เขตตลิ่งชัน ฝั่งธนบุรี วันนี้ หากมองจากมุมสูง จะเห็นทิวมะพร้าว ลำคลอง สลับกับที่พักอาศัยสมัยใหม่ จากเดิมที่เคยใช้เรือสัญจรไปมาหาสู่ แต่เมื่อมีการตัดถนนบรมราชชนนี เชื่อมโยงกับอีกหลายเส้นทาง ทำให้ชาวบ้านคว่ำเรือเก็บไว้หลังบ้าน และหันมาใช้รถมากขึ้น
เมื่อเรือถูกละทิ้ง วิถีชาวสวน ชุมชนริมน้ำก็เริ่มห่างหาย การทำการเกษตรแบบดั้งเดิมค่อยๆ ห่างหาย ดังนั้น จึงมีกำเนิด “โครงการชุมชนท่องเที่ยวยั่งยืน ตลิ่งชัน” ที่เป็นการสำรวจศึกษาหาชุมชนที่มีการพัฒนาจากภายใน เพื่อให้ชุมชนชาวสวนเข้มแข็ง อยู่ได้อย่างยั่งยืนและมีชีวิตชีวา
**ใช้เท่าที่มี 3 ปีที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยม
ลุงชวน ชูจันทร์ ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม เล่าย้อนให้ฟังถึงอดีตสมัยที่แขวงบางระมาด ยังมีคลองใส เช้าๆ มีเสียงโขลกน้ำพริกให้ได้ยิน สายๆ คนหนุ่มคนสาวออกไปทำนา ทว่า ที่นาผืนสุดท้ายสิ้นสุดลงเมื่อปี 2519 สาเหตุหลักมาจากน้ำท่วม ทำให้ชาวนาระอาใจ บ้างก็ขายที่ทิ้ง บ้างก็ยกที่ทำเป็นสวน ละจากผืนนาลุงชวนก็หันหน้าเข้าทำงานเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ กระทั่งปี 2538 จึงกลับมาทำสวนอีกครั้ง แต่สิ่งที่ลุงชวนพบ ก็คือ ชุมชนก็ใกล้ล่มสลาย ขยะและสวะลอยริมคลองเต็มไปหมด
“ตอนที่กลับบ้านมาอีกที ก็เห็นว่า ชุมชนริมน้ำกำลังย่ำแย่ จึงเริ่มจากการเก็บขยะเท่าที่จะทำได้ เริ่มทำมาเรื่อยๆ โดยชวนเด็กนักเรียนมาพายเรือเก็บขยะ ทำเอกสารแจกชาวบ้าน และขอความร่วมมือจากชุมชน เพื่อรณรงค์รักษาน้ำริมคลองให้สะอาดและคงอยู่นานๆ แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องเงิน และชุมชนที่หายไปมาก ทำให้การฟื้นฟูนั้นยากลำบากขึ้น แต่เราก็รวบรวมเท่าที่ได้”
เมื่อชาวบ้านพบว่า เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น บางคนที่ปล่อยที่ดินให้รกร้างเนิ่นนาน ก็เริ่มยกสวน และเล็งเห็นความสำคัญของท้องถิ่นมากขึ้น แต่กระนั้นการยกสวนก็ยังเสี่ยงต่อน้ำท่วมอยู่ดี วิธีแก้ไขจึงขุดคูเล็กๆ พอกั้นน้ำไว้ได้โดยมี “สวนเจียมตน” ของลุงชวนเป็นต้นแบบและเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญในชุมชนเวลาผ่านไปชุมชนเริ่มฟื้นฟูตัวเอง มีผัก ผลไม้ หยูกยา ที่หาได้ในบ้าน แต่ชาวบ้านก็ยังขาดแหล่งที่จะขาย ลุงชวนจึงเริ่มชักชวนพี่ๆ น้องๆ ก่อตั้งตลาดน้ำคลองลัดมะยมเมื่อปี 2547 โดยมีจุดประสงค์เพื่ออนุรักษ์ริมคลองและธรรมชาติ เป็นตลาดของชาวสวนในละแวกนั้น ตลอดจนนำกิจกรรมชุมชนให้กลับมาอีกครั้งปี 2550 จากจุดเล็กๆ ที่ตั้งใจจะรักษาคลอง ชุมชนริมน้ำ ขยายวงกว้างไปสู่องค์กรต่างๆ ให้ความสนใจ และเข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ กับคนในท้องที่มากขึ้น ทำให้ตลาดน้ำคลองลัดมะยมมีทิศทางในการเติบโตที่ดีขึ้น
“เมื่อก่อตั้งตลาดแรกๆ เราใช้ไม้ไผ่มาทำสะพาน ทำเป็นตลาดเล็กๆ ให้คนในชุมชนเอาของที่เขามีในสวนมาขายในวันเสาร์ อาทิตย์ วันธรรมดา ก็ทำสวน แต่ว่าทำไปสัก 2 ปี ตลาดเริ่มซบเซา สิ่งก่อสร้างที่ทำขึ้นก็ผุพัง จนมหาวิทยาลัยศิลปากรเข้ามาให้คำแนะนำ แม้เราจะกลัวและลังเลอยู่ว่าตลาดเราจะอยู่รอดได้จริงหรือ แต่คณะทำงานเขาก็อธิบายถึงความตั้งใจที่จะช่วยเหลือ และเสนอทิศทางที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยมควรเดินต่อไป จึงทำให้เราขยายตลาด เพิ่มกิจกรรมระหว่างชุมชน กับลูกค้า และปรับปรุงภูมิทัศน์ ชีวิตชีวาจึงเริ่มกลับมาสู่ตลาดน้ำคลองลัดมะยม เมื่อ 5-6 เดือนมานี้เอง”
ลุงชวน บอกว่า คนที่เข้ามาเที่ยวชมที่ชุมชนคลองลัดมะยมนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนเมืองที่ไม่เคยได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวสวน บ้างก็ชอบบรรยากาศที่เงียบสงบของชีวิตริมคลอง แต่ก็มีหลายคนที่พูดให้ได้ยินว่า ไม่เห็นมีอะไรให้ดูนอกจากต้นไม้รกๆ ที่สุดแล้วลุงชวนจึงบอกทิ้งท้ายให้ได้คิดว่า...
“สิ่งที่ท่านเห็น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่อยากจะเห็น แต่เป็นสิ่งที่เรามี เราทำเท่าที่เรามี ซึ่งในชุมชนก็พยายามที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในท้องที่ให้มีความสุขตามวิถีชาวสวนให้มากที่สุดอย่างที่เราควรจะมี แม้วันนี้จะยังมีปัญหาให้แก้ไขอีกมาก แต่ไม่เป็นไร เพราะปัญหานั้นจะทำให้เราก้าวหน้า” ลุงชวน กล่าวด้วยใบหน้าอิ่มสุข
**คืนวิถีชาวสวนสู่วัดสะพาน
ตลาดน้ำน้องใหม่ในกรุงเทพฯ อายุ 2 ปีเศษ คือ “ตลาดน้ำวัดสะพาน” ในเขตแขวงบางพรม ที่ก่อตั้งโดยคนที่ไม่ได้อยู่ในชุมชน แต่มีความตั้งใจอยากจะเห็นวิถีชาวสวนกลับมาสู่ชาววัดสะพานอีกครั้ง
พ.ต.ท.สิทธิชน อังศุศาสตร์ นายตำรวจที่เคยทำงานรับใช้ชุมชนซึ่งวันนี้อยู่ในฐานะประธานประชาคมตลาดน้ำวัดสะพาน เล่าว่า เดิมชุมชนนี้มีบรรยากาศดี มีพระพุทธรูปเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่มีกิจกรรมอะไรที่จะทำให้วัด และชาวบ้านเกิดรายได้ จึงเริ่มก่อตั้งตลาดน้ำวัดสะพานขึ้น โดย 95% ของพ่อค้าแม่ขาย เป็นชาวสวนที่ทำสวนเตย สวนมะพร้าวในแถบวัดสะพาน
“ตอนที่ผมรับราชการอยู่ที่นี่ อยากเพิ่มรายได้ให้วัดและชาวบ้าน จึงริเริ่มจากเข้ามาคุยกับเจ้าอาวาสถึงปัญหาของชุมชน จากนั้นก็เรียกประชุมชาวบ้าน สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการตั้งตลาดน้ำในวัด ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หลายเสียงบอกว่าสภาพของชุมชน และเป็นซอยลึก และตัน ไม่สะดวกต่อการเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นด้วยก็เริ่มเอาสินค้ามาขาย ในช่วงแรกลูกค้าเป็นคนในชุมชน แต่ตอนนี้มีคนเริ่มรู้จักมากขึ้น”
ความตั้งใจต่อไปของนายตำรวจผู้นี้ คือ อยากเห็นวิถีชีวิตชาวคลองของคนวัดสะพานกลับมา เกือบทุกบ้านมีเรือจอดเทียบท่า มีสวนเตย สวนมะพร้าวเป็นของตัวเอง สภาพแม่น้ำลำคลองก็ยังสะอาดใส ภูมิทัศน์ที่ร่มรื่นนี้น่าจะนำการดำรงอยู่แบบดั้งเดิมกลับมาได้ไม่ยากนัก
“ผมไปศึกษาดูงานตลาดน้ำต้นแบบที่ท่าคา สมุทรสงครามซึ่งเป็นธรรมชาติมาก วิถีชีวิตดั้งเดิมของเขายังอยู่ มีพระพายเรือออกบิณฑบาตในตอนเช้า และเราเห็นว่าศักยภาพของวัดสะพานสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องค่อยๆ คิดค่อยๆ ทำ สิ่งที่คาดหวังต่อไป คือ อยากเห็นชาวบ้านอยู่แบบพอเพียง ทำการเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ และมีลานแสดงธรรม ซึ่งความฝันของผมจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับชาวบ้านในชุมชนแทบทั้งสิ้น” ผู้บุกเบิกตลาดน้ำวัดสะพานบอกด้วยสีหน้าจริงจัง
**หนึ่งมุม จากที่มอง 2 ตลาด
รศ.สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์ อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในบุคคลที่เข้ามาให้ความรู้แก่ผู้นำตลาดน้ำทั้ง 2 แห่ง ให้ความคิดเห็นว่า กรณีชุมชนคลองลัดมะยมนั้นมีผู้นำที่เป็นคนในท้องถิ่น และมีความมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะเปลี่ยนแปลง ประกอบกับการรวบรวมชาวบ้านง่ายกว่า ซึ่งพวกเขาก็เข้าใจ และพร้อมที่จะเรียนรู้ ดังนั้นการเข้ามาของคณะศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงไม่ยากนัก
“ลุงชวนเป็นผู้นำที่สุขุม มีศักยภาพพร้อมในการพัฒนา ดังนั้น ในระยะ 5 เดือนที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยมมีการเปลี่ยนแปลง ไปในทิศทางที่ดีขึ้น สิ่งที่โครงการชุมชนท่องเที่ยวยั่งยืน ตลิ่งชันเข้ามาช่วยเหลือมีเพียงการปรับปรุงภูมิทัศน์ ติดป้ายให้คนสัญจรเข้ามายังตลาดได้ง่ายขึ้น ตลอดจนเพิ่มกิจกรรมให้ชาวบ้านกับลูกค้าที่มาตลาดมีอะไรทำร่วมกัน เช่น การพายเรือชมวิถีชีวิตริมคลอง และเข้าชมสวนแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ของชมชน”
แต่สำหรับตลาดน้ำวัดสะพาน อุปสรรคสำคัญ คือ ทัศนคติของคนในท้องที่ที่มีต่อผู้บุกเบิกตลาดที่เป็นคนนอกอย่างพ.ต.ท.สิทธิชน แม้ว่าหลายคนจะเข้าใจในเจตนาที่ดี ทว่าการร่วมมือสอดคล้องเป็นไปได้ยากกว่าชุมชนคลองลัดมะยมของลุงชวนมาก
“ทัศนคติของแม่ค้าในตอนแรกไม่ยอมรับว่าชุมชนวัดสะพานจะพัฒนาให้มีนักท่องเที่ยวได้ แต่เมื่อไปศึกษาตลาดน้ำท่าคาด้วยกันแล้ว บรรดาแม่ค้ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เข้าใจผู้นำมากขึ้น รวมถึงเข้าใจว่าชุมชนจะต้องพัฒนาตนเองให้เข้มแข็งเสียก่อน สร้างจุด
เด่น และของดีของตัวเองให้ได้ แล้วเรื่องการสัญจรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” รศ.สุภาภรณ์ ทิ้งท้าย
เท่าที่ได้เห็นความเป็นไป คลองที่คดเคี้ยวเชื่อมโยงกับเจ้าพระยาวันนี้ คลองสองฝั่งที่มีเรือนยื่นชานออกมาริมน้ำยังคงความสมบูรณ์ไว้ได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้เกือบจะล่มสลาย แต่เวลานี้สัญญาณที่ดีของวิถีชาวสวนเริ่มกลับมามีชีวิตอีกคราแล้ว...