xs
xsm
sm
md
lg

งาช้างแมมมอธแคระยาว 4 ฟุต โผล่บนเกาะซานตาครูซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพฟอสซิลที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นงาของแมมมอธแคระ ซึ่งพบบนเกาะซานตาครูซ นอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย เมื่อต้นเดือน ม.ค. 52 (เอพี)
นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ฉงนกันใหญ่ เมื่อพบฟอสซิลส่วนงาของแมมมอธแคระ บนเกาะซานตาครูซ เผยให้เห็นว่าแมมมอธแคระมีพื้นที่อาศัยกว้างไกลกว่าที่เคยคิด แต่นักวิจัยบางคนแย้งว่าอาจไม่ใช่งาแมมมอธ แต่เป็นฟอสซิลของสัตว์ทะเลบางชนิด

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทีมนักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) ในเมืองซานตา บาร์บารา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ได้ค้นพบงาของแมมมอธโดยบังเอิญ ภายในหุบเขาบนเกาะซานตาครูซ (Santa Cruz Island) ที่อยู่ห่างออกไปจากชายฝั่งแคลิฟอร์เนียตอนใต้ ซึ่งสำนักข่าวเอพีรายงานว่า ในบริเวณใกล้กันยังพบฟอสซิลคล้ายกระดูกซี่โครงและโคนขาด้วย

"เราไม่เคยพบมาก่อนเลยว่า จะเคยมีแมมมอธอยู่ในบริเวณนี้ด้วย" โลตัส เวอร์เมียร์ ผู้อำนวยการองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ (Nature Conservancy) เกาะซานตาครูซ เผย ซึ่งบริเวณที่ค้นพบฟอสซิลดังกล่าวอยู่ทางชายฝั่งทิศเหนือของเกาะ โดยทีมงานขององค์กรอนุรักษ์พร้อมและผู้เชี่ยวชาญด้านแมมมอธจะเข้ามาสำรวจและตรวจวัดอายุของฟอสซิลดังกล่าวต่อไปในไม่ช้า แต่เบื้องต้นวัดขนาดของงาได้ราว 4 ฟุต สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นของแมมมอธขนาดเล็ก หรือแมมมอธแคระ (pygmy mammoth)

ทั้งนี้ เกาะซานตาครูซ เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในบรรดา 8 เกาะของหมู่เกาะแชนแนลไอส์แลนด์ (Channel Islands) แห่งแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเมื่อกว่า 10,000 ปีก่อน ในยุคสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene) 4 เกาะ ที่อยู่ทางด้านเหนือ ได้แก่ เกาะซานตาครูซ, ซานมิเกล (San Miguel), ซานตาโรซา (Santa Rosa) และอนาคาปา (Anacapa) เคยรวมกันเป็นเกาะใหญ่เกาะเดียวมาก่อน เรียกว่า ซานตาโรซี (Santarosae)

นักวิทยาศาสตร์เคยเสนอทฤษฎีว่าแมมมอธโคลัมเบีย (Columbian mammoth) ที่เป็นบรรพบุรุษของช้างในปัจจุบัน ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในแผ่นดินใหญ่ ต่อมาได้อพยพผ่านช่องแคบมายังเกาะซานตาโรซี แล้วค่อยๆเกิดวิวัฒนาการจนมีรูปร่างเล็กลงเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมบนเกาะที่ค่อนข้างขาดแคลนทรัพยากร

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2537 เคยมีการขุดพบโครงกระดูกแมมมอธแคระที่สมบูรณ์ที่สุดบนเกาะซานตาโรซา แต่สำหรับเกาะซานตาครูซนั้นไม่ค่อยพบฟอสซิลแมมมอธแคระ อาจเนื่องมาจากว่าภูมิประเทศบนเกาะส่วนใหญ่มีความสูงชัน ไม่เหมาะแก่การอาศัยของแมมมอธแคระ

ต่อมาในปี 2548 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบชิ้นส่วนกระดูกโคนขาและขาหน้าของแมมมอธบนเกาะซานตาครูซ และก่อนหน้านั้นก็เคยพบส่วนของงา ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นของแมมมอธโคลัมเบียทั้งสิ้น ทว่าการค้นพบล่าสุดนี้อาจเผยให้เห็นว่าแมมมอธแคระเคยอาศัยอยู่ในอาณาเขตกว้างกว่าที่เคยสันนิษฐานกันไว้

อย่างไรก็ดี พอล คอลลินส์ หัวหน้าฝ่ายสัตววิทยาของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ซานตา บาร์บารา (Santa Barbara Museum of Natural History) ยังไม่แน่ใจนักเมื่อเห็นจากในรูปถ่ายว่าสิ่งที่เพิ่งถูกค้นพบล่าสุดนี้เป็นงาของแมมมอธจริง ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตว่าไม่แน่มันอาจจะเป็นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลก็เป็นได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น