xs
xsm
sm
md
lg

ฟอสซิลปลาดึกดำบรรพ์ชี้ พฤติกรรมจับคู่ผสมพันธุ์มีมานานกว่าที่คาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟอสซิลของปลาพลาโคเดิร์มอายุกว่า 380 ล้านปี ที่มีลูกอ่อนอยู่ในท้องด้วย พบในออสเตรเลียเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน (บีบีซีนิวส์)
ศึกษาฟอสซิลปลาโบราณในออสซี ที่พบมานานกว่าสิบปีได้หลักฐานใหม่ ที่แท้กระดูกในท้องเป็นของลูกปลาที่ยังไม่เกิด ไม่ใช่กระดูกของเหยื่ออย่างที่คาด นักวิจัยระบุมีการปฏิสนธิภายในแม่ปลา ชี้รูปแบบการผสมพันธุ์แบบจับคู่แล้วตัวผู้ปล่อยสเปิร์มเข้าไปในตัวเมียมีมาแต่ยุคแรกๆ และนานกว่าที่คิด

ทีมนักวิทยาศาสตร์อังกฤษและออสเตรเลีย ร่วมกันศึกษาฟอสซิลของปลาพลาโคเดิร์ม (placoderm) สปีชีส์ อินคิสออสคูตัม ริตชิอี (Incisoscutum ritchiei) อายุราว 380 ล้านปี ที่พบในบริเวณแหล่งขุดค้นโกโก (Gogo) ทางตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย ผลปรากฏว่า กระดูกในท้องฟอสซิลปลาเป็นของปลาตัวอ่อน

นับเป็นข้อมูลใหม่ที่ชี้ว่า ปลาดึกดำบรรพ์ชนิดนี้ มีการจับคู่ผสมพันธุ์แบบเกิดการปฏิสนธิภายในปลาตัวเมีย ซึ่งแต่เดิมคิดว่าวิธีผสมพันธุ์แบบนี้วิวัฒนาการขึ้นหลังจากนั้นอีกหลายสิบล้านปี โดยได้มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อเร็วๆนี้ ตามที่ระบุในสำนักข่าวเอพี

ทั้งนี้ ปลาพลาโคเดิร์มเป็นปลาในยุคดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตอยู่ในยุคดีโวเนียน (Devonian : ราว 417-350 ล้านปีก่อน) ซึ่งเป็นยุคของปลา (The Age of Fish) และฟอสซิลของปลาดังกล่าวนั้นพบตั้งแต่ช่วงปี 2529 นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นฟอสซิลของบรรพบุรุษสัตว์มีกระดูกสันหลังที่เก่าแก่ที่สุดในขณะนี้

บีบีซีนิวส์รายงานว่าแรกเริ่มเดิมที นักวิจัยคะเนว่าปลาพลาโคเดิร์มตัวนี้ตายลงหลังจากที่กินอาหารมื้อสุดท้าย และเชื่อว่ากระดูกที่พบอยู่ในท้องก็คือเหยื่อตัวสุดท้ายที่กินเข้าไป แต่หลังจากที่ศึกษาใหม่อย่างละเอียด กระดูกที่คิดว่าเป็นของเหยื่อพลาโคเดิร์มนั้นแท้ที่จริงก็คือลูกปลาพลาโคเดิร์มที่ยังอยู่ในท้องแม่นั่นเอง

นอกจากนั้น นักวิจัยยังได้ศึกษาและวิเคราะห์กระดูกเชิงกรานของปลาพลาโคเดิร์มใหม่อีกครั้ง จากตัวอย่างฟอสซิลของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Natural History Museum) ในกรุงลอนดอน อังกฤษ และพิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย (Museum Victoria) ในเมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ทำให้ได้ข้อมูลใหม่ เกี่ยวกับการปฏิสนธิของปลาพลาโคเดิร์ม โดยพบว่ากระดูกเชิงการของเพศผู้มีครีบที่ไม่พบในเพศเมีย ซึ่งเรียกครีบนั้นว่า คลาสเปอร์ (clasper) และสันนิษฐานว่าพลาโคเดิร์มตัวผู้มีไว้สำหรับยึดเกาะตัวเมียในขณะจับคู่ผสมพันธุ์เพื่อปล่อยสเปิร์มเข้าในผสมกับไข่ที่อยู่ในตัวเมีย คล้ายกับการผสมพันธุ์ของฉลามในปัจจุบันซึ่งมีอวัยวะส่วนที่คล้ายกับที่พบในพลาโคเดิร์มเช่นกัน

"พลาโคเดิร์มเพศผู้ มีกระดูกชิ้นพิเศษขนาดใหญ่เชื่อมต่อกับกระดูกเชิงกราน ซึ่งเรามองข้ามไปในตอนแรกและไม่ได้แยกแยะมันออกจากกัน และเมื่อเราทำความเข้าใจกับกระดูกเชิงกรานของปลาชนิดนี้ใหม่ ทำให้เรารู้ว่าพวกมันมีการจับคู่ผสมพันธุ์กัน" จอห์น ลอง (John Long) นักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว

ด้านเซรินา โจแฮนสัน (Zerina Johanson) นักบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในลอนดอน นักวิจัยอีกคนที่ร่วมศึกษากล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์เคยคาดคะเนกันว่าปลาโบราณชนิดนี้ มีรูปแบบการสืบพันธุ์เป็นแบบดั้งเดิมที่ปลาตัวผู้และตัวเมียปล่อยสเปิร์มและไข่ออกมาผสมกันและเกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนในน้ำ หรือที่เรียกว่าปฏิสนธิภายนอก

ทว่าจากที่ได้ศึกษากันใหม่พบว่า ปลาพลาโคเดิร์มมีการปฏิสนธิกันแบบขั้นสูงขึ้น ที่ปลาตัวผู้และตัวเมียจับคู่ผสมพันธุ์กัน โดยปล่อยสเปิร์มเข้าไปและเกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนขึ้นภายในปลาตัวเมีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการผสมพันธุ์แบบนี้เกิดขึ้นในปลายุคแรกๆ มานานกว่าที่เราเคยสันนิษฐานกัน และการปฏิสนธิภายนอกอาจไม่ใช่รูปแบบการผสมพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดอย่างที่เคยคาดกันไว้ และเป็นไปได้ว่ามีวิวัฒนาการแบบนี้เกิดขึ้นในปลาชนิดอื่นด้วยเช่นกัน

"การค้นพบครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างเหลือเชื่อทีเดียว เพราะหลักฐานทางชีววิทยาการสืบพันธุ์นั้นหาจากฟอสซิลได้ยากยิ่ง" โจแฮนสัน ระบุในบีบีซีนิวส์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังต้องศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ที่มีขากรรไกรจากฟอสซิลดังกล่าวกันต่อไป รวมทั้งศึกษาด้วยว่าปลาพลาโคเดิร์มนี้มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับพวกฉลามและกระเบน หรือปลากระดูกแข็ง เช่น ทูน่า มากกว่ากัน.
ภาพจำลองการจับคู่ผสมพันธุ์ของปลาพลาโคเดิร์มที่มีการปฏิสนธิระหว่างไข่กับสเปิร์มภายในท้องของตัวเมีย แต่เดิมคิดว่าปลาชนิดนี้มีการปฏิสนธิภายนอนตัวเมีย (เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น