้ที่น่าตกใจคือผลงานของนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ที่ได้คะแนนน้อยที่สุด และการหยิบเรื่องรัฐธรรมนูญมาแก้ไขไม่สามารถอธิบายได้ แม้จะเอาร่างของปี 40 มาอ้างแต่ก็ยังมีการหมกเม็ด สิ่งที่ตัวเองต้องการเอาไว้
“รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้รัฐธรรมนูญเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่จะก่อวิกฤตให้ประเทศ แต่ควรจะใช้โอกาสนี้เอารัฐธรรมนูญมาเป็นตัวสมานฉันท์ของคนในชาติ คือ จัดตั้งองค์กรขึ้นมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยประกอบจากทุกฝ่าย รวมถึงตัวแทนบางส่วนของพรรคการเมือง ที่ไม่ได้มีจำนวนมากพอที่จะมีอิทธิพลต่อเสียงส่วนใหญ่ในองค์กร แต่จะสามารถใช้ประสบการณ์ทางการเมืองช่วยแนะนำในบางประเด็นที่นำไปใช้แล้วอาจจะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้บ้าง”
ส่วนที่รัฐบาลอ้างว่าเพราะต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญที่มาอย่างมิชอบ นายบัญญัติกล่าวว่า การจะดูรัฐธรรมนูญต้องประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ที่มา กระบวนการจัดทำ และเนื้อหาสาระ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ได้เลวร้าย เพียงแต่บางมาตราที่เข้มงวดมากเกินไป และกระบวนการจัดทำก็ประกอบด้วยตัวแทนหลายฝ่าย ส่วนเนื้อหาก็ใช้ได้ มีการไปเติมช่องว่างของฉบับปี 40 ที่บางคนสามารถเบี่ยงเบนการใช้อำนาจ รวมถึงกระบวนการตรวจสอบต่างๆ ที่เป็นไปได้ยาก เมื่อมีการพยามปิดช่องนี้จึงทำให้ดูเป็นการเข้มงวดมาเกินไป จึงเป็นหน้าที่ขององค์กรที่จะต้องชี้แจง ไม่ใช่รัฐบาลชุดนี้พูดเอง
“เท่าที่ผมได้พูดคุยกับ ส.ส.บางส่วนในรัฐบาลเองก็ยอมรับว่ามีความกังวล และไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขที่กำลังทำอยู่ และกังวลว่าประชาชนจะรับไม่ได้ โดยเฉพาะ ส.ส.ใหม่เขาไม่อยากให้มีการเลือกตั้งใหม่ และในฐานะคนไทยก็ไม่อยากให้มีความขัดแย้ง เพราะทุกวันนี้เราก็กำลังวิกฤตข้าวยากหมากแพงอยู่แล้วทำไมต้องไปซ้ำเติมให้หนักยิ่งขึ้น”
นายบัญญัติ กล่าวต่อว่า แม้จะมีการตั้งกรรมาธิการ แต่ก็มี 2 จุดที่ต้องจับตามอง คือ แม้จะมีการเอาคนนอกมาเป็นกรรมาธิการด้วย แต่สุดท้ายไม่พ้นพรรคพลังประชาชนที่เป็นรัฐบาลจะเป็นคนเลือกเอง ก็ไม่มีประโยชน์อะไร และแม้จะมีการแปรญัตติแต่อย่าลืมว่า ไม่ว่าจะแปรอย่างไรก็ต้องอยู่ในกรอบของหลักการ และเหตุผล ไม่สามารถขัดกันได้ ฉะนั้นเจ้าของร่างสามารถที่จะกำหนดหลักการ เหตุผลอย่างไรก็ได้อยู่แล้ว แม้คนทั่วไปไม่รู้แต่นักการเมืองด้วยกันก็มองออกและรู้เท่าทัน ซึ่งตนไม่อยากใช้คำว่ารัฐบาลหวังหลอกต้มประชาชน แต่มันก็เป็นเช่นนั้น การบอกจะเอาตามร่างฯ ปี 40 แต่ไปตัดมาตรา 237 และ 309 อย่างนี้ไม่หลอกก็เหมือนหลอก
“ที่พลังประชาชนกล้าเดินหน้าต่อเพราะมั่นใจในเสียงสนับสนุนว่ามีเพียงพอ ผมคิดว่าฝ่ายที่ยังพอถ่วงดุลได้คือพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 พรรค ที่ควรแสดงความกังวลให้ปรากฎว่าสิ่งที่พลังประชาชนกำลังทำอย่างนี้ไม่ดี จะเกิดปัญหาแน่นอน แต่ถ้าเราหวังพึ่งพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ผมเชื่อว่าวิกฤตครั้งใหญ่อย่างแน่นอน”
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลว่า ตนอยากให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการที่มีส่วนร่วม ซึ่งฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรไปทบทวน เพราะสมัยประชุมใกล้จะหมดแล้ว ควรที่จะเลือกว่าจะตั้งกรรมาธิการศึกษาร่วมกันหรือตกลงในแนวทางที่จะให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ทุกฝ่ายในสังคมมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งถ้าเป็นไปในแนวทางดังกล่าว ฝ่ายค้านก็จะสนับสนุน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุให้นำร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาก่อน แล้วค่อยมีการตั้งกรรมาธิการมารับฟังความคิดเห็น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เท่าที่ตนได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาล เหมือนกับว่ารัฐบาลไม่ได้คิดอะไรนอกจากเป้าหมายในเหตุการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากใช้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการตัดแปะ คือคงบทบัญญัติหมวด 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ไว้ และต่อท้ายด้วยรัฐธรรมนูญ 2540 ส่วนที่เขียนใหม่มีเพียงบทเฉพาะกาล ที่มีเป้าหมายเพื่อให้องค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่ง ทำให้เห็นว่าไม่ได้มีความตั้งใจปรับปรุงรัฐธรรมนูญกันจริงๆ ส่วนการแปรญัตติปล่อยให้เป็นไปโดยเสรี ไม่มีการพูดคุยในกรอบกันก่อน ตนเกรงว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คือจะยืดเยื้อมาก
ส่วนที่มีการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 แทนการตั้งกรรมาธิการมาศึกษา นายอภิสิธิ์กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นแนวทางที่ดี ซึ่งพรรคจะหารือกันในวันที่ 6 พ.ค.ว่าจะพิจารณากันในแนวทางนี้หรือไม่ เพราะคิดว่าแนวทางนี้ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นกระบวนการที่จะเปิดให้การมีส่วนร่วมในวงกว้าง และจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นระบบมากขึ้น
เมื่อถามว่า ข้อเรียกร้องจากหลายฝ่าย ดูเหมือนรัฐบาลไม่ค่อยรับฟังหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องฟังเสียงของสังคม ซึ่งเห็นได้ว่ามีการปรับท่าทีมาตามลำดับ ถ้ารัฐบาลมีความตั้งใจทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น น่าจะฟังเสียงจากสังคม ที่ตอนนี้มีความใกล้เคียงกันมากคือใช้วิธีการตั้งองค์กรเพื่อศึกษาก่อน หรือมีกระบวนการในลักษณะของ ส.ส.ร.
ส่วนที่จะเร่งรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้เสร็จทันสมัยประชุมนี้ ตนคิดว่าคงไม่ทัน อย่างเก่งก็แค่รับหลักการ ซึ่งไม่ได้เป็นคำตอบว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ นอกจากบทเฉพาะกาลมันคืออะไร เพราะร่างของรัฐบาลไม่ได้สนใจบทบัญญัติถาวรเท่าไร แต่มีเป้าหมายชัดเจนในเรื่องขององค์กรอิสระ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้ เพราะดูเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเองมากกว่า
“ผมอยากเรียกร้องไปยังพรรคร่วมรัฐบาลที่ยังไม่มีข้อยุติที่ชัดเจน อยากให้ลองไปพิจารณาเรื่องกรรมาธิการศึกษา หรือการตั้ง ส.ส.ร.เป็นทางเลือก” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า มองอย่างไรหากพรรคเพื่อแผ่นดินเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีท่าทีอย่างไร โดยเฉพาะที่มีหลายฝ่ายเสนอทางเลือกมากขึ้น
ส่วนกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ระบุว่าคนที่ออกมาคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ คือต้องการปกป้องและพยายามเบี่ยงเบนประเด็นให้ร้ายกับฝ่ายตรงข้าม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีแต่สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญที่จะทำให้รัฐธรรมนูญดีขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยกับคนที่เอาประชาธิปไตยมาอ้างเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งนายจาตุรนต์ก็น่าจะมองออก ลองกลับไปดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขโดยพรรคพลังประชาชนที่เสนอมาครั้งแรก นายจาตุรนต์ตอบได้หรือไม่ว่า เกี่ยวข้องอะไรกับการปรับปรุงระบบการเมือง นอกจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือมาตรา 237 และ 309
ปชป.เตรียมหาคนชิงตำแหน่ง ปธ.สภา
นายอภิสิทิ์ กล่าวถึงคุณสมบัติของประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ว่า คุณสมบัติสำคัญคือมีความเป็นกลาง และต้องแม่นข้อบังคับ เป็นสิทธิ์ของพรรคพลังประชาชนจะเสนอใคร แต่ตนแนะนำให้มีคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับของสภาฯ มีความเป็นกลาง ส่วนทางพรรคประชาธิปัตย์จะมีการหารือถึงการเสนอใครเข้าชิงตำแหน่งประธานสภาฯในการประชุมพรรคเช่นกัน ซึ่งก็มีรายชื่อที่มีคุณสมบัติเหามะสมหลายคน