xs
xsm
sm
md
lg

ขุดหัวใจใส่อดีต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรื่องนี่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 500 ปีก่อน อดีตถูกฝังเอาไว้ จวบจนกระทั่ง 500 ปีต่อมา อดีตจึงถูกเปิดเผยขึ้นอีกครั้งที่น่าน

น่าน ดินแดนสงบงามที่ต้องตั้งใจไป น่านไม่ใช่ทางผ่านสำหรับปลายทางอื่นๆ ถ้าอยากพบน่านต้องตั้งใจไป

ย้อนกลับไปปี 2527 โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) หน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ดำเนินการสำรวจศึกษาแหล่งเตาเมืองน่านบ้านบ่อสวกขึ้นเป็นครั้งแรกที่หมู่ 1 บ้านบ่อสวก อำเภอเมืองน่าน แต่ความน่าสนใจเกิดขึ้นจริงๆ เมื่อปี 2542 เมื่อ รองศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ อาจารย์ประจำภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เริ่มเข้าไปทำโครงการวิจัยเครื่องถ้วยล้านนา ในที่ดินของครอบครัวพ่ออุ้ย แสน ธิเสนา (ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) แม่อุ้ย ชื่น ธิเสนา และ จ.ส.ต.มนัส-สุนัน ติคำ

............

สายลมเย็นๆ แต่อบอุ่นของเมืองน่านพัดผ่าน เตาจ่ามนัส เตาเผาโบราณชนิดโครงสร้างดินก่อระบบระบายความร้อนผ่านเฉียงขึ้น (Cross-Draft Kiln with Clay-Slab Structure) ที่น่าจะเรียกว่ายังคงความสมบูรณ์ได้อย่างน่าทึ่ง อย่าแปลกใจถ้าเตานี้จะมีชื่อเหมือนเจ้าของบ้าน เพราะคนคิดชื่อเขาตั้งใจอย่างนั้น

ไม่ใช่แค่เตาจ่ามนัส แต่ในพื้นที่บ้านของจ่ามนัสยังมี เตาสุนัน ซึ่งตั้งตามชื่อภรรยาของจ่ามนัส แถมยังมี พิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น ที่ตั้งตามชื่อพ่ออุ้ยแสนและแม่อุ้ยชื่น เป็นบ้านที่สร้างขึ้นตามวัฒนธรรมของชาวน่านด้วยเงินเพียงแสนห้าบวกด้วยเรี่ยวแรงใจของคนบ้านบ่อสวก

...ข้อมูลทางโบราณคดีของที่นี่เป็นเรื่องน่าสนใจ แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันอยู่ที่ความเป็นมา

สังคมไทยน่าจะคุ้นเคยกับภาพนักโบราณคดีลงไปปัดๆ ขุดๆ เศษหม้อ เศษไหแตกๆ ตามที่ต่างๆ อยู่บ้างจากข่าว รอบหลุมขุดค้นมักจะถูกล้อมด้วยเชือก ด้วยหมุดที่แสนเป็นพิธีการ มองผ่านๆ คิดว่าเป็นสถานที่เกิดอาชญากรรมก็ไม่ปาน ซึ่งสุดท้ายแล้ว การขุดค้นก็กลายเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ โดยที่ชาวบ้านซึ่งแม้จะเป็นเจ้าของที่ดิน แต่ก็ต้องทำตัวสงบเสงี่ยมและอยู่ห่างๆ ...เดี๋ยวจะรบกวนการประกอบพิธีกรรม

การรวมศูนย์อำนาจแบบรัฐชาติที่มองว่าทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่บนฟ้ายันใต้ดิน-ใต้น้ำล้วนเป็นของรัฐ ได้มีตัวอย่างที่ชัดเจนแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับทรัพยากรของประเทศ ทรัพยากรทางโบราณคดีก็มีชะตากรรมไม่แตกต่างกับทรัพยากรอื่นๆ เจอที่ไหน รัฐก็จะรีบไปที่นั่นแล้วทำเสียงโล้งเล้งว่า ‘อย่าแตะๆ มันเป็นของฉัน’ พอขุดเสร็จก็เอาของกลับไป ที่เอากลับไปไม่ได้ก็ตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ และลงเอยด้วยการเป็นที่รกร้างไม่มีคนเหลียวแล มีไว้สะสมฝุ่นกับให้เด็กในหมู่บ้านไว้เล่นตำรวจจับผู้ร้าย นั่นเพราะชาวบ้านไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของที่เขาต้องดูแล

............

เกอเธ่มหากวีชาวเยอรมันเคยพูดไว้ว่า “คนที่ไม่สามารถใช้ประสบการณ์ 3,000 ปีของมนุษยชาติได้ ก็ต้องมีชีวิตอยู่แบบหาเช้ากินค่ำไปวันๆ”

เกอเธ่อยากบอกอะไรกับเรา???

รศ.สายันต์พูดไว้ว่า “ในอดีตมีสรรพวิทยาการและประสบการณ์มากมายอยู่ในนั้นที่เราจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะสิ่งที่เรามีอยู่ทุกวันนี้ล้วนมาจากอดีตทั้งสิ้น ถ้าเราทิ้งอดีต เราอยู่ไม่ได้ เราจึงต้องทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าอดีตเป็นของเขา เขาเป็นส่วนหนึ่งของอดีต บรรพบุรุษของเขาเป็นผู้สร้างอดีต ดังนั้น เขามีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ตรงนี้ด้วย”

เกอเธ่กับรองศาสตราจารย์สายันต์กำลังพูดเรื่องเดียวกัน

…………..

จากความอึดอัดที่สะสมมาแต่เริ่มทำงาน เมื่อมีโอกาส รศ.สายันต์จึงได้นำแนวความคิด โบราณคดีชุมชน หรือ Community Archaeology มาใช้ โดยให้ชาวบ้านและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขุดค้น ตัดรายละเอียดยุ่งยากแบบผู้เชี่ยวชาญที่ทำให้นักโบราณคดีกับชาวบ้านพูดกันคนละภาษาออกไป

“เมื่อลงไปทำงานผมก็เปลี่ยนวิธี ระบบทั้งหมดนั้นอยู่ในหัวเราคนเดียว แต่เวลาขุดค้นเปิดฟรี โอเค ทำขอบเขตหลุมก็จริง แต่ไม่ให้มันศักดิ์สิทธิ์ เปลี่ยนรูปแบบของเชือกให้เป็นเชือกที่ชาวบ้านมี เป็นเชือกฟาง หลักแทนที่จะเป็นหลักเหล็กพ่นสีขาว สีแดง ดูเข้มขลังก็ไปตัดเอาไม่ไผ่ให้ชาวบ้านเขามาปัก เครื่องมือใครมีเสียม มีจอบ บุ้งกี๋ก็เอามา คือพยายามลดวิธีการลงให้มากที่สุดแต่ยังทำงานได้”

ด้วยวิธีการนี้ จ่ามนัสและภรรยา พ่ออุ้ยแสน แม่อุ้ยชื่น และชาวบ้านในชุมชนก็ได้เป็นนักโบราณคดีสมัครเล่นไปโดยปริยาย ต่างคนก็ต่างใส่แรง ใส่ใจลงไปเพื่อให้การขุดค้นเสร็จเรียบร้อย หลังจากนั้นจ่ามนัสและแม่อุ้ยชื่นก็ได้เป็นวิทยากรจำเป็น คอยอธิบายและนำชมจนทุกวันนี้

...........

“ในบ้านมี 7 เตา ขุดขึ้นมา 4 เหลืออีก 3 แต่ยังไม่ให้ขุด เพราะให้ 4 เตาที่อยู่ตอนนี้มันพังก่อน ถ้าเราขุดขึ้นมา 7 เตาพร้อมกัน แล้วมันพัง 7 เตา คนรุ่นหลังก็จะไม่ได้เห็น อีกร้อยปีพันปีให้คนรุ่นหลังขุดต่อ” จ่ามนัสบอกจำนวนเตาที่มีอยู่ในบ้าน

ปัจจุบันบ้านจ่ามนัสแปลงสภาพเป็นศูนย์เรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจทั่วไป ทุกคนสามารถเข้ามาชมเตาเผาโบราณและพิพิธภัณฑ์ชุมชนได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แม้ว่าก่อนหน้านี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะเคยติดต่อขอประมูลสูงถึง 50 ล้านบาทเพื่อทำแหล่งท่องเที่ยว หรือองค์กรปกครองระดับท้องถิ่นเองก็ต้องการลงมาจัดการพื้นที่ สร้างแหล่งท่องเที่ยว เก็บค่าเข้าชม และแบ่งส่วนหนึ่งให้ครอบครัวธิเสนา แต่จ่ามนัสก็ไม่ตอบรับ เขาบอกว่าเราไม่ได้เป็นคนสร้าง แล้วจะเอามาหาประโยชน์ได้อย่างไร

ภายหลังจากการขุดค้นเตาเผาโบราณ จ่ามนัสและชาวบ้านจึงตกลงกันจะสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อใช้เก็บโบราณวัตถุที่ขุดได้ และรวบรวมอุปกรณ์ที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนขึ้น เงินบริจาคเพียงแสนห้า การทอดผ้าป่าเศษไม้ และการลงมือ ลงแรง ลงใจของชาวบ้านในชุมชน พิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่นจึงเกิดขึ้นและยังอยู่ดีถึงตอนนี้ โดยที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐสักแดง จ่ามนัสบอกว่าถ้ามีเงินลงมาเดี๋ยวมันจะยุ่ง

นอกจากนี้ รอบบริเวณบ้านของจ่ามนัส เราจะเห็นเศษหม้อ เศษไหวางกองอยู่เป็นจุดๆ จ่ามนัสบอกว่าเป็นของที่ขุดได้ ที่สมบูรณ์ก็เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ที่แตกหักเสียหายก็มาวางกองไว้ ให้เด็กๆ ได้จับ

“เวลาเราไปดูตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ของมันอยู่ในตู้ ไม่มีโอกาสได้จับหรอก เราอยากให้เด็กสัมผัส ได้หยิบ ได้จับ อีกหน่อยเวลาคุยกับลูกจะได้บอกว่านี่พ่อเคยจับมาแล้ว อย่างบ้านผมนี่ปล่อยหมด ใครจะเล่นอะไรก็ช่าง มันเสียหายเราก็ซ่อม”

............

มีคำถามแว่วมากับสายลมอันเกิดจากความสงสัยของเราว่า ปล่อยให้ชาวบ้านช่วยขุดแบบนี้ เกิดความเสียหากับโบราณวัตถุบ้างหรือเปล่า ...เสียหายแน่นอน แต่คำตอบของ รศ.สายันต์ก็น่าคิดอยู่

“ความเสียหายมีแน่นอน นักโบราณคดีขุดก็มี เพราะเราไม่รู้ว่าใต้ดินมีอะไร ขุดลงไป ปึ้ก ก็แตก แต่พอแตกเราก็หยุด เปลี่ยนวิธีการที่จะทำให้มันไม่แตก ผมกับชาวบ้านพูดคุยกันว่าจริงๆ มันก็แตกอยู่แล้ว จะแตกอีกสักครั้งหนึ่งเพื่อเป็นบทเรียนก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะบางทีชาวบ้านเขาทำแตกแล้วเขารู้สึกผิด ผมบอกว่าไม่ใช่ มันแตกอยู่แล้ว ถ้ามันจะแตกอีกครั้งแล้วไม่แตกอีกต่อไป มันก็ไม่ใช่ปัญหา ถ้าเศษหม้อ เศษไหมันแตก แต่ชุมชนแข็งแรงขึ้น ก็คุ้ม ยินดีให้แตกอีกก็ได้ เพราะกระบวนการนี้เป้าหมายของเราอยู่ที่คน ไม่ใช่ของ”

............

แล้ววันหนึ่ง... นักศึกษาปริญญาโทกลุ่มหนึ่ง จากภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เกิดไอเดียบรรเจิด นำหลักการโบราณคดีชุมชนมาประยุกต์ใช้อีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้เป้าหมายคือเด็กๆ ในหมู่บ้าน

โครงการยุวชนโบราณคดีชุมชน บ้านสวกพัฒนา เกิดขึ้นจากนักศึกษาปริญญาโท 3 คน-สุลักษณา เป็กทอง, จุไรรัตน์ ปิยะวัชร์ และ จีรวรรณ ศรีหนูสุด และยังมี วนิษา ติคำ นักศึกษาปริญญาตรี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ลูกสาวจ่ามนัสคอยเป็นกองหนุน พวกเธอรับสมัครเด็กๆ ในหมู่บ้านมาช่วยกันขุดๆ ปัดๆ ปั้นๆ เตาเผาโบราณที่เหลืออยู่ในบ้านจ่ามนัสกันอย่างสนุกมือ

“แนวคิดโบราณชุมชนเป็นการผสมผสานระหว่างโบราณคดีกับการพัฒนาชุมชนเข้าด้วยกัน เราเห็นว่าเป็นสิ่งที่นำมาผสานกันได้ การที่นำเด็กให้มามีส่วนร่วมตรงนี้เพราะเด็กก็ต้องอยู่กับชุมชนเขา เราจึงต้องการให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับโบราณคดีในชุมชนที่เขาอยู่ ถ้าเด็กๆ ได้เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการแรก สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่าในชุมชนของเขามีอะไรบ้าง ซึ่งเด็กน่าจะเรียนรู้ได้ดีกว่าการฟังเฉยๆ หรืออ่าน” สุลักษณาพูดถึงจุดหมายปลายทางของโครงการให้ฟัง

มงคลชัย ใจมัน นักโบราณคดีตัวน้อย วัย 10 ขวบ เล่าบรรยากาศการทำงานที่มีมาม่าเป็นกลับแกล้มว่า

“มาดูเฟื้องหม้อ ดูเตาเผาสุนัน ทั้งขุดและปั้นครับ เพื่อนพามาครับ สนุกครับ กลับไปเล่าเกี่ยวกับเตา ขุด ปั้น ให้พ่อแม่ฟัง ปั้นเป็นไห เป็นของเล่น เป็นปืน ตุ๊กตา ปั้นเป็นแมงป่อง แต่ว่าถูกซอสหกใส่ พอไปเผามันแตกหัก กินมาม่าครับ แล้วผงมาม่ามันหกใส่”

จุไรรัตน์เสริมว่าทำๆ ไป พวกเธอก็ไปดึงเอาผู้ปกครองเด็กบางคนที่เป็นสล่าหรือช่าง ให้มาเปิดคอร์สสอนลูกตัวเองและเด็กคนอื่นๆ ให้รู้จักหมักดิน ปั้นดิน อบดิน รวมถึงกิจกรรมผักที่ให้เด็กๆ พาไปเยี่ยมบ้านตัวเองและแนะนำว่าที่บ้านปลูกผักอะไร เธอบอกว่าก็เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งที่มีอยู่ในชุมชน

ผลที่ได้รับก็เป็นอย่างที่ทุกคน ณ ที่นั้นได้สัมผัส เด็กมีความสุข สนุกสนาน ได้ขุด ได้เล่น ได้ปั้น ได้เชื่อมโยงตัวเองกับคนรุ่นก่อน ได้รู้จักแผ่นดินของตัวเองและรู้จักสิ่งที่งอกงามจากแผ่นดินถิ่นเกิด

แต่ถ้าการจัดการแบบรวมศูนย์ยังไม่เปลี่ยน รัฐยังคงดึงทุกอย่างไปดูแลเอง พลังของชุมชนก็จะถูกลดทอนและขาดความเชื่อมั่น โดยที่ชาวบ้านไม่มีโอกาสรู้เลยว่าจริงๆ แล้วพวกเขามีศักยภาพมากมายแค่ไหน แต่ถ้าเราให้ชาวบ้านดูแลจัดการทรัพยากรต่างๆ อย่างกลมกลืนกับวิถีชีวิตมันย่อมยั่งยืนกว่าปล่อยให้รัฐจัดการฝ่ายเดียวแล้วกีดกันชาวบ้านออกไป เป็นการสรุปความจากบทสนทนาที่สุลักษณาฝากทิ้งท้าย

…………

เราแหงนมองท้องฟ้า อีกไม่นาน เงินจำนวนมหาศาลจะล่องลอยลงมาจากท้องฟ้าด้วยนโยบายกองทุนหมู่บ้านและเอสเอ็มแอลของรัฐบาล แต่คงจะมีประโยชน์ไม่มาก ถ้าท่านผู้มีเกียรติในสภาและหน่วยงานรัฐยังคิดเหมือนเดิม ยังไม่ยอมเชื่อมั่นในศักยภาพของชาวบ้านและมองพวกเขาเป็นเพียงคะแนนเสียงในฤดูกาลเลือกตั้ง

ถ้าใครมีโอกาสไปเที่ยวจังหวัดน่ารักแห่งนี้ อย่าลืมไปเที่ยวบ้านจ่ามนัส สถานที่ที่แผ่นดินมีอดีต และในอดีตมีหัวใจกับพลังของคนที่นั่นฝังอยู่ข้างใน

*****************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

“งานวัฒนธรรมถ้าเราดึงรวมศูนย์มาไว้ที่ส่วนกลางจะทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ”
รองศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์

“ในวงการโบราณคดีจะเจอปัญหาเวลาไปทำงาน เพราะในกระแสโลกเกือบร้อยกว่าปี ทรัพยากรทั้งหมดมันถูกรวมศูนย์อำนาจเข้าไปสู่รัฐ และกระแสการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยก็เน้นในเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ ศาสตร์ต่างๆ ถูกแยกส่วนออกไปเยอะแยะ โบราณคดีก็ถูกผลักเข้าไปเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นของผู้เชี่ยวชาญ คนที่อยู่นอกวงการโบราณคดี ไม่ได้อยู่กรมศิลปากร ไม่ได้มีวุฒิการศึกษาก็ถูกกันออกไปโดยปริยาย

“เมื่อผนวกเข้ากับกระบวนการพัฒนาที่เน้นรัฐเป็นใหญ่ก็ดึงทรัพยากรเหล่านี้ไปเป็นของรัฐด้วย โดยนำทรัพยากรทั้งหมดเหล่านี้ไปจัดการแทนสังคมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว วงการโบราณคดีก็แคบลงไปเรื่อยๆ คนก็จะหันหลังให้กับสิ่งเหล่านี้ มองว่าไม่ใช่หน้าที่ อีกทั้งรัฐพยายามที่จะออกกฎหมายมาควบคุมทรัพยากร มองว่าคนที่ไม่มีความรู้คือศัตรูของทรัพยากร ทั้งที่ในอดีตทรัพยากรเป็นเรื่องของทุกคน เป็นของชุมชน ของชาวบ้าน

“ผมทำงานโบราณคดีตั้งแต่ปี 2523 ในกรมศิลปากร ตอนแรกผมก็ทำอย่างที่เขาทำกันทั่วไปเพราะถูกสอนมาอย่างนั้น เราพบว่าเรามีปัญหากับชาวบ้านมาก เรามองชาวบ้านเป็นศัตรู รัฐก็ให้อำนาจเรา เราจึงคิดว่าเรามีอำนาจ คิดว่าเรามีหน้าที่ต้องป้องกัน แต่พอมองอีกทีนับวันเราก็ยิ่งมีศัตรูมากขึ้น ชาวบ้านก็มองเราเป็นศัตรู และไม่ใช่เฉพาะกับตัวเรา แต่กับบรรดาโบราณวัตถุ โบราณสถานต่างๆ ด้วย เมื่อเราไม่ได้บอกว่ามันเป็นของเขา เขาไม่เห็นคุณค่า ชาวบ้านก็ขุดขาย หรือทุกคนมีความต้องการใช้ที่ดิน แต่ถ้าที่ดินนั้นมีแหล่งโบราณคดีก็ทำอะไรไม่ได้ ชาวบ้านก็คิดว่าทำลายมันซะ ขุดมันซะ

“ผมมาเปลี่ยนความคิดเมื่อเจอปัญหานี้มากขึ้นๆ และเรารู้สึกว่าออกไปทำงานไม่มีความสุข ไม่สนุก ชาวบ้านก็ไม่สนุกด้วย สุดท้ายเราพบว่ากระบวนการโบราณคดีแบบนั้นเป็นการสลายพลังอำนาจของชุมชน ทำลายวัฒนธรรมด้วยซ้ำไป คือมันไปทำลายระบบความสัมพันธ์ของคนที่จะมีต่อกัน ผมก็เลยให้นิยามวัฒนธรรมที่นักโบราณคดีจะต้องศึกษาใหม่ว่ามันไม่ใช่มีโบราณวัตถุเป็นตัวนำ แต่มองว่าถ้าวัฒนธรรมหมายถึงระบบความสัมพันธ์และการจัดการระบบความสัมพันธ์ของคนกับคน คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ และคนกับธรรมชาติให้อยู่ในภาวะที่เกื้อกูลกัน

“เมื่อเห็นความหมายอย่างนี้ก็พยายามที่จะทำงานให้ชาวบ้านเขารู้สึกว่าเขากำลังทำงานที่บ้านเขา เขากำลังจัดการมรดกของเขาเองที่เขาจะต้องได้ประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่ประโยชน์ในแง่ของรายได้หรือการท่องเที่ยวเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาเรื่องรายได้มันเป็นตัวหลัก แต่ผมมองว่านั่นเป็นตัวรอง สิ่งสำคัญที่กระบวนการนี้ต้องก่อให้เกิดคือทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าอดีตมันสำคัญต่อชีวิตเขา มันสำคัญสำหรับวันนี้ พรุ่งนี้ และอนาคตข้างหน้า

“ที่ผ่านมาชาวบ้านก็เป็นคนขุดอยู่แล้ว เพียงแต่เราจ้างเขาให้ทำตามคำสั่งของเรา ถ้าไม่สั่งเขาก็ไม่ทำ แล้วก็มีข้อห้ามเยอะ แต่รูปแบบนี้เราแค่บอกว่าอย่าให้มันแตกนะ แล้วพอชาวบ้านขุดถึงจุดหนึ่งเราก็ไปแนะนำต่อ ชาวบ้านจะสนุกไปด้วยกับเรียนรู้และค้นหา เป็นประสบการณ์ที่เขารู้สึกว่าสนุก ได้เห็นของมันค่อยๆ โผล่ขึ้นมา ในทางวิชาการเราได้แน่ๆ แต่สิ่งที่ชาวบ้านได้คือได้เรียนรู้ ช่วยให้กระบวนการค้นหาอัตลักษณ์ท้องถิ่นเกิดขึ้น ค้นหาสิ่งที่ดีๆ ของตัวเองเพื่อจะบอกตัวเองว่าเราไม่ต้องไปไหน ถ้าเราจัดการวัฒนธรรม ระบบนิเวศ และความสัมพันธ์ของเราให้ดี เราจะแข็งแรงและอยู่ได้

“งานวัฒนธรรมถ้าเราดึงรวมศูนย์มาไว้ที่ส่วนกลางจะทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ

“โบราณคดีจึงไม่ใช่แค่ขวานหิน เศษหม้อ เศษไห แต่เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นอดีตของเขา เรื่องความรู้ ภูมิปัญญา ต้นไม้ใบหญ้า อาหารการกิน ผีสางเทวดาที่ชาวบ้านมีความรู้ มันถูกประมวลเข้ามาอยู่ในกระบวนการโบราณคดีชุมชน ชาวบ้านสามารถเชื่อมอดีตใกล้ๆ ของเขาเข้ากับอดีต 700 ปี 4,000 ปีได้ ถ้าชาวบ้านสามารถจัดการได้ นำชมได้ ดูแลได้อย่างมีศักดิ์ศรี ชาวบ้านก็จะมีที่ยืนในสังคม”

หมายเหตุ ใครสนใจอยากร่วมแจมกับ โครงการยุวชนโบราณคดีชุมชน บ้านสวกพัฒนา ติดต่อได้ที่ วนัสนันท์ ศรีไพศาล 08-6824-7571











กำลังโหลดความคิดเห็น