นักวิจัยเมืองผู้ดีศึกษาใหม่ พบหลักฐานบ่งชี้ไดโนเสาร์มีปีกไม่ได้บินโฉบจับปลาทะเลกินเป็นอาหารอย่างที่คิด แต่กลับเดินตะคุ่มๆ ย่องเงียบ คอยจับเหยื่อบนบกกินเป็นอาหารเหมือนไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดอื่น
วารสารพีแอลโอเอส วัน (Public Library of Science One: PLoS One) ตีพิมพ์ผลการศึกษาฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลานบินได้ในยุคดึกดำบรรพ์ของทีมนักวิจัยอังกฤษ ที่พบว่าสัตว์ดังกล่าวมิได้มีพฤติกรรมบินโฉบเหนือผิวน้ำ เพื่อจับปลาในทะเลกินเป็นอาหาร ทว่ากลับค่อยๆ เดินย่องตะครุบเหยื่อบนบกเหมือนไดโนเสาร์นักล่าตัวอื่นๆ
ข่าวจากไลฟ์ไซน์ด็อตคอมรายงานว่า เทอโรซอร์ (pterosaur ) หรือสัตว์เลื้อยคลานมีปีกในยุคโบราณ ที่ดำรงชีวิตอยู่บนโลกในช่วง 230-65 ล้านปีก่อน ไม่ได้ล่าเหยื่อโดยการบินโฉบอย่างที่คิด แต่พวกมันกลับค่อยๆ เดินย่องเงียบก่อนที่จะเขมือบเหยื่อผู้โชคร้ายต่างหาก
การค้นพบนี้ขัดกับแนวคิดก่อนหน้า ของนักบรรพชีวินที่มักจะเข้าใจว่าพวกเทอโรซอร์เป็นนักล่า ที่หาอาหารโดยการบินโฉบลงมาจับเหยื่อจำพวกปลา ที่แหวกว่ายอยู่ใต้ผิวน้ำตามทะเลหรือทะเลสาบเช่นเดียวกับพฤติกรรมการหาอาหารของนกนางนวลในปัจจุบัน
"ตามทฤษฎีของพวกเรา การบินถือเป็นหลักการเคลื่อนที่ขั้นต้นเท่านั้น ที่พวกมันจะใช้วิธีนี้เพื่อเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง พวกเราคิดว่าการดำรงชีวิตหลักๆ ของพวกมัน ไม่ว่าจะเป็นการหาอาหารหรือการสืบพันธุ์ ย่อมกระทำเมื่ออยู่บนพื้นดิน มากกว่าขณะอยู่ในอากาศแน่นอน" คำชี้แจงของมาร์ค วิตตัน (Mark Witton) จากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ (University of Portsmouth) ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่ศึกษาเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้วิตตันและทีมวิจัยได้ศึกษาพฤติกรรมการหาอาหารของพวกเทอโรซอร์ จากการวิเคราะห์ฟอสซิลของเทอโรซอร์กลุ่มที่ปราศจากฟัน หรือเรียกอีกอย่างว่า อัซห์ดาร์คิด (azhdarchid) ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานมีปีกขนาดใหญ่กว่าเทอโรซอร์ชนิดอื่นๆ โดยที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดหนักถึง 250 กิโลกรัม เมื่อกางปีกออกมีความกว้างราว 10 เมตร และลักษณะความสูงคล้ายกับยีราฟ
ข้อมูลจากไทม์สออนไลน์รายงานว่า ไดโนเสาร์ชนิดนี้เป็นที่รู้จักครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 70 และวิถีการดำรงชีวิตของพวกมัน ก็เป็นหัวข้อที่นักวิทยาศาสตร์นำมาโต้แย้งกันค่อนข้างมาก และชื่ออัซห์ดาร์คิดนี้มาจากภาษาอุซเบกิสถาน ซึ่งหมายถึงมังกร โดยในไซน์เดลียังระบุเพิ่มเติมว่าอัซห์ดาร์คิดนี้มีลักษณะคล้ายกับนกในยุคปัจจุบันบางชนิด คือ นกเงือกและนกกระสา
วิตตันศึกษาตัวอย่างฟอสซิลของอัซห์ดาร์คิดที่พบในประเทศมากกว่า 50% และในเยอรมนีอีกบางส่วน ศึกษาตั้งแต่โครงกระดูกส่วนต่างๆ ตลอดจนช่วงคอ และขาหลัง เปรียบเทียบกับนกในยุคปัจจุบันที่หาอาหารโดยการร่อนเหนือผิวน้ำแล้วจับปลาในทะเลกิน ซึ่งพบว่าไม่สอดคล้องกันเลย
"ข้อมูลทางกายวิภาคประกอบกับสิ่งแวดล้อมบริเวณที่ค้นพบฟอสซิลอัซห์ดาร์คิดเหล่านี้ก็บ่งชี้ว่าพวกมันดำรงชีวิตอยู่และหาอาหารโดยเดินไปเดินมาในบริเวณโดยรอบ ก้มหมอบให้ต่ำลง แล้วตะครุบจับเหยื่อในบริเวณนั้นกินเป็นอาหาร" คำอธิบายของดาร์เรน ไนช์ (Darren Naish) นักวิจัยในทีม
นักวิจัยอธิบายเพิ่มเติมว่า สัตว์ที่จับปลาตามผิวน้ำกินเป็นอาหารอย่างเช่นนกนางนวลจะใช้จงอยปากล่างลากผ่านไปตามผิวน้ำจนกระทั่งกระทบถูกกับปลาหรือกุ้งแล้วจึงคาบขึ้นจากน้ำเพื่อกินเป็นอาหาร ถ้าหากว่าจงอยปากของพวกมันไปกระทบหรือกระแทกถูกสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ แรงกระแทกจากจงอยปากก็จะถูกส่งผ่านไปยังส่วนหัว ลำคอ และภายในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้มันตกลงไปในน้ำได้ ดังนั้นพวกมันจึงต้องมีลำคอที่มีความยืดหยุ่นเป็นอย่างดีเพื่อป้องกันตัวเองเมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว
ทั้งนกนางนวลและนกกระทุงก็มีลำคอที่มีคุณสมบัติเป็นดังว่า แต่ไม่ใช่กับลำคอของอัซฮ์ดาร์คิดที่นักวิจัยศึกษา ซึ่งแม้จะมีความยาวของช่วงลำคอราว 3 เมตร ทว่าแข็งทื่อเป็นอย่างมาก แต่ลำคอที่ยาวขนาดนั้นน่าจะเอื้อให้อัซห์ดาร์คิดเสาะหาสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกว่าที่อยู่บนพื้นดินกินเป็นอาหารได้อย่างไม่ยาก แม้แต่ไดโนเสาร์ขนาดเล็กเท่ากบ
เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้ไดโนเสาร์มีปีกไม่ได้บินหาอาหารเหนือผิวน้ำ นักวิจัยชี้ว่าเพราะมีเท้าขนาดเล็กในขณะที่มีร่างกายขนาดใหญ่ จึงเป็นอุปสรรคต่อการลุยน้ำหรือย่ำในดินโคลนอ่อนนุ่มด้วยเท้าเล็กๆ ที่ต้องแบกรับน้ำหนักตัวกว่า 1 ใน 4 ตัน.