xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งกลุ่มเฉพาะกิจวางแนวทางพัฒนาสุสานหอย 13 ล้านปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลำปาง - กรรมการสิทธิมนุษยชน เปิดเวทีระดมความเห็นคนลำปางวางแนวทางพัฒนาพื้นที่สุสานหอยอายุ 13 ล้านปี เพื่อเป็นแหล่งศึกษาวิจัยและท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เบื้องต้นสรุปต้องมีการตั้งกลุ่มเฉพาะกิจ ที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่เหมาะสม

เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่บริเวณถนนคนเดิน ในตัวเมืองลำปาง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสช.) จัดเวทีประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สุสานฟอสซิลหอยน้ำจืดที่ใหญ่ ที่สุดในโลกอายุกว่า 13 ล้านปี ที่ขุดพบบริเวณเหมืองถ่านหินแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มีตัวแทนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ได้แก่ ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ ตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หอการค้าจังหวัดลำปาง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นต้น

ประเด็นในการรับฟังความคิดเห็นนั้น ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมกับพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาวิจัยทางประวัติศาสตร์ด้วย

ทั้งนี้ จากการจัดเวทีในครั้งนี้ได้ข้อสรุปเป็นแนวทางร่วมกันในว่า จะต้องมีการจัดตั้งกลุ่มเฉพาะกิจ เพื่อเข้ามาขับเคลื่อนการพัฒนาสุสานหอยแห่งนี้ โดยมีตัวแทนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นตัวแทนอยู่ด้วย ได้แก่ หอการค้า กลุ่มอนุรักษ์ ประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ อาทิ อบต. สื่อมวลชน และองค์กรเอกชน เพื่อทำงานควบคู่ไปกับของภาครัฐ ขณะที่ กฟผ. ยินดีให้การสนับสนุนงบประมาณ

เบื้องต้นจะมีการรวมกลุ่มระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่ดูแล คือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มอนุรักษ์ องค์กรเอกชน ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ และสื่อมวลชน ประมาณ 100 คน ขออนุญาต กฟผ. เพื่อนำเข้าชมพื้นที่ดังกล่าว ก่อนที่จะร่วมกันวางแผนการพัฒนาให้พื้นที่ดังกล่าวต่อไป แต่ทั้งนี้ต้องได้รับความเห็นชอบของเจ้าของพื้นที่ด้วยเช่นกัน

สำหรับสุสานหอยดังกล่าวที่มีซากฟอสซิลอายุกว่า 13 ล้านปีนั้น ปัจจุบันไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้าไป โดยอยู่ในพื้นที่ของ กฟผ. และล่าสุดรัฐบาลได้เพิกถอนประทานบัตร แก่ กฟผ. โดยให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแทน โดยที่ผ่านมากลุ่มอนุรักษ์และ กฟผ. ก็มีความขัดแย้งกันมาโดยตลอด ซึ่ง กฟผ.เองก็อยู่ระหว่างอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองในเรื่องพื้นที่ในการอนุรักษ์ จากเดิม 43 ไร่ ให้เหลือเพียง 18 ไร่
กำลังโหลดความคิดเห็น