xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรรุก ก.วิทย์ให้กำลังใจ รมต. แย้ม "วุฒิพงศ์" มีไร่ยูคาในแปดริ้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เกษตรกรผู้ปลูกยูคาฯ 19 จังหวัดภาคอีสานบุกกระทรวงวิทย์ให้กำลังใจ "วุฒิพงศ์" ด้านนายกสมาคมปลูกป่าเอกชนเผยเจ้ากระทรวงวิทย์ก็ปลูกยูคาเหมือนกัน แถมมีแผนหรูตั้งโรงงานไบโอออยล์ในทุ่งกุลาร้องไห้ ด้านเกษตรกรปัดปลูกยูคาไม่มีผลเสีย ระบุ "กระถิน" สู้ "ยูคา" ไม่ได้ ท้าคุณหญิงกัลยา-เพิ่มศักดิ์ ลงพื้นที่พิสูจน์ด้วยตาก่อนค้าน ระบุจะแห่กันให้กำลังใจ "วุฒิพงศ์" จังหวัดละ 2 คันรถเร็วๆ นี้

หลังจากนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้เสนอแนวคิดการปลูกยูคาลิปตัสเพื่อผลิตน้ำมันชีวภาพ หรือไบโอออยล์จนเป็นข่าวดังมาก่อนหน้านี้

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 13 ก.พ.51 กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยูคาลิปตัสใน 19 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 16 คนในนามเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนไม้เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชมรมสวัสดิการชาวนาได้เดินทางมาให้กำลังใจนายวุฒิพงศ์ซึ่งให้การสนับสนุนการปลูกยูคาลิปตัส ณ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซ.โยธี กรุงเทพฯ

นายพิรัตน์ นาครินทร์ อดีตอนุกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน วุฒิสภา และนายกสมาคมรณรงค์ปลูกป่าภาคเอกชนแห่งประเทศไทย (สปอท.) ซึ่งอ้างว่าได้ศึกษาและปลูกยูคาลิปตัสมานานกว่า 47 ปีแล้ว เผยว่า ตัวนายวุฒิพงศ์เองมีพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัสในพื้นที่จ.ฉะเชิงเทรา เช่นกัน

อย่างไรก็ดี เชื่อว่านายวุฒิพงศ์มีพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัสจำนวนไม่มากนัก เพราะจะเน้นไปยังการปลูกต้นสักมากกว่า โดยทราบอีกว่าปกติแล้วนายวุฒิพงศ์จะแวะเวียนไปยังสวนกิตติบ่อยๆ ซึ่งสวนกิตติถือเป็นพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัสที่สำคัญของ จ.ฉะเชิงเทราเพื่อป้อนอุตสาหกรรมกระดาษยักษ์ใหญ่

ทว่า เมื่อวานนี้ (12 ก.พ.) นายวุฒิพงศ์เพิ่งให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า เขาไม่เคยมีธุรกิจเกี่ยวกับยูคาลิปตัส อีกทั้งไม่เคยปลูกต้นยูคาลิปตัสแม้แต่ต้นเดียว

ทั้งนี้ นายพิรัตน์เปิดเผยด้วยว่า นายวุฒิพงศ์ พร้อมด้วย ดร.นิคม แหลมสัก คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังได้ศึกษาเทคโนโลยีการสันดาปภายใต้อุณหภูมิสูงเพื่อเปลี่ยนสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในเนื้อไม้ยูคาลิปตัสไปเป็นเชื้อเพลิงเหลวจากประเทศแคนาดาและญี่ปุ่นเพื่อตั้งโรงงานผลิตไบโอออยล์ในประเทศไทยมาพักใหญ่แล้ว คาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ร้อยเอ็ด

นายทองดี เรืองศรี เกษตรกรผู้ปลูกยูคาลิปตัส จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเริ่มปลูกยูคาลิปตัสตั้งแต่ปี 2518 และปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัสบนคันนาจำนวน 90 ไร่ กล่าวว่า จากข้อมูลที่รวบรวมโดย ดร.นิคม ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากยูคาลิปตัสจะมีคุณสมบัติและเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ดีกว่าน้ำมันดีเซลที่ได้จากซากฟอสซิล

อีกทั้งน้ำมันที่ได้จะสะอาดเพราะไม่มีการผสมสารเคมี แถมได้แก๊สเชื้อเพลิงมาอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนั้นแล้วกากยูคาลิปตัสที่เหลือยังอัดเป็นถ่านไร้ควันที่มีคุณภาพดีได้ด้วย

ต่อประเด็นเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการปลูกยูคาลิปตัส นายทองนาค บัวสอน เกษตรกรอีกคนซึ่งมีพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัสใน จ.อุดรธานี และจ.นครพนม รวมกว่า 150 ไร่เผยว่า ก่อนหน้านี้เขาเองเคยร่วมกลุ่มสมัชชาคนจนที่คัดค้านการปลูกยูคาลิปตัสมานานกว่า 3 ปี

แต่เมื่อเขาได้ศึกษาข้อมูลอย่างจริงจังทำให้เปลี่ยนแนวคิดหันมาปลูกยูคาลิปตัสมานานกว่า 10 ปีแล้ว พบว่าทำให้เกิดรายได้จำนวนมากจากคันนาที่ปกติจะปล่อยรกร้างว่างเปล่า เพราะปลูกง่าย โตเร็ว และมีอายุการใช้งานนาน

นายทองนาค ปฏิเสธถึงกระแสข่าวว่าการปลูกต้นยูคาลิปตัสจะทำลายระบบนิเวศหรือเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมว่า ไม่เป็นจริง และที่กล่าวหาว่าใบยูคาลิปตัสมีกลิ่นเหม็นก็ไม่เป็นจริง เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะนำมาผลิตน้ำมันยูคาลิปตัสได้อย่างไร แถมรากยูคาลิปตัสยังลดภาระการทำคันนาของชาวนาเป็นประจำทุกๆ ปีลงได้ด้วย เพราะรากยูคาลิปตัสจะยึดคันดินไว้

ขณะที่การปลูกพืชอื่นเช่นกระถินแทนยูคาลิปตัสตามที่มีผู้เสนอนั้น เขาปฏิเสธว่าไม่สามารถทำได้ เพราะกระถินโตช้ากว่ายูคาลิปตัสซึ่ง 3 ปีก็ตัดขายได้แล้วแถมยังแตกหน่อใหม่ได้เรื่อยๆ ส่วนกระถินที่มีอายุ 5 ปีก็ยังใช้งานไม่ได้ เมื่อตัดแล้วก็ไม่แตกหน่อ จึงต้องปลูกใหม่ทดแทน อีกทั้งใบกระถินยังคลุมดิน บังแสงแดดในนาข้าวจนต้นข้าวตายหมด และเมล็ดของต้นกระถินที่ตกบนพื้นดินยังแตกยอดบนนาซึ่งกำจัดได้ยาก

ส่วนนางสอิง ไถวสินธุ์ เกษตรกร จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัสจาก 26 ไร่เป็น 37 ไร่ภายในปีนี้ เรียกร้องไปยังฝ่ายคัดค้านการปลูกยูคาลิปตัส ที่รวมถึง ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีเงากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ออกมาให้ข่าวโดยท้าพิสูจน์ว่าอยากให้ลงไปดูงานในพื้นที่ปลูกจริง ซึ่งจะยืนยันให้เห็นประโยชน์ของยูคาลิปตัสว่ามีอยู่จริง และไม่มีโทษอย่างที่เชื่อกันมา

นอกจากนั้น นายสกุณทอน สุริยันต์ ประธานสมาพันธ์เกษตรทฏษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเกษตรกรผู้ปลูกยูคาลิปตัสมานานราว 3 ปี บนพื้นที่ 35 ไร่ใน จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยูคาลิปตัสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัดยังจะเดินทางมาจังหวัดละ 2 คันรถบัสเพื่อแสดงความยินดีกับนายวุฒิพงศ์ ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีที่มีความเข้าใจในเกษตรกรผู้ปลูกยูคาลิปตัสด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น