xs
xsm
sm
md
lg

“วิชา” แฉ “สมัคร” หนียุบพรรค-ลดวาระ ป.ป.ช.-ล้มคดีทุจริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิปรัฐบาลปรับแผนใหม่หลัง รธน.ฉบับพลังประชาชนที่มี “ชูศักดิ์” ยกร่างถูกต้านหนัก หวั่นรัฐบาลพัง ใช้วิธีโยนให้รัฐสภาดำเนินการตั้ง กมธ.มี ส.ส., ส.ว.และภาคประชาชนร่วม คงหมวด 1 และ 2 ตาม รธน.ปี 50 นอกนั้นเอาฉบับปี 40 เป็นหลัก ดันนำเข้าสภาวาระแรกภายใน เม.ย. เร่งให้เสร็จเดือน ก.ย. ด้าน “วิชา” ชี้ “สมัคร” รับสารภาพกลางอากาศแก้ รธน.หนียุบพรรค ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาชาติ ชี้ลดวาระ ป.ป.ช.หวังผลคดีทุจริต เตือนให้ถามประชาชนเพราะลงประชามติมา กกต.ระบุสั่งไม่ได้เลยถูกลดอายุ

วานนี้ (21 เม.ย.) มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) นายสามารถ แก้วมีชัย เลขานุการ วิปรัฐบาล แถลงหลังการประชุมว่า คณะอนุกรรมการศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญของวิปรัฐบาล พิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ข้อสรุปว่า 1.แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2. การแก้ไขดังกล่าวจะคงรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ไว้เฉพาะหมวดที่ 1 และ 2 นอกจากนั้นเอาฉบับปี 2540 มาใส่ทั้งหมด และจะพยายามเสนอเข้ารัฐสภาให้ทันพิจารณาวาระรับหลักการในเดือนเม.ย.นี้ เพราะสภาฯจะปิดสมัยประชุมสามัญวันที่ 19 พ.ค.

นายสามารถ กล่าวว่า เมื่อเข้าวาระรับหลักการเสร็จแล้ว ก็จะตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณา ซึ่งกรรมาธิการฯชุดนี้ นอกจากจะมีส.ส. และ ส.ว. แล้วเราจะเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน อาทิ นักวิชาการ หรือตัวแทนจากองค์กร ภาคเอกชนทั้งหลาย เข้ามามีส่วนร่วมในกรรมาธิการฯ โดยกรรมาธิการฯชุดนี้ ก็สามารถตั้งคณะอนุกรรมาธิการได้อีกหลายคณะ เช่น คณะอนุกรรมาธิการรับฟังความเห็นทำประชาพิจารณ์จากประชาชนในหมวดเรื่อง สิทธิเสรีภาพ หรือ คณะอนุกรรมาธิการหมวด ที่ว่าด้วยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หมวดที่ว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งหากใครสนใจ แสดงความคิดเห็นในหมวดใด ก็เข้าช่องทางที่เรามีคณะอนุกรรมาธิการอยู่

นายสามารถ กล่าวว่า หลังจากคณะอนุกรรมาธิการไปทำงานเปิดเวทีรับฟังความเห็นทั่วประเทศแล้ว ก็จะประมวลความคิดเห็นทั้งหลายมาสู่กรรมาธิการฯ เพื่อประกอบการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ และเราจะเปิดโอกาสให้ทั้งส.ส.และส.ว. ขอแปรญัตติได้ ใครอยากแก้ไขเพิ่มเติมตรงไหน ก็มีสิทธิยื่นแปรญัตติได้

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเราไม่จำเป็นต้องตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ใหม่ เพราะเราสามารถใช้กรรมาธิการฯให้ตั้งอนุกรรมาธิการได้ และออกไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนได้ ดังนั้นการร่างจะมีลักษณะคล้ายปี 2540 คือคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชน เป็นสำคัญ

“เราก็มี ส.ส.และ ส.ว.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมี ส.ส.ร. ซึ่งถ้าทำแบบนี้ก็เหมือน ส.ส.ร.น้อย และยังมีการตั้งอนุกรรมาธิการฯออกรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย ก็เท่ากับว่าเรามีส่วนร่วมของประชาชนด้วยเช่นกัน”

คาดกันยายนแก้ไข รธน.เสร็จ

นายสามารถกล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปก็จะมีการพิจารณาวาระ 2 รายมาตรา หลังจากนั้นก็พักไว้ 15 วันเพื่อลงมติในวาระที่ 3 ก็คาดว่าประมาณเดือนกันยายน กระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องแก้ให้เสร็จก่อนคดียุบพรรคหรือไม่ นายสามารถ กล่าวว่า เราไม่ได้มีธงอะไรไว้ ปล่อยไปตามธรรมชาติ ซึ่งตามกำหนดแล้วจะมีการประชุมสภา ถึงวันที่ 19 พ.ค. ดังนั้นเราต้องรับหลักการรัฐธรรมนูญในวาระแรก และตั้งกรรมาธิการ ก่อนวันที่ 19 พ.ค. จากนั้นพอปิดสมัยประชุมก็เป็นเรื่องของกรรมาธิการที่จะประชุมหารือกัน และเปิดสมัยประชุมอีกครั้งในเดือนสิงหาคม ก็คิดว่าประมาณเดือนกันยายนถึงจะผ่านในวาระที่ 3 ได้

นายสามารถ กล่าวว่าตัวแทนแต่ละพรรคในอนุกรรมการวิป พรรคละ 2 คน ก็เห็นชอบด้วยในหลักการดังกล่าว ซึ่งในวันที่ 23 เม.ย.จะนำร่างสุดท้ายมาให้คณะอนุกรรมการวิปดูอีกครั้งและนำกลับไปยังพรรคของตนเอง และนำไปสู่ร่างสมบูรณ์ที่จะเสนอต่อรัฐสภา โดยจะให้ทุกพรรคมาร่วมกันเซ็นชื่อ ทั้งนี้ยืนยันว่าจะไม่มีการตั้งส.ส.ร.ขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง แต่จะใช้กระบวนการรัฐสภาในการแก้ไขตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 291 บัญญัติวิธีการแก้ไขไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่ได้กังวลว่าจะมีการแปรญัตติมากเกินไป เพราะคงไม่มีใครคิดทำ เพราะถ้าคิดแปรญยัติรายมาตราก็จะรู้ว่าเป็นการดึงเวลา

ตั้ง กมธ. 60 คนมีคนนอก 10 คน

ผู้สื่อข่าวถามว่าภาคส่วนอื่นๆ จะเข้ามาเป็นกรรมาธิการได้อย่างไร นายสามารถ กล่าวว่า เราจะพูดในที่ประชุมรัฐสภา เราจะจัดสัดส่วนให้บุคคลภายนอก ด้วยความ เห็นชอบของรัฐสภา เราจะล้อแบบ ส.ส.ร.เมื่อปี 2540 เช่น จะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านรัฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์กฎหมายมหาชน และผู้เชี่ยวชาญทางด้าน การบริหารราชการแผ่นดิน ทั้ง 3 ส่วนนี้จะต้องมารวมกันอยู่ในกรรมาธิการฯ ชุดนี้

ส่วนคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้เท่าที่พูดคุยกันคร่าวๆ จะมีประมาณ 60 คน มีบุคคลภายนอกสัก 10 คน ที่เหลือจะเฉลี่ยกันใน ส.ส.และ ส.ว. สำหรับคุณสมบัติบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาเป็นกรรมาธิการฯยังไม่ได้คุยกัน แต่คงจะให้ที่ประชุมรัฐสภากำหนด

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะเข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการฯ ด้วยได้หรือไม่ นายสามารถกล่าวว่า ถ้าอยู่ในเกณฑ์จบจบนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ก็สามารถตกลงกันได้ว่าจะเป็นใคร แต่ไม่ใช่ว่าเราจะบอกว่าให้กลุ่มพันธมิตรฯ ส่งมา 1 คน เพราะเดี๋ยวมันจะยุ่งเนื่องจากไม่รู้ว่ามีกลุ่มอะไรบ้าง

นายสามารถ กล่าวว่า ในวันพุธที่ 23 เม.ย.นี้ จะแจกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สมบูรณ์ให้ทราบ แต่ยัง มีปัญหาอยู่ที่บทเฉพาะกาล เนื่องจากจะต้องมา พิจารณาว่า องค์กรทั้งหลายที่ดำรงอยู่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ให้เขาทำงานต่อไปหรือไม่ อย่างไร ซึ่งต้องเขียนไว้ ในบทเฉพาะการ ซึ่งพรรคร่วมก็ยังไม่ได้เห็นร่างนี้ แต่พูดอย่างนี้ก็น่าจะรู้ว่าหมวด 1 และ 2 เป็นของรัฐธรรมนูญปี 2550 ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไปจะเป็นของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งพรรคร่วมต้องมานั่งพิจารณากันอย่างละเอียดคือบทเฉพาะกาลว่าจะให้แต่ละองค์กร มีสถานภาพอยู่อย่างไร ที่มีข่าวว่าจะให้อยู่ 180 นั้นยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องนี้

เหตุโละร่าง รธน.ฉบับ พชป.หวั่นพัง

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ และในฐานะอนุกรรมการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ2550 พรรคพลังประชาชน กล่าวว่าวิปรัฐบาลจะไม่ใช้ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะทำงานยกร่างรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชนที่มี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานยกร่างฯ เสร็จแล้วมาเสนอต่อรัฐสภา โดยนายชูศักดิ์ เห็นว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเดินต่อไปไม่ได้แล้ว บ้านเมืองจะพัง เพราะหยิบยกประเด็นใดก็ถูกตีความไปหมด เช่น เรื่อง วาระการดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.และกกต. ก็เกิดการต่อต้านทั้งๆ ที่เป็นรายละเอียด จึงเห็นว่าควรปล่อยให้เป็นกระบวนการสภาว่ากันไป ส่วนฝ่ายบริหารก็บริหารประเทศ

นายวรวัจน์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องยอมรับและทำใจว่า คงเกิดเหตุการณ์ยุบพรรคก่อนแน่นอน แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทำเพื่อสมัยหน้า เรายอมรับตั้งแต่วันนี้ว่าการยุบพรรคจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นทำอะไรไม่ได้แล้ว

ส่วนข้อเสนอที่ให้มีส.ส.ร.นั้น นายวรวัจน์ กล่าวว่า ที่ประชุมวิก็มีการพูดถึง แต่เห็นว่าองค์ประกอบดีที่สุดคือการตั้งกรรมาธิการ อะไรดีหรือไม่ดีควรว่ากันในกรรมาธิการ อีกทั้งการมีกรรมาธิการยังสามารถให้เหตุผลต่อประชาชนได้ เนื่องจากมีส.ส. ,ส.ว.เข้าร่วมซึ่งคนเหล่านี้มาจากฐานประชาชนจริงๆ เป็นผู้ที่รู้ปัญหา

“ใครอยากแก้อะไรก็ไปที่กรรมาธิการ ใครอยากให้ส.ว. องค์กรอิสระ อยู่กี่วัน ให้ไปพูดกันในกรรมาธิการ เราไม่มีตุ๊กตาอะไรอีกแล้ว เราไม่ต้องการเล่นเกมนอกสภา ทุกอย่างว่ากันที่สภา ทุกวันนี้พูดกันไม่ลดราวาศอกเอากำลังมาชนกันประเทศชาติ ไปไม่รอด นอกจากนี้การแก้รัฐธรรมนูญในสภาจะได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ เพราะส.ส.ก็มาจากประชาชน และเมื่อเป็นประชาธิปไตยแล้วหากมาพูดเรื่อง ยุบองค์กรอิสระก็อาจถูกวิจารณ์ว่าเป็นประเทศที่ล้าหลังในขณะที่ประเทศเป็นบรรยากาศประชาธิปไตย”

ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงกรณีที่วิปรัฐบาล ไม่เห็นด้วยที่จะให้มี ส.ส.ร.ภาค 3 ว่า ก็ว่ากันไปแต่หลักการตรงกันคือ จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ส่วนรายละเอียดวิธีการแก้ไขนั้นต้องหารือกัน โดยในพรรคพลังประชาชนจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือในที่ประชุมวันที่ 22 เม.ย.นี้ เพื่อพิจารณาถึงการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และการตั้งส.ส.ร. มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ในเบื้องต้นคิดว่าการตั้งส.ส.ร.ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีของพรรค จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จได้สูงกว่า เพราะช่วยลดแรงต้านจากสังคม

เพื่อแผ่นดินอ้างเป็นพรรคเล็กลู่ตามลม

นายโสภณ เพชรสว่าง คณะทำงานศึกษาข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 พรรคเพื่อแผ่นดิน แถลงหลังการประชุมพรรคว่าได้รับแจ้งจากวิปของพรรคเพื่อแผ่นดิน ว่าวิปรัฐบาลมีมติจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปโดยไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอตั้ง ส.ส.ร.ของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ดังนั้นในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีเสียงเพียง 24เสียงจึงไม่สามารถทัดทานอะไรได้ จำเป็นต้องฟังพรรคการเมืองใหญ่

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อแผ่นดินยังอยากให้มีการรับฟังความคิดเห็น ที่หลากหลายจากหลากหลายอาชีพ ที่ประชุมคณะทำงานฯจึงมีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับและขอเปิดเวทีให้ประชาชนและนักวิชาการ มีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นมายังพรรคเพื่อแผ่นดิน บ้านเลขที่1 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม.10330

คำพูด “สมัคร” ทำให้เห็นเจตนารมณ์ชัด

นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) กล่าวว่า หากนายกรัฐมนตรียอมรับว่าที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะถ้ามีการยุบพรรคก็จะต้องยุบสภาตั้งแต่แรกคนก็จะเข้าใจแล้วว่าประเด็นเหล่านี้คือ เป้าหมายของการแก้รัฐธรรมนูญและคงไม่ต้องมานั่งถามว่าแก้เพราะอะไร สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดจะเห็นได้เลยว่า ขณะนี้ไม่ใช่แก้รัฐธรรมนูญด้วยประเด็นต้องการทำให้เศรษฐกิจมั่นคงแล้ว แต่ต้องการไม่ให้ยุบพรรค

“การที่นายสมัครพูดอย่างนี้ทำให้เห็นภาพหรือเจตนารมณ์ชัดเจนและฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำคดียุบพรรคจะทำงานง่ายมากกว่า เพราะประเด็นมันชัดแล้วว่ากระบวนการที่องค์กรอิสระดำเนินการมามันตรงตามรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองจะแก้ปัญหาตัวเองได้หรือไม่ก็อยู่ที่พยานหลักฐาน ถ้าสู้ได้ใครจะยุบ พูดมาแบบนี้ก็คงไม่กระทบหรือกดดันการทำงานคดีของศาล เพราะศาลรัฐธรรมนูญชุดเก่าหรือชุดใหม่ก็ตาม ใครจะไปชักชวนท่านไม่ได้อยู่แล้ว ส่วน กกต.ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าทำตามกฎหมาย”

ส่วนที่ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 50 (ส.ส.ร.) จะนำรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 มาดำเนินการหาก ส.ส.คนใดลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายวิชา กล่าวว่า เป็นความคิดของชมรม ส.ส.ร. 50 ที่บอกให้ระวังว่าการแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าเข้าข้างตัวเองก็อาจจะเข้าข่ายเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ แต่ว่าจริงๆ แล้วเรายังไม่มีการ ทดลองใช้มาตรานี้เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของการตีความว่าเข้าลักษณะการขัดกันของผลประโยชน์หรือไม่ ถ้ามันขัดกันก็จะเป็นเรื่องจริยธรรมที่ประพฤติผิดจริยธรรม อย่างร้ายแรงก็เป็นเรื่องของคนที่จะรวบรวมเสนอเรื่อง ในฐานะเป็น ป.ป.ช. ซึ่งมีส่วนได้เสียแสดงความเห็นไม่ได้ เพียงแต่ประเด็นนี้คงต้องไปศึกษา

ระบุลดวาระ ป.ป.ช.หวังผลคดีทุจริต

“การแก้รัฐธรรมนูญแล้วลดวาระ ป.ป.ช. ผมพูดได้ว่าข้อที่ต้องระวังที่สุดคือ การที่คดีทั้งหลายจะหยุดชะงักและขาดอายุความแล้วอาจจะเผชิญกับการแทรกแซง การสรรหา ป.ป.ช.ใหม่ ซึ่งกว่าจะเข้ากระบวนการสรรหาได้ถ้าเอาตามแบบรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ก็จะเป็นว่าในอดีต ป.ป.ช.เคยรอเข้าสู่ตำแหน่งเป็นปีโดยไม่ได้เงินเดือน เพราะสรรหาแล้วมีคนคัดค้านตีความจนวุ่นวาย”

นายวิชา กล่าวว่า รัฐบาลจะเปลี่ยน ป.ป.ช.หรือไม่ต้องไปถามประชาชน เพราะมาเป็น ป.ป.ช.โดยการลงประชามติของรัฐธรรมนูญ การมาทำอะไรกับ ป.ป.ช. ควรถามประชาชนถ้าเห็นว่าไม่ได้เรื่อง ป.ป.ช.จะออกโดยดี

“เรื่องนี้จุดประสงค์หรือเป้าหมายหลักคือ ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของ ป.ป.ช.เพราะว่ามันมีการต่อสู้คดีค่อนข้างรุนแรง การต้องเผชิญหน้ากับองค์กรที่คนยังเชื่อถือและศรัทธา ถ้าให้ดำเนินการไปด้วยความราบรื่นมันก็จะต่อสู้คดียาก เช่นเรื่อง ไปถึงศาล พยานหลักฐานชัดเจน ตัดสินออกมาแล้วประชาชนก็เห็นชอบด้วย ดังนั้น ถ้าทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือศรัทธาผลการตัดสินคดีด้วยการลดความน่าเชื่อถือองค์กร ก็จะเป็นตัวทำให้กระแสสังคมเบี่ยงเบนไป เช่น คดีหนึ่งที่ผ่านมามีการเอารายชื่อ คนเป็นล้านๆ คนมากดดันก็ทำให้คนบกพร่องโดยสุจริตแล้วผ่านไปได้”

นายวิชา กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า หากรัฐบาลไม่ทำประชาพิจารณ์ถามประชาชน ก็อาจจะมีการนำไปหาช่องทางไล่ไปสู่ท้องถนน ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดเรื่องอย่างนั้น แต่จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงหรือไม่ตนบอกไม่ถูกเพราะไม่ใช่โหร

“โคทม” เผยลดวาระ กกต.ไม่ใช่เรื่องด่วน

นายโคทม อารียา อดีต กกต. กล่าวว่าการแก้รัฐธรรมนูญลดวาระ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) น่าจะเป็นประเด็นปลีกย่อยที่ไม่จำเป็นต้องเร่งพิจารณา เพราะจะเป็นการยกประเด็น ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาโดยไม่จำเป็น ขณะนี้แค่ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ทำให้เกิดอารมย์ที่ร้อนแรงอยู่แล้ว ถ้ามีปัญหาจำเป็นรีบด่วน ก็ควร แก้เฉพาะประเด็นนั้น อย่าอ้างเพียงแต่ว่ามีความชอบธรรมหรือกฎหมาย เปิดให้แก้ไขได้ก็จะแก้ ตามที่เห็นว่าเสียงมีข้างมากลากไป อันนี้ก็จะยิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้ง

“ผมยังไม่เห็นว่าวาระการดำรงตำแหน่งของ กกต. และองค์กรอิสระอื่นๆ จะเป็นกระแสที่มีการขานรับ หรือเกิดเป็นประเด็นเร่งด่วนที่หากไม่แก้เรื่องนี้แล้วจะทำให้ขาดความยุติธรรมขาดความชอบธรรม มันเหมือนของที่ไม่ได้เสียหาย แล้วเอาไปซ่อมแซม มันจะเกิดวามเสียหายยิ่งกว่า”

นายโคทม กล่าวว่า กกต. ชุดปัจจุบันก็มาตามกระบวนการคัดเลือกในรัฐธรรมนูญปี 2540 เพียงแต่รูปแบบและขั้นตอนยังไม่สมบูรณ์ เพราะมาจากการสรรหาของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพียงอย่างเดียว

กกต.สั่งไม่ได้เลยลดวาระ

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า การที่คณะทำงานยกร่างรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชนระบุว่าที่ต้องลดวาระการดำรงตำแหน่งของ กกต. เพราะที่มาไม่ได้มาจากประชาธิปไตยว่า เป็นแนวคิดที่ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะกกต.ชุดนี้ มีที่มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งที่ประชุมของวุฒิสภา ก็เลือกทั้ง 5 คนนี้มาเป็น กกต.จะเหลือก็เพียงขั้นตอนพิธีการ คือ รอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เท่านั้น ดังนั้นกระบวนการจึงถือว่าครบถ้วนแล้ว

“ไม่รู้เจตนาของผู้เสนอที่จะลดวาระการดำรงตำแหน่งของ กกต.เป็นอย่างไร แต่อาจจะเป็นไปได้ว่า การทำงานของกกต.ที่ผ่านมาก็ไม่มีมือที่มองไม่เห็นมาเกี่ยวข้อง และสั่งการไม่ได้ ประเด็นนี้อาจจะทำให้ต้องเร่งให้กกต.ชุดนี้ออกไปหรือไม่ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรทำในเวลาสั้นๆ และทำอย่างเร่งรีบ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีความสำคัญที่จะโยงไปถึงกฎหมายลูกที่ใช้ประกอบรัฐธรรมนูญอีกมาก หากแก้ไขอย่างเร่งรีบอาจส่งผลกระทบอย่างที่คาดไม่ถึง โดยอาจจะมีผลบวกและผลลบตามมา ดังนั้นต้องนำแนวความคิดเพื่อดูว่าแนวทางไหน เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าแนวทางที่ออกมาเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ผมคิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ได้รับการยอมรับ”
กำลังโหลดความคิดเห็น