ผู้จัดการรายวัน -- ในช่วง 2 สัปดาห์ต้นเดือน ม.ค.นี้ คนงานหลายพันคนได้ทยอยกันนัดหยุดงานกว่า 30 ครั้งใน จ.ด่งนาย (Dong Nai) และนครโฮจิมินห์ ซึ่งทำให้เขตอุตสาหกรรมในภาคใต้เวียดนามเป็นอัมพาต
เงินเฟ้อที่สูงมาก รวมทั้งการที่รัฐบาลขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้ ทำให้คนงานหยุดงานเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงหรือให้ลดชั่วโมงทำงาน หรือให้นายจ้างจ่ายโบนัส
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วคนงานของบริษัท เจยัง (J. Young) ในเขตห็อกเมิน (Hoc Mon) นครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นของนักลงทุนเกาหลีได้หยุดงานเป็นเวลา 6 วัน คนงานอ้างว่าถูกใช้งานอย่างหนักมาก แต่ได้รับค่าจ้างเพียงเดือนละ 1.5-1.6 ล้านด่ง (ประมาณ 93.8-100 ดอลลาร์) เท่านั้น
การนัดหยุดงานไม่ใช่เรื่องใหม่ในเวียดนาม กรณีพิพาทแรงงานมีถี่ขึ้นทุกปีในช่วงปีใกล้ๆ นี้ ขณะที่ทุนต่างชาติไหลเข้าประเทศนี้ไม่หยุดยั้ง เพื่อใช้แรงงานราคาถูกในการผลิตสินค้าส่งออก
เมื่อปีที่แล้วอัตราเงินเฟ้อในเวียดนามพุ่งทะยานขึ้นเป็น 12.6% สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ค่าจ้างแรงงานปัจจุบันเพียงแต่ช่วยให้คนงานมีชีวิตรอดไปวันๆ นอกจากนั้น นายจ้างส่วนใหญ่ไม่จัดสวัสดิการอาหารมื้อเที่ยงวันให้ลูกจ้าง
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ (Tuoi Tre) คนงานเวียดนามในบริษัทลงทุนของต่างประเทศมีจำนวนไม่น้อยทำงานแบบไม่มีสัญญาจ้าง ไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงพิเศษเป็นค่าความเสี่ยงในงานที่เสี่ยงอันตราย
“เราถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลา ด้วยค่าจ้างต่ำมาก ขณะที่พวกเราเหนื่อยจนหมดแรงแล้วในแต่ละวัน” เตื่อยแจ๋อ้างคำกล่าวของคนงานผู้หนึ่ง
อีกคนหนึ่งกล่าวว่า มีบางครั้งนายจ้างโยนขนมปังให้ก้อนหนึ่ง เพื่อให้คนงานทำงานจนถึงเวลา 3 ทุ่ม บางคนเป็นลมล้มฟุบลงขณะทำงาน
ในต้นเดือน ม.ค.คนงานที่โรงงานของบริษัทเวียดนามแห่งหนึ่งใน จ.ด่งนาย ผละงานเพื่อประท้วงวิธีการคิดคำนวณเงินเดือนของนายจ้าง ที่คนงานเห็นว่าไม่ยุติธรรม
คนงานบริษัทนี้กล่าวว่า นายจ้างเพิ่มค่าจ้างให้พนักงานที่รับเข้าใหม่คนละ 150,000 ด่ง (9.40 ดอลลาร์) ต่อเดือน แต่เพิ่มให้แก่พนักงานเก่าเพียง 30,000 ด่ง (1.80 ดอลลาร์) ทั้งนี้ เพื่อให้เท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนดออกมาใหม่เท่านั้น
การประท้วงก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรม หรือเรียกร้องสวัสดิการบางอย่างจากนายจ้าง เพื่อให้คนงานปฏิบัติงานได้สะดวกขึ้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่การประท้วงในช่วงนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำและการเรียกร้องเงินโบนัส
นายจ้างส่วนใหญ่จะโอนอ่อนผ่อนตามการเรียกร้องของลูกจ้าง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้สายการผลิตสะดุดหยุดลง ส่งผลให้ไม่สามารถส่งสินค้าทันเวลา
นายเหวียนฮวีเกิ่น (Nguyen Huy Can) ประธานสหพันธ์แรงงานนครโฮจิมินห์ กล่าวว่า นายจ้างส่วนใหญ่ยังคงไม่ใส่ใจปรับเงินเดือนให้เหมาะสมกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย อันเป็นสาเหตุให้เกิดการนัดหยุดงานหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา
“ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราค่าจ้างพื้นฐาน เพื่อใช้กำหนดเงินเดือนของลูกจ้าง.. บริษัทนายจ้างหลายแห่งทำผิด จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐกำหนดเท่านั้น” นายเกิ่น กล่าว
ตามกฎหมายเวียดนาม การนัดหยุดงานต้องได้รับอนุญาตจากกรรมการบริหารของบริษัทนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างจะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 5 วัน