ทีมนักวิทยาศาสตร์สุดตื่นเต้นปนเสียวสยอง เมื่อพบซากฟอสซิลของ "งูยักษ์" ในโคลอมเบีย คาดเป็นงูสายพันธุ์ใหญ่ที่สุดและเลื้อยอยู่บนโลกเมื่อ 60 ล้านปีก่อน มีขนาดใหญ่ยิ่งกว่ารถบัส และสามารถเคี้ยวจระเข้เป็นของว่างได้เลย และน่าสนใจมากว่าโลกดึกดำบรรพ์ร้อนกว่าตอนนี้เยอะ
ข่าวการค้นพบฟอสซิลงูยักษ์สายพันธุ์โบราณบริเวณเหมืองถ่านหินทางตะวันออกเฉียงของประเทศโคลอมเบีย ได้รับความสนใจและตีพิมพ์ในสื่อต่างชาติจำนวนมากทั้งเอพี รอยเตอร์ส และเอเอฟพี ที่ระบุว่าน่าจะเป็นงูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ และผลงานวิจัยซากงูดึกดำบรรพ์นี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารเนเจอร์ (Nature)
จากการค้นพบฟอสซิลส่วนกระดูกสันหลังของงูยักษ์ดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ว่า เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่เมื่อราว 60 ล้านปีที่แล้ว เจ้างูยักษ์ตัวนี้น่าจะมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 1 ตัน และยาวกว่า 13 เมตร โดยที่งูสายพันธุ์นี้น่าจะมีน้ำหนักมากสุดได้ถึง 2 ตัน และยาวได้เต็มที่ 15 เมตร
นักบรรพชีวินวิทยาได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กับงูยักษ์ชนิดนี้ว่า "ไททันโอโบอา แซร์อาโฮนเอนซิส" (Titanoboa cerrejonensis) (อ่านว่า "ty-TAN-o-BO-ah sare-ah-HONE-en-siss") ซึ่งเป็นภาษาลาติน แปลได้ว่า "งูยักษ์จากแซอาโฮน" (titanic boa from Cerrejon) ซึ่งเป็นเมืองที่ค้นพบฟอสซิลดังกล่าวตามที่ระบุในเอพี
เจสัน เฮด (Jason Head) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) ในเมืองมิสซิสซอกา (Missisauga) ประเทศแคนาดา หัวหน้าทีมนักวิจัย เผยว่างูยักษ์ดึกดำบรรพ์นี้มีความใกล้ชิดกับงูเหลือมในยุคปัจจุบัน แต่น่าจะมีพฤติกรรมคล้ายคลึงกับงูอนาคอนดามากกว่า นั่นคือใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในน้ำ และสามารถเลื้อยคลานบนพื้นดินได้อย่างคล่องแคล่ว เหมือนเวลาว่ายอยู่ในน้ำ และน่าจะกินจุมากพอสมควร ซึ่งอาหารของมันอาจรวมถึงปลาขนาดใหญ่และจระเข้ด้วยก็ได้
อย่างไรก็ตาม โจนาธาน บลอช (Jonathan Bloch) นักวิจัยในทีมเดียวกัน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์มีกระดูกสันหลังยุคโบราณ ประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาฟลอริดา (Florida Museum of Natural History) มหาวิทยาลัยฟลอริดา (University of Florida) ให้ข้อมูลกับเอพีว่า ในบรรดางูสปีชีส์ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนั้น นับว่างูหลามหรือไพธอน (python) เป็นงูที่ยาวที่สุดในโลก วัดได้ประมาณ 10 เมตร ส่วนงูอนาคอนดาเขียว (Green anaconda) ที่ครองแชมป์งูที่หนักที่สุดในโลกก็หนักเพียง 250 กิโลกรัมเท่านั้น ดังรายงานในบีบีซีนิวส์
บลอชให้ข้อมูลอีกว่า ทีมวิจัยค้นพบฟอสซิลงูยักษ์นี้จากเหมืองถ่านหินในเมืองแซอาโฮนตั้งแต่เมื่อต้นปี 2550 โดยพบแกนกระดูกสันหลังทั้งหมดประมาณ 180 ชิ้น คาดว่าน่าจะเป็นของงูยักษ์ร่วม 12 ตัว ซึ่งขณะนี้ทีมวิจัยก็ยังหวังว่าจะขุดค้นพบฟอสซิลส่วนกระโหลกได้ในเร็ววัน
"การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไททันโอโบอา สร้างความท้าทายให้กับพวกเราในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศในอดีตของบริเวณนั้นเป็นอย่างยิ่ง และอาจเป็นสิ่งแวดล้อมที่จำกัดสำหรับการวิวัฒนาการของงูยักษ์ชนิดนี้ และฟอสซิลของมันยังให้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับแผ่นดินบริเวณนั้นในประวัติศาสตร์" เฮด กล่าวในเอเอฟพี
จากการวิเคราะห์ซากดึกดำบรรพ์และคำนวณด้วยเครื่องมือต่างๆ นักวิจัยประมาณการณ์ได้ว่าบริเวณเหมืองถ่านหินที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของไททันโอโบอาเมื่อราว 60 ล้านปีก่อน ซึ่งอยู่ในยุคที่เรียกว่า พาลีโอซีน (Palaeocene) มีสภาพเป็นป่าดิบเขตร้อน มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 30-34 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของป่าฝนเขตร้อนใดๆในยุคปัจจุบันราว 3-4 องศาเซลเซียส และสอดคล้องกับสภาพอากาศในยุคพาลีโอซีนที่คาดว่ามีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศปริมาณมาก
ข้อมูลดังกล่าวบอกเป็นนัยว่า หากในอนาคตภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิบริเวณพื้นผิวโลกสูงขึ้นประมาณ 1.8-4 องศาเซลเซียส ในอีกราว 100 ปีข้างหน้า ตามที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าสิ่งมีชีวิตจำนวนมากอาจได้รับผลกระทบหรือถูกทำลายไป แต่ป่าเขตร้อนก็อาจจะยังคงสามารถดำรงอยู่ได้เช่นเดียวกับเมื่อ 60 ล้านปีก่อน