ชุมพร - ผวจ.ชุมพร พร้อมผู้เชี่ยวชาญรุดตรวจสอบ ซากโครงกระดูกสัตว์โบราณ หลังชาวบ้านพบอยู่กลางป่าพรุ
นายมานิต วัฒนเสน ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ดร.ประอร ศิลาพันธ์ อาจารย์ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นายกฤช รังสิเสนา ณ อยุธยา นายอำเภอหลังสวน และ นายบรรยง อินทมาตย์ นายก อบต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร เดินทางไปตรวจสอบซากกระดูกสัตว์โบราณขนาดใหญ่จำนวนมากในพื้นที่บ้านแหลมริ้ว หมู่ที่ 13 ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน
จากการตรวจสอบพบอยู่กลางป่าพรุ และป่าโกงกาง ห่างจากทะเลประมาณ 5 กม.เป็นชิ้นส่วนซากชิ้นกระดูกสัตว์โบราณขนาดใหญ่ ลักษณะแข็งคล้ายหิน กองกระจายเป็นช่วงๆ อยู่ทั่วบริเวณเป็นระยะทางยาวประมาณ 50 เมตร บางส่วนฝังดินโผล่ขึ้นมาให้เห็นเล็กน้อย นายมานิต วัฒนเสน ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร จึงสั่งการให้ปิดกั้นบริเวณดังกล่าวรวมพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ พร้อมทั้งให้ ดร.ประอร ศิลาพันธ์ อาจารย์ นักโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำการตรวจสอบ พร้อมทั้งบันทึกภาพอย่างละเอียด และตรวจพิสูจน์ซากโครงกระดูกในเบื้องต้น
จากนั้น ดร.ประอร อาจารย์นักโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ซากโครงกระดูกสัตว์ขนาดใหญ่ดังกล่าว น่าจะเป็นสัตว์โบราณยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้อต้นมีกระจายอยู่เป็นบริเวณกว้างประมาณ 50 เมตร ที่พบอาจอาจจะเป็นโครงกระดูกส่วนหลัง ซึ่งยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พอสมควร เมื่อขุดนำขึ้นมาตรวจพิสูจน์ได้ทั้งหมดคงจะมีลักษณะรูปร่างที่ใหญ่โตมาก ซึ่งขณะนี้คงจะได้รายละเอียดอะไรไม่มากนัก เนื่องจากต้องให้คณะผู้เชี่ยวชาญทางด้าน การพิสูจน์ซากสัตว์โบราญมาทำการขุดพิสูจน์อย่างละเอียดอีกครั้ง จึงสามารถบอกอายุ และประเภทสัตว์ได้
“ในขณะที่จากการตรวจสอบเบื้องต้นในวันนี้ คาดว่า น่าจะเป็นซากโครงกระดูกปลาโบราณขนาดใหญ่ หรืออาจจะเป็นสัตว์ในตระกูลไดโนเสาร์ ชนิดที่ชอบอาศัยหากินอยู่ริมทะเล ซึ่งต้องรอผลการตรวจพิสูจน์อีกครั้ง”
ด้าน นายมานิต วัฒนเสน ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ผู้ที่พบซากโครงกระดูกสัตว์โบราญคนแรก คือ นายสราวุธ ปานโชติ อายุ 41 ปี อาชีพทำสวน และหาของป่า เข้าไปขุดหาหอย ตอนแรกคิดว่าเป็นก้อนหินเมื่อสังเกตุดูไปนานๆ มีความรู้สึกว่าไม่ใช่หินธรรมดา จึงได้ไปแจ้งแก่นายก อบต.บางน้ำจืด
จากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ ทราบว่า ในอดีตหลายร้อยปีก่อน บริเวณดังกล่าวน่าจะเป็นเกาะ เรียกว่า “เกาะแหลมริ้ว” ต่อมาน้ำทะเลแห้งจึงกลายเป็นแผ่นดิน อาจจะมีสัตว์โบราณ ขนาดใหญ่อาศัยอยู่ และเท่าที่เดินสำรวจ คาดว่า น่าจะมีหลายตัวอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และตายลงในพื้นที่ดังกล่าว แล้วดินได้ทับถมอยู่ป่าพรุชาย
นอกจากนั้น ในพื้นที่ใกล้กันกับบริเวณที่พบซากโครงกระดูกสัตว์โบราญ ทราบว่า ยังมีซากฟอสซิลหอยโบราญอายุนับพันปีเกาะตัวกันเป็นระยะทางยาวเกือบ 1 กม.ซึ่งชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ไว้และจะได้ประสานให้ กรมศิลปากรส่งผู้เชี่ยวชาญ เข้าไปขุดพิสูจน์ต่อไป