นักวิทยาศาสตร์ขุดพบฟอสซิลกะโหลก "เตตราพอดส์" ในยุคดึกดำบรรพ์อายุกว่า 300 ล้านปี ซึ่งเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก คาดว่าการค้นพบครั้งนี้ จะช่วยให้เข้าใจในช่วงรอยต่อที่สิ่งมีชีวิต ซึ่งอาศัยอยู่ในน้ำวิวัฒนาการไปสู่สัตว์ที่อยู่บนบก
นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบฟอสซิลอายุราว 365 ล้านปีในส่วนกะโหลก ไหล่และบางส่วนของกระดูกเชิงกรานของสัตว์ ที่อาศัยอยู่ในน้ำสปีชีส์ เวนทาสเทกา คุโรนิกา (Ventastega curonica) ซึ่งบีบีซีนิวส์อธิบายว่า เป็นสิ่งมีชีวิตที่คล้ายกับจระเข้ขนาดเล็กและไม่มีวิวัฒนาการต่อ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้พบฟอสซิลดังกล่าวในประเทศลัตเวียและได้รายงานการศึกษาครั้งนี้ลงวารสารเนเจอร์ (Nature)
แม้ว่าวิวัฒนาการของเวนทาสเทกา จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่การค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ ได้เผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิวัฒนาการ ที่มีการเปลี่ยนผ่านจากปลา ไปสู่สัตว์สี่เท้าหรือเตตราพอดส์ (tetrapods) ซึ่งเตตราพอดส์นี้ยังรวมไปถึงสัตว์เลื้อยคลาน นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อันเป็นสัตว์ที่มีแขนขาและปีกรวม 4 ข้างด้วย
สัตว์เก่าแก่กว่าหน่อย ที่ได้รับการค้นพบนั้นส่วนใหญ่ จะเป็นปลามากกว่าเตตราพอดส์และเวนทาสเทกา ก็มีความเป็นเตตราพอดส์มากกว่าปลา สิ่งมีชีวิตที่ดูค่อนข้างดุร้ายนี้ อาจอาศัยอยู่ในน้ำกร่อยตื้นๆ ที่ลึกประมาณ 3-4 ฟุตแล้วกินปลาเป็นอาหาร เอพีอ้างคำกล่าวของนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้ว่าสัตว์ดึกดำบรรพ์นี้มีแขนขาที่อ้วนล่ำแต่ไม่ทราบจำนวนนิ้วที่แน่ชัด
"หากคุณเห็นเจ้าสัตว์นี้ไกลๆ จะดูคล้ายจระเข้ตัวเล็กๆ แต่ถ้าคุณมองเข้าไปใกล้ๆ จะเห็นครีบที่หลังของมันด้วย ผมจินตนาการว่าเจ้าสัตว์ชนิดนี้ จะลากตัวเองไปบนชายหาดได้อย่างไม่ยากเย็น และคอยจับปลาบริเวณคลื่นที่ซัดเข้าฝั่ง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นเวลานานกว่า 100 ล้านปีก่อนที่ไดโนเสาร์รุ่นแรกจะได้ตะลอนไปบนแผ่นดิน" คำกล่าวของ ศ.เพอร์ อาห์ลเบิร์ก (Prof.Per Ahlberg) ศาสตราจารย์ชีววิทยาทางด้านวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยอัปป์ซาลา (Uppsala University) สวีเดน ซึ่งเป็นผู้นำในการวิจัยครั้งนี้
เอพีระบุคำพูด ศ.อาห์ลเบิร์กด้วยว่า นักวิทยาศาสตร์ไม่คิดว่าสัตว์สี่เท้าจะมีวิวัฒนาการมาจากเวนทาสเทกาตรงๆ แต่เชื่อว่าสัตว์ชนิดนี้ เป็นสาแหรกบรรพบุรุษของเตตราพอดส์มากกว่า โดยเวนทาสเทกาเป็นกิ่งก้าน ที่ปลายไม่แตกแขนงแล้ว และไม่ใช่บรรพบุรุษของสัตว์ที่เรารู้จักในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่สัตว์ดึกดำบรรพ์นี้โลดแล่นอยู่บนโลกนั้นน่าจะมีสัตว์ที่มีพัฒนาการอยู่หลากหลายและมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ดังนั้นการค้นพบเวนสเทกาจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักชีววิทยาทางด้านวิวัฒนาการ
ด้านบีบีซีนิวส์ยังเสนอความเห็นจากนีล ชูบิน (Neil Shubin) ศาสตราจารย์ชีววิทยาและกายวิภาควิทยาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) สหรัฐฯ ที่ระบุว่าแม้เวนทาสเทกาจะเป็นสัตว์ในช่วงส่งผ่านวิวัฒนาการซึ่งเก่าแก่ที่สุด แต่ก็มีสัตว์ที่เก่าแก่และมีวิวัฒนาการที่แปลกกว่านี้ ทั้งนี้เขาไม่ได้ร่วมในการศึกษาครั้งนี้กับ ศ.อาร์ลเบิร์กแต่ได้ร่วมกับค้นหา ทิกทาอะทิก (Tiktaalik) ปลาซึ่งเป็นสัตว์ในวิวัฒนาการขั้นแรก
อย่างไรก็ดี ศ.อาห์ลเบิร์กไม่ได้พบขาหรือนิ้วเท้าของเวนทาสเทกา แต่ก็พอจะสรุปได้ว่าสัตว์ดึกดำบรรพ์นี้มี 4 ขา เนื่องจากส่วนสำคัญของกระดูกเชิงกรานและไหล่มีลักษณะโครงสร้างที่นักวิทยาศาสตร์สรุปได้ว่าเวนสเทกามีแขน-ขาไม่ใช่คลีบ
อีกหนึ่งคำถามที่นักวิทยาศาสตร์พยายามจะหาคำตอบคือเหตุใดปลาจึงเริ่มต้นมีวิวัฒนาการของอวัยวะที่ภายหลังกลายเป็นขา ซึ่งเอ็ดวาร์ด เดเชลอร์ (Edward Daeschler) นักวิทยาศาสตร์ทางด้านสัตว์มีกระดูกสันหลังจากสถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติในฟิลาเดลเฟีย (Academy of Natural Sciences in Philadelphia) สหรัฐฯ ได้ให้ข้อสันนิษฐานว่า เนื่องจากน้ำค่อนข้างตื้น ดังนั้นสัตว์อย่างเวนสเทกาจึงมีวิวัฒนาการให้วิ่งได้แทนความสามารถในการว่ายน้ำ