เอเอฟพี/บีบีซีนิวส์ -ตลอด 4 ปีของการค้นพบ "ฮอบบิต" ซากฟอสซิลมนุษย์ตัวจิ๋วในอินโดนีเซีย บรรดานักมานุษยวิทยาต่างทุ่มเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนว่าควรจะใช่มนุษย์สายพันธุ์ใหม่หรือไม่ แต่แล้วงานวิจัยชิ้นล่าก็ฟันธงว่าฟอสซิลมนุษย์ร่างเล็ก เป็นเพียงคนแคระที่ขาดไอโอดีนระหว่างอยู่ในครรภ์มารดามากกว่า
หลังจากต่อสู้กันมายาวนานและดุเดือดโดยฝ่ายหนึ่งพยายามเชิดชูให้ "ฮอบบิต" (Hobbit) ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงมนุษย์ เป็นอีกสาขาแยกย่อยออกไปในพงศาวลีมนุษย์ ทว่าข้อถกเถียงจากนักวิชาการอีกฝ่ายชี้ว่า มนุษย์ถ้ำตัวจิ๋วเหล่านี้ต่างก็คือ โฮโม ซาเปียนส์ (Homo sapiens) ทั่วไป แต่มีร่างกายแคระแกร็น หยุดเจริญเติบโต อันเป็นผลมาจากภาวะการขาดสารไอโอดีนระหว่างอยู่ในครรภ์มารดา
เมื่อปี 2547 ทีมวิจัยร่วมจากออสเตรเลียและอินโดนีเซียประกาศผลการค้นพบ “มนุษย์ฟลอเรส” (Flores man) ซากฟอสซิลของมนุษย์ขนาดเล็ก ในถ้ำ “เหลียงบัว” (Liang Bua) บนเกาะฟอลเรส ประเทศอินโดนีเซีย โดยอ้างว่าเป็นมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ที่สืบเชื้อสายมาจากโฮโม อิเร็กตัส (Homo erectus) ซึ่งเดินทางมาถึงเกาะดังกล่าวเมื่อเกือบล้านปีก่อน และให้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “โฮโม ฟลอเรไซเอนซิส” (Homo floresiensis)
มนุษย์ถ้ำฟอลเรสตัวจิ๋วนี้ มีความสูงเพียงเมตรเดียว มีมันสมองเท่ากับลิงชิมแปนซี และมีชีวิตอยู่เมื่อ 18,000 ปีที่แล้วบนเกาะฟลอเรส จึงถูกขนานนามให้เรียกง่ายๆ ว่า "ฮอบบิต" ตามตัวละครเด่นในลอร์ด ออฟ เดอะริง (Lord The Rings) นิยายแฟนตาซีสุดยอดของ เจ.อาร์.อาร์.โทลคีน (J.R.R.Tolkien)
นักวิชาการกลุ่มดังกล่าวอธิบายว่า เพราะถูกตัดขาดกับโลกภายนอก มนุษย์กลุ่มนี้จึงวิวัฒนาการให้ตัวเองมีความสูงลดน้อย เพื่อสอดคล้องกับปริมาณอาหาร ซึ่งจากเครื่องใช้หินและซากสัตว์ที่หลงเหลืออยู่แสดงให้เห็นว่ามีความชำนาญในการล่าสัตว์ สร้างเครื่องมือ และการชำแหละเหยื่อ
การถกเถียงยังเชื่อด้วยว่าฮอบบิตและโฮโม ซาเปียนส์ มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันและช่วยเหลือกันอย่างใกล้ชิด อีกทั้งเกี่ยวพันกันมากกว่าแค่ญาติสนิท
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีข้างต้นนี้ก็จุดชนวนให้เกิดการโต้เถียงที่ดุเด็ดเผ็ดร้อนเป็นเวลาหลายปีเกี่ยวกับกฎของมานุษยวิทยา โดยมีข้อโต้แย้งทั้งด้านสถานที่ที่ค้นพบและตัวซากฟอสซิลเอง
ทั้งนี้ ในงานวิจัยล่าสุดโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียตีพิมพ์ในวารสารราชบัณฑิตยสภาอังกฤษฉบับบี (British journal Proceedings of the Royal Society B) เผยว่า แท้ที่จริงแล้วฮอบบิตก็คือ โฮโม ซาเปียนส์ ที่ต่อมไทรอยด์ไม่ทำงานมาตั้งแต่เกิด
ความบกพร่องข้างต้นเป็นเงื่อนไขทำให้พวกเขาเป็นคนแคระ (dwarf cretinism) และส่งผลอย่างมากถึงการเจริญเติบโตทางร่างกาย จิตใจ และทักษะการเคลื่อนไหว แต่จะไม่ร้ายแรงเท่าอาการศีรษะเล็ก (microcephaly) หรือความพิการเกี่ยวกับระบบประสาทอื่นๆ
"อาการแคระแกร็นเป็นผลมาจากการขาดไอโอดีนอย่างรุนแรงขณะอยู่ในครรภ์มารดา ประกอบกับปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ " คำอธิบายของ ปีเตอร์ ออบเดนดอร์ฟ (Peter Obdendorf) นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยสถาบันเทคโนโลยีรอยัลเมลเบิร์น (RMIT University) ซึ่งคนแคระกลุ่มนี้จะมีความสูงไม่เกิน 1 เมตร และกระดูกมีลักษณะโดดเด่นที่คล้ายคลึงกับฮอบบิตแห่งเกาะฟลอเรส
"ผลจากงานวิจัยของเราเสนอว่าฟอสซิลพวกนี้ไม่ใช่มนุษย์สายพันธุ์ใหม่ แต่เป็นซากของมนุษย์ที่เลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์และเก็บกินพืชผล ซึ่งป่วยด้วยอาการดังกล่าว" ออบเดนดอร์ฟเสริม ซึ่งงานวิจัยนี้ พวกเขาสรุปจากการเทียบเคียงภาพถ่ายกะโหลกฮอบบิตกับกะโหลกของผู้ป่วยที่ต่อมไทรอยด์ไม่ทำงาน
ร่องรอยสำคัญที่เน้นหนักในงานวิจัยคือ รอยบุ๋มของโครงกระดูกซึ่งเรียกว่า "แอ่งพิทูอิตารี" (pituitary fossa) ที่บรรจุต่อมพิทูอิตารี (pituitary gland) ไว้ โดยในโครงกระดูกของฮอบบิต การยุบตัวของแอ่งนี้จะขยายตัวผิดปกติ และเป็นเครื่องหมายสำคัญของคนแคระ "มิกซ์โอเดมอาตัส เอนเดมิก" หรือเอ็มอี (myxoedematous endemic : ME) ซึ่งมีสมองน้อยกว่าคนปกติครึ่งหนึ่ง
สิ่งบ่งชี้ถึงอาการยังได้แก่ฟันกรามน้อยคู่ กระดูกข้อมือของมนุษย์ยุคแรกเริ่ม และคางที่มีวิวัฒนาการต่ำ ซึ่งนักวิชาการฝ่ายที่เชื่อว่ามีมนุษย์ฟลอเรสอยู่จริงอ้างว่าเป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่าฮอบบิตเป็นมนุษย์ที่แยกออกไปอีกสายพันธุ์
แม้ว่าจะมีเสียงค้านสมมติฐานสายพันธุ์ใหม่ของฮอบบิตมาก่อนหน้านี้ว่าเป็น โฮโม ซาเปียนส์ แคระ แต่งานวิจัยนี้นับเป็นครั้งแรกที่เสนอด้วยว่ารูปร่างแคระแกร็นที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากอาหารการกิน มากกว่าเพราะการสืบพันธุ์จากสายโลหิตใกล้ชิดกัน
สาเหตุสำคัญเพราะพวกเขาขาดแคลนไอโอดีน เพราะอาศัยอยู่ไกลออกไปจากชายทะเลอย่างน้อยถึง 24 กม. ทำให้ไม่ได้บริโภคปลาและอาหารทะเล อันเป็นแหล่งของไอโอดีนที่สำคัญ
อีกทั้งยังมีความเชื่อของชาวบ้านที่ใช้เป็นหลักฐานยืนยันในเรื่องนี้ด้วย โดยชนพื้นเมือง "เนก" (Nage) ในตอนกลางของเกาะฟลอเรส เล่านิทานเกี่ยวกับบรรพบุรุษ "อีบู โกโก" (ebu gogo) ซึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำว่า พวกเขาตัวเตี้ย โครงสร้างหยาบ ขนดก พุงพลุ้ย และโง่เขลา บรรพบุรุษของพวกเขามักจะขโมยอาหาร เพราะไม่สามารถปรุงเองได้ และยังบกพร่องทางภาษา ซึ่งลักษณะเหล่านี้ต่างบ่งชี้ถึงอาการของคนแคระเอ็มอีตามที่งานวิจัยที่กล่าวถึง
อย่างไรก็ดี ปีเตอร์ บราวน์ (Peter Brown) นักมนุษยวิทยายุคดึกดำบรรพ์ มหาวิทยาลัยนิว อิงแลนด์ ในอาร์มิเดล ออสเตรเลีย (University of New England in Armidale) นักวิจัยในกลุ่มที่ขุดพบซากฟอสซิลฮอบบิต ออกมาแย้งว่า ข้อสรุปในงานวิจัยใหม่นี้ไม่ได้มีข้อเท็จจริงมาสนับสนุน
"พวกเขาไม่ได้ตรวจสอบใดๆ กับซากฟอสซิลฮอบบิตเลย ผู้เขียนรายงานไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับฟอสซิลมนุษย์ แต่ใช้เพียงข้อมูลศึกษาจากแหล่งอื่นๆ" บราวน์ตอบโต้
อย่างไรก็ดี ผู้ที่ศึกษาเรื่องของมนุษย์ฟลอเรสนี้ ต่างหวังข้อสรุปที่ชัดเจนจากผลการทดสอบทางพันธุกรรมและลักษณะที่ได้รับการถ่ายทอดมา ซึ่ง ดร.เจเรมี ออสติน (Jeremy Austin) ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ดีเอ็นเอดึกดำบรรพ์ แห่งมหาวิทยาลัยอดิเลด (Australian Centre for Ancient DNA at Adelaide University) เปิดเผยว่า ไม่น่าจะได้ข้อมูลทางพันธุกรรมจากซากของมนุษย์ฟลอเรสได้ง่ายนัก
ทั้งนี้ เพราะซากฟอสซิลที่ค้นพบในถ้ำเหลียงบัวไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดี และเชื่อว่าน่าจะมีการปนเปื้อนโดยมนุษย์ยุคปัจจุบันที่ค้นพบถ้ำดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ซากฟอสซิลของ โฮโม ฟลอเรไซเอนซิส กำลังอยู๋ในช่วงตรวจสอบการปนเปื้อน เพราะหวังว่าข้อมูลทางพันธุกรรมจะกลายเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินจำแนกสายพันธุ์ของมนุษย์ชนิดนี้.